โชว์ตัวแดง37ล.!ถุงเงิน'คลื่นซี้ด' ก่อน 'อสมท' เลิกกิจการ-หนีตายขาดทุนสิ้นปี 700ล.
"..สำหรับแนวทางการลดปัญหาขาดทุน เพื่อความอยู่รอดในช่วง 1-2 ปี นี้ นั้น อสมท กำหนดทิศทางว่า จะดำเนินธุรกิจแบบ 360 องศา กล่าวคือ รายการใดที่ทำแล้วขาดทุน ให้ยกเลิกทันที เน้นเพิ่มรายการหรือต่อยอดส่วนที่สามารถสร้างรายได้ เช่น ข่าว และไนน์เอ็นเตอร์เทนต์ เพื่อแข่งขันกับสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น และต้องเลิกคิดรายการที่ผูกติดกับเรตติ้งมากเกินไป .."
เล่นเอาบรรดาแฟนคลับ 'คลื่นซี้ด' เกิดอาการช็อกไปตามๆ กัน เมื่อ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ออกประกาศแจ้งยกเลิกกิจการ บริษัท ซี้ดเอ็มคอท จำกัด ที่บริหารคลื่นวิทยุ FM 97.5 MHz โดยระบุว่า ประสบปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจจากการลดลงของรายได้ต่อเนื่อง เป็นผลจากพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไปจากเดิม แตกต่างจากสถานีวิทยุที่ บมจ.อสมท ดำเนินการเองที่ยังสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง จึงพิจารณาเห็นว่าบริษัทดังกล่าวไม่มีศักยภาพเพียงพอในการดำเนินกิจการต่อไปได้ และจะนำคลื่นวิทยุ FM 97.5 MHz มาบริหารเอง (อ้างอิงข้อมูลข่าวส่วนนี้จาก MGR Online)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูล บริษัท ซี้ดเอ็มคอท จำกัด พบว่า จดทะเบียนจัดตั้งเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2552 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท
ตั้งอยู่เลขที่ 63/1 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจด้านการบันเทิงทุกประเภทและให้คำปรึกษา เช่น จัดคอนเสิร์ต
ปรากฎชื่อ นายธีรภัทร์ สัจจกุล (ตุ้ย-ธีรภัทร์) นางสาวบุษราภรณ์ วัตถุ นายศิวะพร ชมสุวรรณ นายสุนทร อารีรักษ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 18 เมษายน 2559 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุด 490,000 หุ้น มูลค่า 49,000,000 บาท นาย ธีรภัทร์ สัจจกุล ถืออยู่ 250,000 หุ้น มูลค่า 25,000,000 บาท บริษัท ทัชชิ่ง เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ถืออยู่ 240,000 หุ้น มูลค่า 24,000,000 บาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน บมจ.อสมท ถืออยู่ 20,000 หุ้น มูลค่า 2,000,000 บาท
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 84,613,224 บาท มีรายจ่าย121,908,778 บาท ขาดทุน 37,180,678 บาท
ทั้งนี้ ผลประกอบการขาดทุน ของ บริษัทฯ เริ่มปรากฎให้เห็นในงบการเงินปี 2557 โดยแจ้งว่า มีรายได้รวม 102,529,558 บาท รวมรายจ่าย 135,947,099 บาท ขาดทุนสุทธิ 33,340,661 บาท
ขณะที่ในปี 2556 ผลประกอบการยังมีกำไรอยู่ โดยแจ้งว่ามีรายได้รวม 161,641,257 บาท รวมรายจ่าย 136,109,508 บาท กำไร 20,474,350 บาท
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งผลประกอบการในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ขาดทุน 252,113,000 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า มีกำไร 55,392,000 บาท
ขณะที่ยอดรวมงบช่วง 9 เดือน ของปี 2559 แจ้งตัวเลขว่าขาดทุน 463,298,000 บาท เทียบกับช่วงปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า มีกำไร 100,610 ,000 บาท
ชี้ให้เห็นว่า ประสบปัญหาขาดทุนทางธุรกิจอย่างหนัก
หากเปรียบเทียบรายได้ ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา จะพบว่า มีตัวเลขรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดย ปี 2555 แจ้งตัวเลข 5,947.45 ล้านบาท ปี 2556 แจ้งตัวเลข 5,984.77 ล้านบาท ปี 2557 แจ้งตัวเลข 4,455.38 ล้านบาท ปี 2558 แจ้งตัวเลข 3,840.19 ล้านบาท และล่าสุดช่วงไตรมาส 3 ของปี 2559 แจ้งตัวเลข 2,212.43 ล้านบาท
เช่นเดียวกับกำไรของบริษัทฯ ที่มีตัวเลขลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
โดยปี 2555 แจ้งตัวเลข 1,758.87 ล้านบาท ปี 2556 แจ้งตัวเลข 1,526.93 ล้านบาท ปี 2557 แจ้งตัวเลข 503.79 ล้านบาท ปี2558 แจ้งตัวเลข 57.81 ล้านบาท และล่าสุดช่วงไตรมาส 3 ของปี 2559 แจ้งตัวเลขขาดทุน 463.30 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้รับแจ้งข้อมูลสถานการณ์ทางการเงินล่าสุดจาก อสมท
โดยมีการยืนยันข้อมูล ว่า ผลประกอบการในช่วงปี 2559 นี้ ตัวเลขขาดทุนน่าจะอยู่ที่ 700 ล้านบาท ส่วนเงินสดในมือขณะนี้มีอยู่ประมาณ 1,900 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ให้กสทช.ประมาณปีละ 700 ล้านบาท
เบื้องต้น สคร. ได้ให้ อสมท กลับไปทบทวนตัวเลขใหม่ พร้อมให้ไปแนวทางที่ทำให้ตัวเลขผลประกอบการในช่วงปลายปี ออกมาในลักษณะ ถ้าไม่มีกำไรก็ต้องไม่ขาดทุน
ส่วนเงินสดในมือของอสมท นั้น สคร. ส่งสัญญาณชัดเจนไปแล้วว่า ไม่ให้กู้เงินและไม่ให้เพิ่มทุน ซึ่งขณะนี้ฝ่ายบริหาร อสมท กำลังพิจารณาแนวทางต่างๆ อยู่ แต่ยังไม่มีแนวทางปรับลดพนักงานที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 1,500 คนลงแต่อย่างใด
สำหรับแนวทางการลดปัญหาขาดทุน เพื่อความอยู่รอดในช่วง 1-2 ปี นี้ นั้น อสมท กำหนดทิศทางว่า จะดำเนินธุรกิจแบบ 360 องศา กล่าวคือ รายการใดที่ทำแล้วขาดทุน ให้ยกเลิกทันที เน้นเพิ่มรายการหรือต่อยอดส่วนที่สามารถสร้างรายได้ เช่น ข่าว และไนน์เอ็นเตอร์เทนต์ เพื่อแข่งขันกับสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น และต้องเลิกคิดรายการที่ผูกติดกับเรตติ้งมากเกินไป
(อ่านประกอบ : คาดสิ้นปีขาดทุน700ล.!ล้วงรายได้ อสมท รื้อโครงสร้างทั้งระบบ-สู้วิกฤตสื่อดิจิทัล)
ดังนั้น เมื่อนโยบายออกมาชัดเจนแบบนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่ในอนาคตต่อจากนี้ อาจจะมีบริษัท หรือรายการอื่น ที่ถูก อสมท สั่งยกเลิกเพิ่มเติมนอกเหนือจาก 'คลื่นซี้ด' ที่โดนไปแล้ว
หมายเหตุ ภาพประกอบจาก Manager Online
อ่านประกอบ :
สิ่งพิมพ์เข้าขั้นวิกฤตแท้จริง!5ค่ายสื่อโชว์ตัวเลขไตรมาส3 ขาดทุนพรึบต่อเนื่อง
สำรวจ 'ทางเลือก-ทางรอด' ค่ายสื่อ ยุควิกฤตศก.พ่นพิษ! นักวิชาการชี้รุนแรงกว่า 'ต้มยำกุ้ง'
วิกฤต ศก.สื่อพ่นพิษ! เครือมติชน-เนชั่น เออรี่รีไทร์พนง.-ชดเชยสูงสุด12-17เดือน
เจาะงบการเงิน นสพ.ปี 58-59สื่อใหญ่พาเหรด กำไรหด-ขาดทุนพุ่ง!
เจาะงบดุล"นสพ."ยุคภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน รายได้ลดขาดทุนยับ "ข่าวสืบสวน" ช่วยได้!
สิ่งพิมพ์เข้าขั้นวิกฤตแท้จริง!5ค่ายสื่อโชว์ตัวเลขไตรมาส3 ขาดทุนพรึบต่อเนื่อง