ประกันน้ำท่วม+ราคา ก่อนรากหญ้าทิ้งนา
นิคมอุตสาหกรรมให้ทันเดือนสิงหาคม
ถ้าปีนี้น้ำมามากเหมือนปีที่แล้ว ชาวบ้าน ชาวนา ชาวสวน ไม่มีปัญญาสร้างเขื่อนกัน พื้นที่บ้านไร่นาสวนคงจะจมมิดหายหนักกว่าเดิม...เป็นความกังวลของชาวบ้านไม่มีเส้นทั่วไป
“ปัญหาสำคัญอันดับแรก เราจะทำยังไงให้เกษตรกรมีความเชื่อมั่นในอาชีพของตัวเองต่อไป เพราะถ้าเกษตรกรรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพ ทำไปก็เจอปัญหาเหมือนเดิม
เกษตรกรเกิดท้อถอย ไม่มีกำลังใจสู้ความมั่นคงของประเทศในเรื่องเกษตร เรื่องอาหาร จะมีปัญหาในอนาคตได้”
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มองปัญหายาวไกลไปถึงผลกระทบของภัยพิบัติจากธรรมชาติที่เปลี่ยนไป
ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือการเยียวยา ให้กำลังใจเกษตรกรว่า ลงมือทำการผลิตไปแล้ว เกิดความเสียหายขึ้นมา ภาครัฐจะไม่ทอดทิ้ง รัฐยังคงให้ความช่วยเหลือเกษตร ไม่ให้เกษตรกรรู้สึกโดดเดี่ยว เพื่อจะได้มีกำลังใจที่จะผลิตอาหารเลี้ยงคนไทย และพลเมืองโลกต่อไป
“น้ำท่วมที่ผ่านมา เราได้มีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้า พักหนี้ 3 ปี ให้กับเกษตรกร โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยค่าดอกเบี้ยเท่าต้นทุนเงินให้กับธนาคาร ส่วนชาวนาที่ได้รับความเสียหาย น้ำท่วมนาเกี่ยวข้าวหนีน้ำไม่ทัน ไม่มีข้าวไปเข้าโครงการรับจำนำ
เราได้นำหลักการของโครงการประกันราคาที่เกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนมาใช้เยียวยา ชดเชยให้ตันละ 1,437 บาท มีเกษตรกรได้รับไปแล้ว 361,000 ราย คิดเป็นเงิน 7,022 ล้านบาท นอกจากนั้นยังจะมีโครงการให้สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูอาชีพหมุนเวียน ซ่อมแซมเครื่องจักรกลที่โดนน้ำเสียหาย และสินเชื่อโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกด้วย
สำหรับเกษตรกรยึดอาชีพปลูกพืชสวนไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และใช้ระยะเวลาหลายปีกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เราได้เตรียมที่จะทำโครงการให้สินเชื่อเป็นกรณีพิเศษอีกต่างหาก
แต่นั่นผู้จัดการ ธ.ก.ส. มองว่าเป็นแค่การเยียวยาฟื้นฟูจิตใจเฉพาะหน้าให้กับเกษตรกรเท่านั้น...ไม่สามารถสร้างความมั่นอกมั่นใจให้เกษตรกรอยู่กับอาชีพนี้ได้ยาวนานสักเท่าใด
เยียวยาได้เฉพาะกิจ ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นเอง
จะให้ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งผลิตอาหารได้มั่นคงต่อไป...ต้องทำอะไรที่มากกว่านั้น
เกษตรกรจะมีกำลังใจยึดอาชีพนี้ต่อไป นายลักษณ์ เสนอว่า รัฐควรมีนโยบายสร้างหลักประกันความมั่นอกมั่นใจให้กับเกษตรใน 2 ด้าน
ด้านแรก...ให้ความคุ้มครองด้านราคาผลผลิต
เกษตรกรปลูกพืชทำการผลิตแล้ว ต้องขายได้ราคา มีกำไร
“ที่ผ่านมาแม้จะมีโครงการทั้งประกันราคาและรับจำนำ ธ.ก.ส. มักจะถูกกรรมาธิการงบประมาณซักถามต้องการคำตอบที่แน่ชัดว่าประกันราคากับจำนำ อย่างไหนดีกว่ากัน ในฐานะที่เราเป็นผู้ปฏิบัติพูดไม่ได้ว่าอย่างไหนจะดีกว่ากัน เพราะทั้ง 2 โครงการมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ถ้าจะสร้างหลักประกันคุ้มครองราคาสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร รัฐควรมีแนวนโยบายของชาติที่ชัดเจนว่า จะทำวิธีไหน ในฐานะของผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เห็นว่าหนทางที่ดีที่สุดควรจะใช้ 2 วิธีควบคู่กัน ใช้ทั้งประกันราคา และรับจำนำควบคู่กันไป
ในภาวะปกติใช้การประกันราคา โดยกำหนดราคาประกันให้เกษตรกรมีรายได้ มีกำไรอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ข้าวที่ปลูกในภาคอีสาน พึ่งพาแต่น้ำฝน ปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ราคาประกันควรอยู่ที่ต้นทุน+กำไร 40%
ข้าวที่ปลูกในพื้นที่ชลประทาน น้ำถึงปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง ราคาประกันควรอยู่ที่ต้นทุน+กำไร 25% ให้กำไรน้อยกว่าเพราะนอกจากปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง ผลผลิตต่อไร่ยังสูงกว่า
พื้นที่ชลประทาน ข้าว 1 ไร่ได้ผลผลิต 800-1,000 กก. ในขณะที่ข้าวนาน้ำฝน 1 ไร่ ได้ผลผลิตแค่ 400-450 กก. เท่านั้นเอง จึงจำเป็นให้เกษตรกรนาน้ำฝนได้กำไรมากกว่า
“ส่วนโครงการรับจำนำเหมาะที่จะนำมาใช้ในช่วงผลผลิตข้าวออกมามาก และชาวนาถูกโรงสีรวมหัวกันรังแก กดราคารับซื้อ ถึงโครงการประกันราคา รัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างให้ แต่เมื่อรวมกับราคาที่โรงสีรับซื้อ ชาวนาแทบไม่มีกำไร ฉะนั้นรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยแทรกแซงเพื่อไม่ให้ชาวนาถูกเอาเปรียบ”
แต่การรับจำนำจะต้องไม่เป็นการตั้งราคาที่สูงมากจนเกินไป ควรรับจำนำแค่ 70-80% ของราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อเมื่อราคาข้าวสูงขึ้นเกษตรกรจะได้มาไถ่ถอน จะได้ไม่เป็นภาระในการจัดเก็บกับภาครัฐมาก
ไม่ใช่ตั้งราคารับจำนำไว้สูงเกิน...จนเกิดปัญหาหลายอย่างตามมา รวมทั้งการทุจริต
ด้านที่สอง...รับมือกับภัยพิบัติจากธรรมชาติ รัฐควรมีระบบประกันภัยพืชผลให้เกษตรกร
“สหรัฐอเมริกามีการออกกฎหมายตั้งบรรษัทประกันพืชผลแห่งชาติ (FCIC) รับประกันภัยจากธรรมชาติให้กับพืชผลเกือบทุกชนิด โดยรัฐบาลจ่ายเบี้ยประกันให้ 60% เกษตรกรจ่ายเอง 40%
เกิดภัยธรรมชาติประกันจะจ่ายให้เท่าต้นทุน แต่ถ้าอยากให้ประกันจ่ายมากกว่านั้น ถึงขั้นรวมกำไรด้วยเกษตรกรต้องควักเงินซื้อประกันเพิ่มเอง
ส่วนญี่ปุ่นมีการตั้งกองทุกร่วมบรรเทาความเสียหายทางด้านเกษตร รัฐบาลจ่ายเบี้ยประกันให้หมด แต่ถ้าเกิดภัยธรรมชาติประกันจะจ่ายให้เท่าต้นทุนในการเพาะปลูกเท่านั้น”
สำหรับบ้านเรายังเป็นเพียงแค่การเริ่มทดลองของธ.ก.ส.เท่านั้นเอง...ยังไม่มีนโยบายที่จะทำในระดับชาติ
ถ้ารัฐสามารถทำประกันทั้งสองด้าน...ประกันราคา ประกันภัยธรรมชาติได้ ผู้จัดการธ.ก.ส.เชื่อว่า จะช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพมากขึ้น และจะได้มีพลังใจทำอาชีพนี้อย่างยั่งยืน
“เราต้องให้ความสำคัญกับเกษตรกรในการผลิตอาหารมากกว่าเดิม เพราะถ้าไม่ดูแลให้ดี บ้านเราจะเกิดปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกอาหารเลี้ยงคนไทย กำลังจะลดน้อยลงไปทุกวัน ทั้งจากธุรกิจพัฒนาที่ดิน เพื่ออยู่อาศัย โรงงาน พาณิชย์ นิคมอุตสาหกรรม แล้วไหนยังจะมีพืชพลังงานทดแทนเข้ามาแย่งพื้นที่มากเข้าไปอีก”
ยิ่งอีก 4 ปีข้างหน้าอาเซียนจะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียว เปิดเสรีการค้าแข่งขันเต็มตัว ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเตรียมความพร้อม ความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไว้ล่วงหน้า
“ต่อไปพื้นที่ไหนควรจะปลูกพืชอะไรต้องเตรียมตัวไว้ให้ดี พื้นที่ภาคอีสานพึ่งพาแต่น้ำฝน ปลูกข้าวได้ผลผลิตน้อย ควรเน้นให้ปลูกพืชอินทรีย์ เช่น ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ที่ได้ราคาสูงเพราะต่างชาติต้องการนำไปแปรรูปไปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ นำไปผลิตเป็นเครื่องสำอาง
พื้นที่ภาคกลางมีระบบชลประทานสมบูรณ์ ผลผลิตต่อไร่สูง ส่งเสริมไปเลยปลูกข้าวขายแข่งกับต่างประเทศ ใช้เทคโนโลยีเพิ่มเข้าไปเพื่อให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าเดิม เพื่อจะแข่งกับชาติอื่นเขาได้”.