ขยาย Long Stay Visa จากเดิม 1 ปี เป็น 10 ปี ใน 14 ประเทศ
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการออกประกาศหรือปรับปรุงกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า
1. ปัจจุบันพบว่าชาวต่างชาติผู้สูงอายุนิยมเดินทางเข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยขอรับรองการตรวจลงตราแบบ Non-Immigrant Visa รหัส O-A (Long Stay) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) มีข้อมูลว่าในปี 2557 จำนวนชาวต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติให้อยู่ต่อในราชอาณาจักรไทย 15 อันดับแรก ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นอร์เวย์ จีน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ อินเดีย อิตาลี แคนาดา และไต้หวัน ซึ่งชาวต่างชาติกลุ่มนี้เป็นกลุ่มมีศักยภาพ และนิยมพำนักอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ชลบุรี และจังหวัดแถบชายทะเลที่มีชื่อเสียง
2. สธ. และ กก. ได้มีมติร่วมกันในที่ประชุมคณะกรรมการการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้าน Medical and Wellness Tourism ครั้งที่ 5/2559 ที่จะขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) จากเดิม 1 ปี เป็น 10 ปี โดยให้ดำเนินการใน 14 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ อิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น แคนาดา โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา สรุปได้ดังนี้
1) อายุผู้สมัคร เป็นชาวต่างชาติที่มีอายุ 50 ปีที่ยื่นขอวีซ่าประเภทชั่วคราว (Non-immigrant) รหัส O-A (Long Stay) จากสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ หรือชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ไทยด้วยวีซ่าประเภทอื่นและเมื่อพำนักอยู่ระยะหนึ่งมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนประเภทการขอรับการตรวจลงตราเป็นแบบพำนักระยะยาว และอนุญาตให้พำนักในไทย ครั้งที่ 1 ไม่เกิน 5 ปี ในลักษณะ Multiple Entry และสามารถต่ออายุได้ ครั้งที่ 2 ต่ออายุให้พำนักในไทยได้ไม่เกิน 5 ปี ในลักษณะ Multiple Entry
2) ค่าธรรมเนียม 10,000 บาท
3) บัญชีเงินฝากหรือรายได้ ต้องมีเงินฝากในบัญชี 3 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีรายได้ต่อเดือน 100,000 บาทขึ้นไป โดยการต่ออายุ ครั้งที่ 2 จะต้องแสดงจำนวนเงินฝากในบัญชีหรือรายได้ต่อเดือนเท่าเดิมกับตอนยื่นเอกสารในครั้งที่ 1 และต้องคงบัญชีเงินฝากตามที่แสดงไว้ในธนาคารตามกฎหมายของไทยเป็นระยะเวลา อย่างน้อย 1 ปี นับจากวันที่ได้รับการตรวจลงตรา หลังจากนั้นจึงจะถอนเงินได้ไม่เกิน ร้อยละ 50 พร้อมแสดงหลักฐานการถอนเงินเพื่อใช้จ่ายในไทยเท่านั้น เช่น รักษาค่าพยาบาล ซื้อคอนโดมิเนียม ยานพาหนะ และการศึกษาบุตร
4) เอกสารรับรองสุขภาพ ต้องมีการแสดงเอกสารการประกันสุขภาพ (Medical Insurance) ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี ซึ่งมีวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในกรณีผู้ป่วยนอกไม่ต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ และในกรณีผู้ป่วยในไม่ต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 กรมธรรม์ ต่อ 1 ปี
5) การรายงานตัว ทุก 90 วัน ผ่านช่องทางที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด
6) สิทธิพิเศษอื่น ๆ สามารถนำคู่สมรสตามกฎหมายมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มาขอ Long Stay Visa ได้ โดยยื่นเอกสารเงินฝากในประเทศและรายได้ต่อเดือนแยกกัน หากคู่สมรสมีอายุไม่ถึง 50 ปี ให้ใช้วีซ่าประเภท non-immigrant รหัส O และบุตรตามกฎหมายอายุไม่เกิน 21 ปี สามารถติดตามครอบครัวมาศึกษาในประเทศไทยได้ โดยใช้วีซ่าประเภท non-immigrant รหัส ED รวมทั้งสามารถซื้อยานพาหนะ คอนโดมิเนียมในไทย (การซื้อขายคอนโดมิเนียมจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522) โดยเงินที่จะนำมาซื้อคอนโดมิเนียมจะต้องเป็นเงินตราต่างประเทศที่โอนมายังธนาคารไทยและธนาคารได้ออกหนังสือรับรองการเงินให้ และทำงานในลักษณะของจิตอาสาโดยไม่หวังผลตอบแทนได้ ซึ่งจะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว