ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 69 จังหวัด สำหรับปี 2560
วันที่ 22 พ.ย. 59 ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง เกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 69 จังหวัด สำหรับปี 2560 ซึ่งนับเป็นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท ทุกจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556
สำหรับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดนครปฐม ได้ปรับเพิ่มสูงสุด 10 บาท รวมเป็น 310 บาท
ส่วนใน 13 จังหวัดที่เป็นจังหวัดหลักด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เช่น จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ จะเพิ่มขึ้น 8 บาท รวมเป็น 308 บาท
ขณะที่ในส่วนจังหวัดที่เหลือ 49 จังหวัด เพิ่ม 5 บาท รวมเป็น 305 บาท แต่มี 8 จังหวัด ที่ไม่ได้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ จังหวัดชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ระนอง และสิงห์บุรี เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้มีโรงงานจำนวนไม่มากและไม่ได้มีการเสนอขอปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว
ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าวโดยเฉลี่ยจะทำให้ค่าจ้างแรงงานของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 1.7% โดยใน 8 จังหวัดปริมณฑลและกรุงเทพมหานครจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3.3% ซึ่งเป็นการพิจารณาจากดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ผลิตผลแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ GDP ภาวะเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละจังหวัด รวมทั้งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้แรงงานทั่วประเทศไทยได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นและสามารถที่จะดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม และมีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ไม่ต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับขึ้นของราคาสินค้าต่าง ๆ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลเรื่องดังกล่าวด้วย เพราะต้องการให้เป็นการปรับขึ้นรายได้ของทุกคนเพื่อให้ทุกคนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ดีขึ้น