เวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่มเผย 8 ทักษะ ‘ความฉลาดทางดิจิตอล’ จำเป็นต่อการเรียนรู้ของเยาวชน
ต้อนรับวัน ‘ประถมศึกษาแห่งชาติ’เวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่มเผย 8 ทักษะ ‘ความฉลาดทางดิจิตอล’ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนในศตวรรษที่ 21 นักวิชาการแนะพาเด็กออกสู่โลกความเป็นจริง เลี่ยงภาวะ “เด็กเสมือน”
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาประถมศึกษา กล่าวว่า ทุกวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น ‘วันประถมศึกษาแห่งชาติ’ โดยเฉพาะคุณครูต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการเรียนรู้ร่วมกับเด็ก ดังนี้
1) หลักสูตรต้องลดเนื้อหา และต้องผสมผสานทักษะในยุคดิจิตอลเข้ากับทักษะอื่นๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เท่าทันยุคสมัย
2) พ่อแม่และครูต้องปรับตัวเองจาก “ผู้สอน” เป็น “กระบวนกร” เชื่อมโยงโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือน และพาเด็กเรียนรู้โลกทั้งสองแบบควบคู่กันไป มิฉะนั้นเด็กจะกลายเป็น “เด็กเสมือน” ไม่ใช่ “เด็กในโลกแห่งความจริง”
และ 3) ปรับมายาคติในเรื่องการสอน: เปลี่ยนเด็กให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยเฉพาะครูผู้สอนในระดับประถมศึกษาที่มักถูกมองว่า ต้องอัดข้อมูลให้ผู้เรียนมากที่สุด เพราะฉะนั้นครูประถมต้องก้าวให้พ้นมายาคติเก่า รู้เท่าทันสื่อให้มาก เพื่อออกแบบกิจกรรม โครงงานวิจัยต่างๆ ที่สนับสนุนให้เด็กประถมรู้จักและเข้าใจตัวเอง สามารถก้าวสู่การเป็นพลเมืองในศตวรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเวิล์ดอิโคโนมิคฟอรั่ม ยังระบุถึงทักษะที่เด็กเยาวชนยุคใหม่ควรเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นพลเมืองในยุคดิจิตอลว่าต้องประกอบด้วย 8 ทักษะ ดังนี้
1) ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง (Digital Citizen Identity): ความสามารถในการสร้างและบริหารจัดการอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองไว้ได้อย่างดีทั้งในโลกออนไลน์และโลกความจริง
2) ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management): ความสามารถในการบริหารเวลาที่ใช้อุปกรณ์ยุคดิจิตอล และสามารถการทำงานที่หลากหลายในเวลาเดียวกันได้
3) ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์ (Cyberbullying Management): ความสามารถในการรับรู้ และรับมือการคุกคามข่มขู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างชาญฉลาด
4) ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ (Cybersecurity Management): ความสามารถในการป้องกันข้อมูลด้วยการสร้างระบบความปลอดภัยที่เข้มแข็ง และป้องกันการโจรกรรมข้อมูลหรือการโจมตีออนไลน์ได้
5) ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management): มีดุลพินิจในการบริหารจัดการข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลออนไลน์เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวทั้งของตนเองและผู้อื่น
6) ทักษะการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking): ความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ผิด ข้อมูลที่มีเนื้อหาดีและข้อมูลที่เข้าข่ายอันตราย ข้อมูลติดต่อออนไลน์ที่น่าตั้งข้อสงสัยและน่าเชื่อถือได้
7) ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานมีการทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints): ความสามารถในการเข้าใจธรรมชาติของการใช้ชีวิตในโลกดิจิตอลว่าจะหลงเหลือร่อยรอยข้อมูลทิ้งไว้เสมอ รวมไปถึงเข้าใจผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการดูแลสิ่งเหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบ
และ 8) ทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy): ความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นบนโลกออนไลน์