เปิดเหตุผล กสทช.แจงคณะทำงานฯสอบ‘แจส’ไฉนประมูล 4G โปร่งใส?
“…กฎการประมูลออกแบบมาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประมูลไม่สามารถรู้สถานการณ์ของผู้เข้าร่วมการประมูลรายอื่นได้ สามารถทำได้เพียงเสนอราคาสู้ตามวงเงินที่แต่ละบริษัท ซึ่งเมื่อเข้าห้องประชุมไปแล้ว ผู้เข้าร่วมการประมูลจะไม่สามารถรับรู้อะไรได้อีก…”
หลายคนคงทราบไปแล้วว่า ในวงประชุมครั้งที่ 1 และ 2 ของคณะทำงานพิจารณาความรับผิดชอบกรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มีการหารือถึงประเด็นพฤติกรรมการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ว่า มีความผิดปกติ หรือความไม่ชอบมาพากลประการใดหรือไม่
โดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกตของตัวแทนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในคณะทำงานฯ ที่พูดถึงเรื่องการวางแผนธุรกิจ 4G ของบริษัท แจส โมบายฯ แต่ท้ายสุด ‘ล้มเหลว’ เป็นการวางแผนแบบ ‘มักง่าย’ และตั้งใจเข้ามาประมูลจริงหรือไม่ ซึ่งพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องชี้แจงโดยทันทีว่าแผนธุรกิจ 4G ไม่สามารถวัดในการเข้ามาประมูลได้
(อ่านประกอบ : ล้วงเบื้องหลังวงประชุมคณะทำงานฯสอบ‘แจส’ไฉนประมูล 4G ไม่ผิดปกติ (1), ล้วงเบื้องหลังวงประชุมคณะทำงานฯสอบ‘แจส’ไฉนประมูล 4G ไม่ผิดปกติ (2))
ในตอนนี้ มาดูกันว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้คณะทำงานฯ ‘เชื่อ’ ว่า บริษัท แจส โมบายฯ มีพฤติกรรมการประมูล 4G ที่โปร่งใส และทำให้การประชุมของคณะทำงานฯในครั้งต่อ ๆ ไป แทบไม่มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้อีก ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงเนื้อหาในวงประชุมดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ตัวแทนสำนักงาน ก.ล.ต. แสดงความเห็นว่า หากดูพฤติกรรมการเสนอราคาในการประมูลในช่วงหลังของ TRUE และ AIS เมื่อสองบริษัทได้เป็นผู้ชนะชั่วคราว ในรอบต่อไปจะเป็นการยืนราคาเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นตลอดเหมือนกรณีของบริษัท แจส โมบายฯ
ขอสอบถามเพิ่มเติมว่า ราคาประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 2 ชุด ในรอบเดียวกันจะมีราคาที่เท่ากันหรือไม่ อย่างไร
พนักงานของสำนักงาน กสทช. ชี้แจงว่า ราคาประมูลแต่ละชุดคลื่นความถี่แต่ละรอบ จะไม่เท่ากัน โดยขึ้นอยู่กับการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรอบ แต่ละชุดคลื่นความถี่ นอกจากนี้ กราฟที่ผู้เข้าร่วมการประมูลเห็นนั้น แสดงให้เห็นว่า ในรอบการประมูลแต่ละครั้ง มีผู้ประมูลกี่ราย ไม่ว่าจะเป็นการประมูลใหม่ หรือการเคาะราคาเพิ่ม
ซึ่งจากการพิจารณา พฤติกรรมการเคาระราคาการประมูลทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่า ยังมีผู้เข้าร่วมการประมูลรายอื่นมาเสนอราคาประมูลในคลื่นความถี่ชุดที่ 1 อยู่ จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัท ได้มีการเสนอราคาประมูลเพิ่มขึ้นตลอด เพราะจากการประมูลในรอบคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz คงแสดงให้เห็นว่า เมื่อราคาสูงขึ้นไปจุดหนึ่ง ผู้เข้าร่วมการประมูลจะย้ายมาเสนอราคาในชุมคลื่นความถี่ที่มีราคาต่ำกว่า อีกทั้งยังเป็นการรักษาสถานภาพของตนเองในการเป็นผู้ชนะชั่วคราวด้วย
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. สายงานโทรคมนาคม หนึ่งในคณะทำงานฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีที่ราคาคลื่นความถี่ในชุดที่ 2 สูงกว่าคลื่นความถี่ในชุดที่ 1 นั้น เนื่องมาจากคลื่นความถี่เดิมที่ AIS ได้สัมปทานไป มีแถบความกว้าง 17.5 MHz ซึ่งตอนที่จะนำคลื่นดังกล่าวออกมาประมูล มีการแบ่งช่วงคลื่นเป็น 10.5 MHz กับ 7 MHz แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นระบบดิจิตอล Guard Band จึงไม่มีความจำเป็น ด้วยเหตุนี้ กสทช. 0งนำคลื่นความถี่ในช่วงนั้นจำนวน 2.5 MHz มารวมประมูลด้วย
แต่ในคลื่นความถี่ชุดที่ 1 นั้น เนื่องจากเป็นช่วงคลื่นความถี่ที่ใกล้กับคลื่นความถี่ที่ DTAC ใช้อยู่ จึงทำให้ต้องมีตัวกรองสัญญาณไม่ให้เกิดการรบกวน จึงทำให้มูลค่าคลื่นความถี่ในชุดที่ 1 มีมูลค่าต่ำกว่า เนื่องจากผู้ที่ประมูลได้ไปจะต้องมีการลงทุนเพิ่มในส่วนนี้ ซึ่งจะมีต้นทุนประมาณ 2-3 พันล้านบาท ทั้งหมดนี้จะเป็นเหตุผลทางวิศวกรรมที่สะท้อนกลับมาเป็นความแตกต่างกันของราคาประมูลแต่ละชุดคลื่นความถี่
ตัวแทนสำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า จากที่ฟังสำนักงาน กสทช. ชี้แจง เข้าใจได้ว่า ในการเสนอราคาประมูลคงเป็นเรื่องการตัดสินใจของแต่ละบริษัท ซึ่งหากผู้เข้าร่วมการประมูลต้องการประมูลในราคาที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะสามารถประมูลได้ ก็สามารถที่จะรอดูสถานการณ์ได้ ไม่จำเป็นต้องมีการเสนอราคาประมูลเพิ่มขึ้นตลอด
พนักงานของสำนักงาน กสทช. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การที่ผู้เข้าร่วมการประมูลเห็นกราฟที่โชว์นั้น ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่ามีผู้เข้าร่วมการประมูลรายอื่นออกไปจากการประมูลไปแล้วหรือไม่ อย่างไร อาจเป็นการใช้ Waiver (การสละสิทธิ์) ก็ได้ สามารถเป็นไปได้หลายรูปแบบต้องคาดการณ์เอง และตามกฎการประมูล เมื่อผู้เข้าร่วมการประมูลรายใดมีสถานะเป็นผู้ชนะชั่วคราวแล้ว จะไปเสนอราคาอีกชุดคลื่นความถี่ไม่ได้ ทำได้เพียงยืนราคาเดิม หรือเสนอราคาเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยตัวเลขที่แสดงในกราฟจะแสดงให้เห็นเฉพาะกรณีที่มีการเสนอราคาเพิ่มขึ้น หรือยื่นเสนอราคาในรอบนั้น ๆ เท่านั้น
นายก่อกิจ อธิบายเพิ่มเติมว่า กฎการประมูลออกแบบมาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประมูลไม่สามารถรู้สถานการณ์ของผู้เข้าร่วมการประมูลรายอื่นได้ สามารถทำได้เพียงเสนอราคาสู้ตามวงเงินที่แต่ละบริษัท ซึ่งเมื่อเข้าห้องประชุมไปแล้ว ผู้เข้าร่วมการประมูลจะไม่สามารถรับรู้อะไรได้อีก
สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz มีความแตกต่างกันใน 3 เรื่อง คือ ช่วงคลื่นความถี่ งวดการชำระเงินค่าประมูล และมูลค่าคลื่นความถี่ สำหรับมูลค่าคลื่นความถี่นั้น สหภาพโทรคมนาคมระวห่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) เป็นผู้คิดมูลค่าดังกล่าวโดยคิดจาก
1.ใช้ International Best Practice โดยหามูลค่าคลื่นความถี่ที่แต่ละประเทศจัดสรร และนำมาเฉลี่ยโดยหารต่อคนต่อ MHz ของประเทศนั้น ๆ แล้วคูณกับจำนวนประชากรในประเทศไทย เพื่อหาราคาที่เหมาะสมกับประเทศไทย
2.ใช้ Business Model คำนวณว่า หากนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปประกอบการ โดยเทียบกับขนาดของประเทศ แล้วจะก่อให้เกิดรายได้เช่นใด ซึ่งข้อมูลรายละเอียดดังกล่าวได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยที่ผ่านมาไม่เคยมีการโต้แย้งประเด็นนี้ โดยตอนทำกฎการประมูลก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จึงไม่มีการคิดจะให้เพิ่มหลักประกันการประมูล
ท้ายสุด นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต (ขณะนั้น) ประธานคณะทำงานฯ กล่าวโดยสรุปว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. ชี้แจงมาแสดงให้เห็นว่า การเสนอราคาของบริษัท แจส โมบายฯ เป็นไปตามกฏการประมูล
ก่อนที่ประชุมคณะทำงานฯ จะหารือในประเด็นความเสียหายที่บริษัท แจส โมบายฯ จะต้องรับผิดชอบ นับตั้งแต่ช่วงท้ายของการประชุมครั้งที่ 2 กระทั่งถึงการประชุมครั้งสุดท้ายในครั้งที่ 7 และแทบไม่กลับมาแตะประเด็นพฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ อีก ก่อนที่คณะทำงานฯ จะสรุปว่า พฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ผิดปกติ แต่ได้ส่งเรื่องให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไปตรวจสอบต่อแล้ว
(อ่านประกอบ : กสทช.ชงข้อมูล‘แจส โมบายฯ’ให้ ก.ล.ต. สอบต่อปมประมูล 4G)
อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ บริษัท แจส โมบายฯ ได้ทิ้งคลื่นใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 ส่งผลให้ต้องถูกริบเงินประกัน 644 ล้านบาท และถูกสั่งให้ชดใช้ค่าความเสียหายเพิ่มเติม 199.4 ล้านบาท
ประเด็นนี้หากพิจารณาตาม พ.ร.บ.กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์) มาตรา 89/7 ที่บัญญัติถึงกรณี การดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง ซื่อสัตย์สุจริต และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และมาตรา 281/2 ที่บัญญัติถึงกรณี กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง หรือซื่อสัตย์สุจริต ต้องระวางโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่เกิน 5 แสนบาท หรือหากกระทำการโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ต้องให้ ก.ล.ต. และ ตลท. พิจารณา ในประเด็นเรื่องแผนธุรกิจของบริษัท แจส โมบายฯ ที่อ้างต่อ กสทช. และคณะทำงานฯ ว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามนั้นหรือไม่ การวางแผนธุรกิจกระชั้นชิดเกินไปจนทำให้ไม่สามารถชำระเงินค่าใบอนุญาตได้ทันหรือเปล่า หรือว่าจงใจให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวตั้งแต่แรก และข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัท แจส โมบายฯ ถูกริบเงินประกัน 644 ล้านบาท และถูกคณะทำงานฯ เรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม 199.4 ล้านบาท เข้าข่ายตามมาตรา 281/2 ด้วยหรือไม่
ซึ่งในส่วนนี้หากโดนแค่คดีแพ่ง ก็จะจบแค่ชดใช้ค่าความเสียหาย แต่ถ้าถูกตรวจสอบพบว่าการกระทำดังกล่าวจงใจโดยทุจริต ก็อาจจะต้องถูกจำคุกด้วย
(อ่านประกอบ : กางกฏหมาย-ขมวด 2 เงื่อนปม‘แจส’ ทิ้งคลื่น 4G ก่อนร้อง ป.ป.ช.-ก.ล.ต. สอบต่อ)
อย่างไรก็ดีในชั้นนี้ยังอยู่ระหว่างร้องเรียนกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดจึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
อดีต ปธ.คณะทำงานฯสอบ‘แจส’ ยันดูละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติประมูล 4G
กางกฏหมาย-ขมวด 2 เงื่อนปม‘แจส’ ทิ้งคลื่น 4G ก่อนร้อง ป.ป.ช.-ก.ล.ต. สอบต่อ
ล้วงเบื้องหลังวงประชุมคณะทำงานฯสอบ‘แจส’ไฉนประมูล 4G ไม่ผิดปกติ (1)
อดีต ปธ.คณะทำงานฯสอบ‘แจส’ ยันดูละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติประมูล 4G
เปิดคำตอบ 3 รัฐวิสาหกิจปมถูก‘แจส’ อ้างขอเช่าเสาโทรคมนาคมลงทุน 4G
เบื้องหลัง! เปิดผลสอบคณะทำงานฯปมพฤติกรรมการประมูล 4G ‘แจส’ไม่ผิดปกติ
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
กสทช.ชงข้อมูล‘แจส โมบายฯ’ให้ ก.ล.ต. สอบต่อปมประมูล 4G
เลขาฯ กสทช.เปิดช่องชง ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯสอบ‘แจส’ปมประมูล 4G
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
2 เงื่อนปมร้อนชง ป.ป.ช.สอบ ‘แจส’ กีดกันเสนอราคา-เอื้อเอกชนประมูล 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
เปิดเบื้องหลังไฉนแบงก์กรุงเทพไม่ปล่อยกู้‘แจส’ 4 หมื่นล.จ่ายค่าประมูล 4G
โชว์หลักฐาน‘แจส’เคาะราคาสู้ตัวเอง 2 พันล.ก่อนถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมประมูล 4G
ก.ล.ต.สั่งบริษัทลูก‘แจส’แจงปมไฟเขียวจ่ายเงินปันผล-อาจเอื้อ‘พิชญ์ โพธารามิก’
เปิดเครือข่ายธุรกิจกลุ่มโพธารามิก ‘จัสมิน-โมโน-แจส โมบาย’ 44 บริษัท 4.5 หมื่นล.
เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ
เจาะกระเป๋า 'แจสโมบาย' มีเงินฝากธ.กรุงเทพ4.6พันล.ก่อนทิ้งคลื่น900
เปิดคำสั่งคณะทำงานลุยสอบ'แจส' เอาผิด-ลงโทษปมไม่จ่ายค่าประมูล 4G
กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ"แจสโมบาย"เคาะราคาประมูลคลื่น 900 เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วหรือไม่