ล้วงเบื้องหลังวงประชุมคณะทำงานฯสอบ‘แจส’ไฉนประมูล 4G ไม่ผิดปกติ (2)
“…ความแตกต่างในจุดนี้เป็นความต่างของการประมูลปกติไหม เพราะหากบริษัท แจส โมบายฯ ทราบว่าไม่มีผู้เสนอราคาสู้ เหตุใดจึงยังคงเสนอราคาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ราคาทิ้งห่างกัน กฎการประมูลสามารถอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร…”
หลายคนอาจทราบไปแล้วจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการตรวจสอบพฤติกรรมการประมูล 4G คลื่น 900 MHz ของบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) นอกเหนือจากเสียงเรียกร้องของประชาชน และสื่อมวลชนแล้ว เนื้อหาในที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาความรับผิดชอบ กรณีบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ก็ถือเป็นส่วนสำคัญ
แม้ว่าท้ายสุดที่ประชุมคณะทำงานฯ จะมีมติเห็นว่า พฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ผิดปกติแต่อย่างใดก็ตาม แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ในการประชุมคณะทำงานฯ ทั้งหมด 7 ครั้ง พบว่า มีการหารือในประเด็นพฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ น้อยมาก ขณะที่ประเด็นส่วนใหญ่คือการหาช่องทางการชดใช้ค่าเสียหายมากกว่า
ในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1 มีการหารือสั้น ๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายประการ ส่วนตัวแทนจากฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีข้อเสนอในเรื่องดังกล่าวเป็นพัลวัน
(อ่านประกอบ : ล้วงเบื้องหลังวงประชุมคณะทำงานฯสอบ‘แจส’ไฉนประมูล 4G ไม่ผิดปกติ (1))
เพื่อให้สาธาณชนรับทราบข้อเท็จจริงมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอเนื้อหาในที่ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2559 พบรายละเอียด ดังนี้
เบื้องต้นฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ นำเสนอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการธรรมาภิบาลฯของ กสทช. แก่ที่ประชุมคณะทำงานฯ ที่ระบุว่า ก่อนการประมูล ระหว่างการประมูล และหลังการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz มีการแข่งขันที่สูง มีความโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้
นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต (ขณะนั้น) ประธานคณะทำงานฯ มีข้อซักถามว่า ตามประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการตั้งคณะทำงานฯชุดนี้ มีการกำหนดไว้ว่าจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลฯ เพิ่มเติมด้วยหรือไม่
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า คณะกรรมการธรรมาภิบาลฯ แต่งตั้งโดยคำสั่งสำนักงาน กสทช. เพื่อให้มีความสอดคล้องกับประกาศสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
หลังจากนั้นฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแผนธุรกิจของบริษัท แจส โมบายฯ เทียบกับ TRUE ที่เป็นหนึ่งในผู้ชนะการประมูล 4G คลื่น 900 MHz ชุดที่ 2 ทั้งแผนการระดมทุน คู่ค้าทางธุรกิจ และการขอรับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน
ตัวแทนสำนักงาน ก.ล.ต. หนึ่งในคณะทำงานฯ สอบถามว่า กฎหมายมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz หรือไม่ เช่น ดูฐานะทางการเงินของผู้เข้าร่วมประมูล เป็นต้น
พนักงานของสำนักงาน กสทช. ชี้แจงว่า กฎหมายระบุไว้ว่า จะต้องมีคุณสมบัติของผู้รบัใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 และผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด อีกทั้งในการขอรับใบอนุญาต จะต้องวางหลักประกันการประมูลเป็นจำนวน 644 ล้านบาท
ตัวแทนสำนักงาน ก.ล.ต. สอบถามเพิ่มเติมว่า ในแผนธุรกิจต้องมีการประมาณมูลค่าใบอนุญาตที่จะประมูลหรือไม่ เพื่อที่จะดูว่ามีสัญญาณบอกว่า บริษัทตั้งใจเข้ามาประมูล หรือทำแผนธุรกิจมาแบบมักง่าย
พนักงานของสำนักงาน กสทช. ชี้แจงว่า แผนธุรกิจไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดได้ว่าแต่ละบริษัทเข้ามาแบบธรรมดาหรือมีความมั่นคงทางการเงินอะไรหรือไม่ เพราะทุกบริษัทเข้ามาก็มีเงิน 2 ส่วน คือเงินของบริษัทเอง และเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งในส่วนของแหล่งที่มาของเงินกู้นั้น ถือเป็นความลับทางการค้าที่ทุกบริษัทไม่สามารถบอกได้
ตัวแทนสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ข้อสังเกตว่า หากที่ประชุมจะพิจารณาเรื่องแผนธุรกิจและพฤติกรรมการเคาะราคาประมูล จะเป็นการพิจารณาในประเด็นเรื่องพฤติกรรมของบริษัท แจส โมบายฯ ว่า มีเจตนาที่จะเข้าร่วมการประมูลจริงหรือไม่
นายวงศ์สกุล ประธานคณะทำงานฯ สอบถามสำนักงาน กสทช. ว่า ตามพฤติกรรมการเคาะราคาที่แสดงให้เห็นนี้ หากดูพฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ แล้ว เห็นว่าเป็นไปตามกฎการประมูลหรือไม่ อย่างไร อีกทั้งในการประมูลช่วงสุดท้ายที่บริษัท แจส โมบายฯ เป็นผู้ชนะการประมูลชั่วคราว ผู้ที่ประมูลในราคารองลงมาประมูลไว้ที่ราคาเท่าไหร่ ทำไมราคาจึงต่างจากราคาที่บริษัท แจส โมบายฯ ประมูลมาก
พนักงานของสำนักงาน กสทช. ชี้แจงว่า บริษัท แจส โมบายฯ ประมูลเฉพาะคลื่นความถี่ชุดที่ 1 โดยแบ่งเป็นการเพิ่มราคาประมูล (Increase bid) 172 ครั้ง และการยืนราคาการประมูลเนื่องจากเป็นผู้ชนะชั่วคราว (Maintains bid) 13 ครั้ง และการประมูลสู้ราคา (New bid) 14 ครั้ง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาประมูลนั้นเป็นไปตามกฏการประมูลที่สามารถเพิ่มขึ้นได้
จากข้อมูลที่มีการเข้าใจว่า DTAC เมื่อได้ประมูลถึงเพดานราคาที่ตั้งไว้ ได้ย้ายจากการประมูลในชุดที่ 2 มาชุดที่ 1 และได้ออกจากการประมูลไปในราคาสุดท้าย 70,180 ล้านบาท ส่วน TRUE ได้มาประมูลคลื่นความถี่ชุดที่ 1 ที่รอบ 192 ในราคา 73,722 ล้านบาท หลังจากนั้นบริษัท แจส โมบายฯ ก็ครองคลื่นความถี่ชุดที่ 1 มาโดยตลอด ซึ่งบริษัท แจส โมบายฯ ได้เสนอราคาในรอบที่ 198 ด้วยราคา 75,654 ล้านบาท เมื่อรอบที่ 199 ไม่มีผู้เสนอราคา การประมูลจึงสิ้นสุดลง
ความแตกต่างระหว่างราคาที่บริษัทประมูลได้กับราคาที่ TRUE ได้เสนอราคาในคลื่นความถี่ชุดที่ 1 ครั้งสุดท้าย อยู่ที่ 1,932 ล้านบาท ซึ่งต่างกันอยู่ 6 รอบการประมูล โดยแต่ละรอบราคาจะเพิ่มขึ้น 322 ล้านบาท
นายวงศ์สกุล หัวหน้าคณะทำงานฯ แสดงความเห็นว่า หากไม่มีกฎการประมูลกำหนดไว้ว่า ผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายมีสิทธิยื่นประมูลคลื่นความถี่ได้ไม่เกินหนึ่งชุดคลื่นความถี่เท่านั้น ผู้ที่เสนอราคาประมูลในคลื่นชุดที่ 1 สูงเป็นลำดับรองลงมาจากบริษัท แจส โมบายฯ คือ TRUE ไม่ใช่ DTAC ตามที่ข่าวเสนออกไป ซึ่งเมื่อมีการนำเสนออกไปเช่นนั้น ทำให้ราคาดูแตกต่างกันมาก
ขอสอบถามว่า ความแตกต่างในจุดนี้เป็นความต่างของการประมูลปกติไหม เพราะหากบริษัท แจส โมบายฯ ทราบว่าไม่มีผู้เสนอราคาสู้ เหตุใดจึงยังคงเสนอราคาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ราคาทิ้งห่างกัน กฎการประมูลสามารถอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร
พนักงานของสำนักงาน กสทช. ให้เหตุผลว่า เนื่องจากในคลื่นความถี่ชุดที่ 2 ยังคงมีการเสนอราคาสู้กันอย่างต่อเนื่อง บริษัท แจส โมบายฯ เองคงต้องการรักษาสถานภาพของตนเองในการเป็นผู้ชนะชั่วคราว และมีการเสนอราคาประมูลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยังคงมีความเป็นไปได้ที่ผู้ที่ประมูลคลื่นความถี่ในชุดที่ 2 จะเข้ามาประมูลคลื่นความถี่ในชุดที่ 1
นี่คือคำถาม-คำตอบเบื้องต้นระหว่างคณะทำงานฯ และพนักงานของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับพฤติกรรมในการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ ปกติหรือไม่ อย่างไร ?
ตอนหน้ารออ่านบทสรุปว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้คณะทำงานฯ ให้เหตุผลว่า การประมูล 4G ของบริษัท แจส โมบายฯ เป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่ผิดปกติ
อย่างไรก็ดีในชั้นนี้ยังอยู่ระหว่างร้องเรียนกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดจึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
กางกฏหมาย-ขมวด 2 เงื่อนปม‘แจส’ ทิ้งคลื่น 4G ก่อนร้อง ป.ป.ช.-ก.ล.ต. สอบต่อ
ล้วงเบื้องหลังวงประชุมคณะทำงานฯสอบ‘แจส’ไฉนประมูล 4G ไม่ผิดปกติ (1)
อดีต ปธ.คณะทำงานฯสอบ‘แจส’ ยันดูละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติประมูล 4G
เปิดคำตอบ 3 รัฐวิสาหกิจปมถูก‘แจส’ อ้างขอเช่าเสาโทรคมนาคมลงทุน 4G
เบื้องหลัง! เปิดผลสอบคณะทำงานฯปมพฤติกรรมการประมูล 4G ‘แจส’ไม่ผิดปกติ
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
กสทช.ชงข้อมูล‘แจส โมบายฯ’ให้ ก.ล.ต. สอบต่อปมประมูล 4G
เลขาฯ กสทช.เปิดช่องชง ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯสอบ‘แจส’ปมประมูล 4G
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
2 เงื่อนปมร้อนชง ป.ป.ช.สอบ ‘แจส’ กีดกันเสนอราคา-เอื้อเอกชนประมูล 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
เปิดเบื้องหลังไฉนแบงก์กรุงเทพไม่ปล่อยกู้‘แจส’ 4 หมื่นล.จ่ายค่าประมูล 4G
โชว์หลักฐาน‘แจส’เคาะราคาสู้ตัวเอง 2 พันล.ก่อนถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมประมูล 4G
ก.ล.ต.สั่งบริษัทลูก‘แจส’แจงปมไฟเขียวจ่ายเงินปันผล-อาจเอื้อ‘พิชญ์ โพธารามิก’
เปิดเครือข่ายธุรกิจกลุ่มโพธารามิก ‘จัสมิน-โมโน-แจส โมบาย’ 44 บริษัท 4.5 หมื่นล.
เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ
เจาะกระเป๋า 'แจสโมบาย' มีเงินฝากธ.กรุงเทพ4.6พันล.ก่อนทิ้งคลื่น900
เปิดคำสั่งคณะทำงานลุยสอบ'แจส' เอาผิด-ลงโทษปมไม่จ่ายค่าประมูล 4G
กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ"แจสโมบาย"เคาะราคาประมูลคลื่น 900 เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วหรือไม่