ครอบครัว 21 หญิงไทยแจ้งจับ"นายหน้า" ลุ้นกลับกลุ่มแรกก่อนปีใหม่
ในที่สุดครอบครัวของหญิงจากชายแดนใต้จำนวน 21 คนที่ถูกชักชวนไปขายข้าวเกรียบที่มาเลเซียจนถูกจับกุมและถูกกันเป็นพยานเพื่อดำเนินคดีค้ามนุษย์กับผู้นำพา ได้พร้อมใจกันเข้าแจ้งความที่ สภ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี แล้ว
หลังจาก “ทีมข่าวอิศรา” ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับขบวนการค้าแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเหยื่อในครั้งนี้คือผู้หญิงหลากหลายวัย แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจำนวน 21 คน ถูกนายหน้าชักชวนให้ไปทำงานขายข้าวเกรียบที่ประเทศมาเลเซีย แต่เมื่อไปจริงๆ ลักษณะงานคล้ายเป็นการขอทานโดยขายข้าวเกรียบบังหน้า โดยทุกคนต้องทำงานตั้งแต่เช้าถึงดึก และถูกหักเงินรายได้ถึง 80% ต่อมาทางการมาเลเซียได้จับกุมผู้จัดหาซึ่งเป็นคนไทยและดำเนินคดีค้ามนุษย์ พร้อมคุมตัวหญิงไทยทั้ง 21 คนไว้เป็นพยานที่บ้านพักฉุกเฉินสตรี รัฐยะโฮร์ นั้น
ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 18 พ.ย.59 ญาติของ 21 หญิงจากชายแดนใต้ ได้ไปรวมกันที่บ้านของเหยื่อรายหนึ่งใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพื่อหารือกันเรื่องที่มารดาและภรรยาของพวกเขาเหล่านั้นถูกชักชวนไปขายแรงงานผิดกฎหมายที่ประเทศมาเลเซียจนถูกจับกุม
สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่เดินทางไปพบกับครอบครัวของเหยื่อ คือเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และเจ้าหน้าที่จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
สิ่งที่ทำให้ญาติของเหยื่อดีใจมากก็คือ นายสัมพันธ์ มูซอดี ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.รับปากว่าจะประสานให้ญาติได้เข้าเยี่ยมเหยื่อที่ถูกกันตัวเป็นพยานที่รัฐยะโฮร์ภายในสัปดาห์หน้า โดยล่าสุด นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต.ได้ลงนามเห็นชอบในเรื่องนี้แล้ว
แต่ปัญหาของญาติเหยื่อเกือบทุกครอบครัว คือถูกข่มขู่เรียกเงินเพิ่มเติมจากกลุ่มนายหน้า โดยอ้างว่าจะนำเงินไปช่วยเหลือหญิงทั้ง 21 คน ซึ่ง พ.อ.ศุภณัฎฐ์ หนูรุ่ง นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคุ้มครองพยาน กล่าวว่า หากครอบครัวไหนถูกข่มขู่คุกคาม ก็สามารถเข้าโปรแกรมคุ้มครองพยานได้ เพื่อความปลอดภัย และให้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจไว้เป็นหลักฐาน
จากนั้นครอบครัวของเหยื่อ 7 รายตัดสินใจดำเนินคดีกับกลุ่มนายหน้า ด้วยการไปแจ้งความที่ สภ.ยะหริ่ง โดยมี พ.อ.ศุภณัฎฐ์ คอยอำนวยความสะดวก และให้คำแนะนำทางกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ตำรวจยังไม่รับแจ้งความคดีค้ามนุษย์ เพราะครอบครัวเหยื่อไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง และอาจต้องประสานให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือ บก.ปคม.เป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้
ส่วนการให้ความช่วยเหลือของกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ในเรื่องเงินชดเชยเยียวยากรณี 21 หญิงจากชายแดนใต้ถูกกักตัวที่มาเลเซียจนไม่สามารถประกอบอาชีพปกติได้ ทำให้ขาดรายได้และกระทบกับครอบครัวนั้น ทางกรมฯได้ให้ครอบครัวเหยื่อยื่นคำร้องไว้ และจะพิจารณาหาช่องทางตามกฎหมายเพื่อช่วยเหลือต่อไป เพราะเป็นการถูกคุมขังนอกประเทศไทย แต่หากมีการยื่นฟ้องคดีในประเทศไทย ก็สามารถขอรับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้
มีรายงานล่าสุดจากตำรวจสันติบาลมาเลเซียว่า อาจมีการปล่อยตัวหญิงไทยกลุ่มแรกที่ขึ้นให้การเป็นพยานเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ โดยเป็นหญิงที่ขึ้นให้การเป็นพยานในชั้นศาลแล้วเพื่อดำเนินคดีค้ามนุษย์กับผู้นำพา 2 รายที่ถูกจับกุม ซึ่งหญิงกลุ่มแรกที่ขึ้นให้การมี 3 คน ขึ้นศาลเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ญาติ 21 หญิงไทยรวมตัวกันที่บ้านเหยื่อรายหนึ่งใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี (คนซ้ายสุดคือเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองพยาน)
2 สภ.ยะหริ่ง
3 ครอบครัวเหยื่อบางรายเข้าแจ้งความ