กางกฏหมาย-ขมวด 2 เงื่อนปม‘แจส’ ทิ้งคลื่น 4G ก่อนร้อง ป.ป.ช.-ก.ล.ต. สอบต่อ
“…การกระทำดังกล่าวเป็นการกีดกันเอกชนบางราย และทำให้เอกชนบางรายได้ประโยชน์จากการประมูล 4G ดังกล่าวหรือไม่ และแรงจูงใจที่ทำให้บริษัท แจส โมบายฯ ดำเนินการดังกล่าวคืออะไร โดยเฉพาะต้องพิจารณาถึงแผนธุรกิจของบริษัท แจส โมบายฯ และบริษัท จัสมินฯ ทั้งในช่วงก่อนการประมูล ช่วงเป็นผู้ชนะการประมูล ช่วงระหว่างหาแหล่งทุนชำระค่าใบอนุญาต กระทั่งทิ้งคลื่นดังกล่าว มีเอกชนรายใดได้รับประโยชน์ หรือเสียประโยชน์จากกรณีนี้บ้าง…”
ไม่ว่าข้อเท็จจริง กรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแหงชาติ (กทค.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรองเลขาธิการ กสทช. สายงานโทรคมนาคม ที่ว่า ในการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz อาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) จะเป็นเช่นไร
แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งจากหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีนี้ และผลสรุปคณะทำงานพิจารณาความรับผิดชอบ กรณีบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz พบว่า มีข้อกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในกรณีนี้ ได้แก่
1.พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
2.พ.ร.บ.กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์)
ขณะที่มีหน่วยงานของรัฐที่ต้องดำเนินการตรวจสอบต่ออย่างน้อย 3 หน่วยงาน ได้แก่
1.คณะกรรมการ ป.ป.ช.
2.สำนักงาน ก.ล.ต.
3.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปเงื่อนปมข้อเท็จจริงทั้งหมดในกรณีนี้ ที่เกี่ยวกับกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ และการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐทั้ง 3 แห่ง ดังกล่าว ดังนี้
ในการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผลสรุปคณะทำงานฯ มีการพิจารณา กรณีพฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ ว่า เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว หรือไม่ เนื่องจากพบข้อเท็จจริงว่า
1.บริษัท แจส โมบายฯ เคาะราคาสู้ราคาตัวเองกว่า 2 พันล้านบาท ทั้งที่เป็นผู้ชนะการประมูลชั่วคราวไปแล้ว กระทั่งมาจบที่ราคาสุดท้ายคือ 75,654 ล้านบาท ขณะที่บริษัท แจส โมบายฯ อ้างว่า เหตุผลที่ทำดังกล่าวเป็นกลยุทธ์การประมูล ซึ่งแม้ว่า คณะทำงานฯ จะเชื่อเหตุผลดังกล่าว และมีข้อสรุปว่าพฤติกรรมการประมูลไม่ผิดปกติก็ตาม แต่สำนักงาน กสทช. ได้ส่งข้อมูลของคณะทำงานฯ ให้แก่ สำนักงาน ก.ล.ต. และ ตลท. เพื่อไปดำเนินการพิจารณาต่อแล้ว อย่างไรก็ดีกรณีนี้ถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการเคาะราคาเพื่อกีดกันเอกชนบางราย และเพื่อให้เอกชนบางรายได้ผลประโยชน์จากการประมูลคลื่น 900 MHz ดังกล่าว
2.ในหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุถึงกรณีภายหลังบริษัท แจส โมบายฯ ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 พบว่า ราคาหุ้นของบริษัท จัสมินฯ ในวันที่ 21-22 ธ.ค. 2558 มีการเทขายหุ้นมูลค่ารวมกว่า 3.16 พันล้านหุ้น หรือเกือบครึ่งหนึ่ง (7.13 พันล้านหุ้น) เป็นผลให้ราคาหุ้นบริษัท จัสมินฯ จากระดับ 5 บาท/หุ้น เหลือเพียง 3 บาท/หุ้น มูลค่าเฉพาะ 2 วันดังกล่าวประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดีในช่วงระหว่างหาแหล่งเงินทุนเพื่อชำระใบอนุญาตคลื่นก่อนวันที่ 21 มี.ค. 2559 บริษัท จัสมินฯ (บริษัทแม่แจส โมบายฯ) ประกาศรับซื้อหุ้นบริษัท แจส โมบายฯ คืนเพื่อบริหารจัดการทางการเงิน ด้วยวงเงิน 6 พันล้านบาท หรือ 1.2 พันล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 16.82 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในราคาหุ้นละ 5 บาท ขณะเดียวกันในการประกาศรับซื้อหุ้นคืนดังกล่าวของบริษัท จัสมินฯ ส่งผลให้ราคาหุ้นจากเดิมที่ต่ำอยู่ กลับขึ้นไปที่ราคา 5 บาท/หุ้น อีกครั้งหนึ่งด้วย ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้
3.มีการตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงที่บริษัท จัสมินฯ รับซื้อหุ้นรวม 6 พันล้านบาทนั้น มีการจ่ายปันผลจากกำไรสะสมประจำปี 2558 ให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญทั้งหมดเป็นเงินกว่า 2,140 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 8,140 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินมากพอที่จะชำระค่าใบอนุญาตคลื่นได้ แต่เรื่องดังกล่าวกลับไม่เกิดขึ้น ดังนั้นบริษัท แจส โมบายฯ ใช้เหตุผลอะไร ในการไม่น้ำเงินซึ่งจำเป็นที่จะต้องจ่ายเป็นค่าใบอนุญาตเบื้องต้นแก่สำนักงาน กสทช. มาจ่ายปันผลแทน ตรงนี้อาจมีเจตนาที่จะไม่ดำเนินการชำระค่าใบอนุญาตตามกำหนดหรือไม่ อย่างไร
4.ในแผนการดำเนินธุรกิจ 4G ภายหลังบริษัท แจส โมบายฯ ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ชุดที่ วงเงิน 75,654 ล้านบาทได้นั้น นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมินฯ เคยระบุผ่านสื่อหลายสำนักว่า ได้เตรียมกู้สินเชื่อจากธนาคารกรุงเทพ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ทว่าท้ายสุด ‘ดีลล่ม’ เนื่องจากธนาคารกรุงเทพขอให้นายพิชญ์ และนายอดิศัย โพธารามิก (บิดานายพิชญ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง อดีตรัฐมนตรีหลายสมัยรัฐบาลนายทักษิณ) ค้ำประกันส่วนตัว ก่อนที่จะหันไปหากองทุนจีนเพื่อลงทุน โดยอ้างว่าธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) เป็นผู้แนะนำนั้น
แต่ข้อเท็จจริงพบว่า ในการเตรียมกู้สินเชื่อจากธนาคารกรุงเทพวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ทว่าในการประมูลจริงกลับเคาะราคาประมูลสูงถึง 75,654 ล้านบาท ตรงนี้มีแผนการสำรองไว้รองรับหากไม่ได้วงเงินกู้หรือไม่ หรือแม้แต่การอ้างว่า จะไปทำแผนธุรกิจร่วมกับกองทุนจีน แต่ในผลสรุปของคณะทำงานฯ ตัวแทนธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ยืนยันว่า ธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) ไม่เคยแนะนำกองทุนดังกล่าวให้แก่บริษัท จัสมินฯ และการเจรจาก็เป็นเพียงขั้นต้นระหว่างผู้บริหารระดับสูง ไม่มีแม้แต่เอกสารหลักฐานในการเจรจาด้วยซ้ำไป
หรือแม้แต่การติดต่อไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อขอเช่าพื้นที่และเสาสัญญาโทรคมนาคม แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการไปสำรวจแค่ครั้งเดียวที่ จ.กาญจนบุรี หลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อไปยัง กฟภ. อีก เป็นต้น ในส่วนนี้บริษัท แจส โมบายฯ จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างไรว่า ต้องการประกอบธุรกิจตามการประมูล 4G จริง
จาก 4 กรณีดังกล่าวข้างต้น สิ่งจำเป็นที่สำนักงาน ก.ล.ต. ตลท. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ควรดำเนินการตรวจสอบต่อคือ
หนึ่ง การกระทำของบริษัท แจส โมบายฯ อาจเข้าข่ายผิดตามมาตรา 241 ของ พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลวงใน หรือ 'อินไซเดอร์หุ้น' หรือไม่ จากกรณีที่บริษัท แจส โมบายฯ ชนะการประมูล ส่งผลให้ตลาดในส่วนของโทรคมนาคมระส่ำระส่าย มีการเทขายหุ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาหุ้นของบริษัท แจส โมบายฯ จาก 5 บาท/หุ้น เหลือ 3 บาท/หุ้น แต่ในช่วงหาแหล่งเงินทุนชำระใบอนุญาตนั้น บริษัท จัสมินฯ กลับประกาศรับซื้อหุ้นบริษัท แจส โมบายฯ คืน ด้วยวงเงิน 6 พันล้านบาท ในราคา 5 บาท/หุ้น ทำให้ราคาในตลาดกลับไปอยู่ที่ 5 บาท/หุ้นอีกครั้ง ถือว่าบริษัท จัสมินฯ และบริษัท แจส โมบายฯ อาจจงใจดำเนินการให้เกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นหรือไม่ และบุคคลใดเป็นผู้ได้ประโยชน์จากกรณีนี้
นอกจากนี้ตามมาตรา 89/7 ที่บัญญัติถึงกรณี การดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง ซื่อสัตย์สุจริต และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และมาตรา 281/2 ที่บัญญัติถึงกรณี กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง หรือซื่อสัตย์สุจริต ต้องระวางโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่เกิน 5 แสนบาท หรือหากกระทำการโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในส่วนต้องให้ ก.ล.ต. และ ตลท. พิจารณา ในประเด็นเรื่องแผนธุรกิจของบริษัท แจส โมบายฯ ที่อ้างต่อ กสทช. และคณะทำงานฯ ว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามนั้นหรือไม่ การวางแผนธุรกิจกระชั้นชิดเกินไปจนทำให้ไม่สามารถชำระเงินค่าใบอนุญาตได้ทันหรือเปล่า หรือว่าจงใจให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวตั้งแต่แรก และข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัท แจส โมบายฯ ถูกริบเงินประกัน 644 ล้านบาท และถูกคณะทำงานฯ เรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม 199.4 ล้านบาท เข้าข่ายตามมาตรา 281/2 ด้วยหรือไม่
ซึ่งในส่วนนี้หากโดนแค่คดีแพ่ง ก็จะจบแค่ชดใช้ค่าความเสียหาย แต่ถ้าถูกตรวจสอบพบว่าการกระทำดังกล่าวจงใจโดยทุจริต ก็อาจจะต้องถูกจำคุกด้วย
(อ่าน พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่นี่ : http://bit.ly/2g7ym2h)
สอง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องตรวจสอบเชิงลึกในประเด็นการเคาะราคาสู้ราคาตัวเองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกีดกันเอกชนบางราย และทำให้เอกชนบางรายได้ประโยชน์จากการประมูล 4G ดังกล่าวหรือไม่ และแรงจูงใจที่ทำให้บริษัท แจส โมบายฯ ดำเนินการดังกล่าวคืออะไร โดยเฉพาะต้องพิจารณาถึงแผนธุรกิจของบริษัท แจส โมบายฯ และบริษัท จัสมินฯ ทั้งในช่วงก่อนการประมูล ช่วงเป็นผู้ชนะการประมูล ช่วงระหว่างหาแหล่งทุนชำระค่าใบอนุญาต กระทั่งทิ้งคลื่นดังกล่าว มีเอกชนรายใดได้รับประโยชน์ หรือเสียประโยชน์จากกรณีนี้บ้าง และการกระทำดังกล่าวผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว หรือไม่
(อ่าน พ.ร.บ.ฮั้ว ที่นี่ : http://bit.ly/2g7wLcR)
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในประเด็นพฤติกรรมการประมูล 4G ของบริษัท แจส โมบายฯ ที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินการตรวจสอบโดยด่วน เนื่องจากอาจทำให้รัฐเสียประโยชน์เป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาทได้
อย่างไรก็ดีในชั้นนี้ยังอยู่ระหว่างร้องเรียนกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดจึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
ล้วงเบื้องหลังวงประชุมคณะทำงานฯสอบ‘แจส’ไฉนประมูล 4G ไม่ผิดปกติ (1)
อดีต ปธ.คณะทำงานฯสอบ‘แจส’ ยันดูละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติประมูล 4G
เปิดคำตอบ 3 รัฐวิสาหกิจปมถูก‘แจส’ อ้างขอเช่าเสาโทรคมนาคมลงทุน 4G
เบื้องหลัง! เปิดผลสอบคณะทำงานฯปมพฤติกรรมการประมูล 4G ‘แจส’ไม่ผิดปกติ
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
กสทช.ชงข้อมูล‘แจส โมบายฯ’ให้ ก.ล.ต. สอบต่อปมประมูล 4G
เลขาฯ กสทช.เปิดช่องชง ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯสอบ‘แจส’ปมประมูล 4G
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
2 เงื่อนปมร้อนชง ป.ป.ช.สอบ ‘แจส’ กีดกันเสนอราคา-เอื้อเอกชนประมูล 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
เปิดเบื้องหลังไฉนแบงก์กรุงเทพไม่ปล่อยกู้‘แจส’ 4 หมื่นล.จ่ายค่าประมูล 4G
โชว์หลักฐาน‘แจส’เคาะราคาสู้ตัวเอง 2 พันล.ก่อนถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมประมูล 4G
ก.ล.ต.สั่งบริษัทลูก‘แจส’แจงปมไฟเขียวจ่ายเงินปันผล-อาจเอื้อ‘พิชญ์ โพธารามิก’
เปิดเครือข่ายธุรกิจกลุ่มโพธารามิก ‘จัสมิน-โมโน-แจส โมบาย’ 44 บริษัท 4.5 หมื่นล.
เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ
เจาะกระเป๋า 'แจสโมบาย' มีเงินฝากธ.กรุงเทพ4.6พันล.ก่อนทิ้งคลื่น900
เปิดคำสั่งคณะทำงานลุยสอบ'แจส' เอาผิด-ลงโทษปมไม่จ่ายค่าประมูล 4G
กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ"แจสโมบาย"เคาะราคาประมูลคลื่น 900 เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วหรือไม่