ล้วงเบื้องหลังวงประชุมคณะทำงานฯสอบ‘แจส’ไฉนประมูล 4G ไม่ผิดปกติ (1)
“…มีข้อสังเกตว่า การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ผ่านมา มีการเคาะราคากันตลอดเวลา ทั้งที่บางบริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลชั่วคราวไปแล้ว ก็ยังเคาะราคาต่อไปอีก อาจเป็นผลมาจากผู้เข้าร่วมประมูลมีประสบการณ์ประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่มีมูลค่าถึงกว่า 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในช่วงแรกของการประมูลจึงมีการเคาะราคาเรื่อย ๆ เพื่อไล่ราคาให้ไปถึงมูลค่าของคลื่นความถี่ 1800 MHz เพื่อความรวดเร็วในการประมูล ดังนั้นคณะทำงานฯ จึงควรดูพฤติกรรมการเคาะราคาหลังราคา 4 หมื่นล้านบาทไปแล้ว ซึ่งจะเป็นการเคาะราคาที่มีนัยสำคัญ…”
เป็นเรื่องที่หลายคนยังไม่ได้ความกระจ่างชัดมากนัก สำหรับการประมูลคลื่น 4G คลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 ที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคาสูงสุด 75,654 ล้านบาท แต่ท้ายสุดกลับทิ้งคลื่นดังกล่าวไป ยอมให้โดนริบเงินประกัน 644 ล้านบาท
ส่งผลให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจในการประมูลคลื่น 4G ดังกล่าวทันที จนในที่สุดคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) แต่งตั้ง คณะทำงานพิจารณาความรับผิดชอบ กรณีบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งท้ายสุดมีผลสรุปให้บริษัท แจส โมบายฯ ชดใช้เงินเพิ่มเติมกว่า 199.4 ล้านบาท
ส่วนพฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ นั้น คณะทำงานฯ มีความเห็นว่า ไม่ผิดปกติแต่อย่างใด ?
(อ่านประกอบ : อดีต ปธ.คณะทำงานฯสอบ‘แจส’ ยันดูละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติประมูล 4G, เบื้องหลัง! เปิดผลสอบคณะทำงานฯปมพฤติกรรมการประมูล 4G ‘แจส’ไม่ผิดปกติ)
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบเอกสารรายงานการประชุมของคณะทำงานฯ พบว่ามีการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวในการประชุม แค่ไม่กี่ครั้งเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะหารือกันในประเด็นเรื่องค่าความเสียหายมากกว่า
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบเอกสารรายงานการประชุมของคณะทำงานฯ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด 7 ครั้ง ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-24 พ.ค. 2559 พบรายละเอียดในส่วนของการหารือเกี่ยวกับประเด็นพฤติกรรมการประมูล สรุปได้ ดังนี้
ในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2559 ฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอความเห็นของนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กทค. และกรรมการ กสทช. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2559 (ภายหลังกำหนดบริษัท แจส โมบายฯ ผิดนัดชำระเงินค่าใบอนุญาต 1 วัน) ที่ระบุว่า ควรให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของบริษัท แจส โมบายฯ ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ในประเด็นดังต่อไปนี้
1.พฤติกรรมของบริษัทที่เสนอราคาในคลื่นความถี่ชุดที่ 1 อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการประมูล ไม่เว้นแม้แต่ในครั้งที่บริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลชั่วคราวสำหรับชุดคลื่นความถี่ดังกล่าวแล้วก็ตาม
2.แหล่งเงินทุนและแผนการเงินการลงทุนของบริษัท แจส โมบายฯ เนื่องจากมีทุนจดทะเบียนเพียง 350 ล้านบาท และมีการเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ได้ขอให้ธนาคารกรุงเทพค้ำประกันโดยมีการประเมินวงเงินกู้ไว้เพียง 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งอาจยังไม่มีแหล่งเงินทุนที่ชัดเจนแน่นอน และอาจไม่เพียงพอต่อการประมูลคลื่นความถี่ในมูลค่าเท่าที่ประมูลได้
3.พฤติการณ์หลังการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ ที่มีการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2558 ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท และเสนอซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นเป็นการทั่วไปในราคา 5 บาท/หุ้น
หลังจากนั้นตัวแทนจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในคณะทำงานฯ มีข้อซักถามว่า คณะทำงานฯ จะต้องพิจารณาว่า การกระทำของบริษัท แจส โมบายฯ ว่าเป็นพฤติกรรมที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ฮั้ว หรือไม่ อย่างไร
ฝ่ายเลขานุการฯ ระบุว่า เนื่องจากคณะทำงานฯชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาความรับผิดของบริษัท แจส โมบายฯ ในทุกประเด็น ทั้งในส่วนที่เป็นความรับผิดทางแพ่งและทางอาญา โดยความเสียหายทางอาญานั้นมีความเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ฮั้ว ตามที่นายประวิทย์ ได้ตั้งข้อสังเกต ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะทำงานฯ ว่าจะพิจารณากำหนดประเด็นอย่างไร
นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต (ขณะนั้น) ประธานคณะทำงานฯ ระบุว่า ความเห็นของนายประวิทย์ อาจนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาต่อไป โดยอาจขอความร่วมมือกับสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการให้ข้อมูลเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดีนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. สายงานโทรคมนาคม หนึ่งในคณะทำงานฯ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. เคยแต่งตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz และ 900 MHz เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และร่วมเข้าสังเกตการณ์กระบวนการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้การประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการธรรมาภิบาลฯ ได้ตรวจสอบทั้งก่อนการประมูล ระหว่างการประมูล และหลังการประมูล จนถึงในขั้นตอนการรับรองผลการประมูลเท่านั้น โดยมีการรับรองแล้วว่า การดำเนินการระหว่างประมูลนั้น มีธรรมาภิบาลที่เหมาะสมโปร่งใส ทั้งนี้คณะทำงานฯชุดนี้ จะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการในช่วงต่อจากคณะกรรมการธรรมาภิบาลฯ คือพิจารณาตรวจสอบในขั้นตอนภายหลังการรับรองผลการประมูลแล้ว
ส่วนนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ให้ข้อมูลและข้อสังเกตเพิ่มเติม สรุปได้ว่า
1.การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ผ่านมา มีการเสนอราคากันสูงมาก เมื่อเทียบกับการประมูลคลื่น 1800 MHz เนื่องจากในทางเทคนิคแล้ว คลื่นความถี่ 900 MHz เป็นคลื่นที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า และใช้เงินลงทุนในการสร้างโครงข่ายต่ำกว่าเมื่อเทียบกับคลื่นความถี่ 1800 MHz
2.ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นฮั้วประมูลตาม พ.ร.บ.ฮั้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐซื้อของ โดยรัฐจะต้องซื้อของดีราคาถูก มาปะปนกับกรณีการประมูลคลื่นความถี่ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐขายของ โดยรัฐจะต้องขายของให้ได้ราคาสูงสุดจึงจะเป็นประโยชน์มากที่สุด ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่ทำให้สังคมทั่วไปมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน
3.มีข้อสังเกตว่า การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ผ่านมา มีการเคาะราคากันตลอดเวลา ทั้งที่บางบริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลชั่วคราวไปแล้ว ก็ยังเคาะราคาต่อไปอีก อาจเป็นผลมาจากผู้เข้าร่วมประมูลมีประสบการณ์ประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่มีมูลค่าถึงกว่า 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในช่วงแรกของการประมูลจึงมีการเคาะราคาเรื่อย ๆ เพื่อไล่ราคาให้ไปถึงมูลค่าของคลื่นความถี่ 1800 MHz เพื่อความรวดเร็วในการประมูล ดังนั้นคณะทำงานฯ จึงควรดูพฤติกรรมการเคาะราคาหลังราคา 4 หมื่นล้านบาทไปแล้ว ซึ่งจะเป็นการเคาะราคาที่มีนัยสำคัญ
ท้ายสุดที่ประชุมคณะทำงานฯ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง และกำหนดประเด็นและกรอบการพิจารณาของคณะทำงานฯ โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งคือวิเคราะห์ และพิจารณาพฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ ว่าเป็นไปโดยปกติหรือไม่อย่างไร
พร้อมกันนี้คณะทำงานฯ ขอให้จัดเตรียมเอกสารการประมูลทั้งหมด และให้เรียกบริษัท แจส โมบายฯ มาชี้แจงข้อเท็จจริงกับคณะทำงานฯด้วย
นี่เป็นเพียง ‘ก้าวแรก’ ของวงประชุมที่เริ่มดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ของบริษัท แจส โมบายฯ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูในขณะนั้น
โดยปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา บริษัท แจส โมบายฯ คณะกรรมการ กทค. เลขาธิการ กสทช. และรองเลขาธิการ กสทช. สายงานโทรคมนาคม แล้ว
ล่าสุด นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ต้องขอดูในรายละเอียดก่อนว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับที่เคยมีผู้มาร้องก่อนหน้านี้หรือไม่ หากเป็นเรื่องเดียวกันอาจดำเนินการรวมข้อมูลเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ปัจจุบันยังไม่ทราบว่ามีการดำเนินการถึงขั้นตอนไหนแล้ว
ส่วนบทสรุปที่ว่าไฉนคณะทำงานฯ จึงมีมติเห็นว่าพฤติกรรมของบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ผิดปกติ
โปรดติดตามในตอนต่อไป !
อ่านประกอบ :
เปิดคำตอบ 3 รัฐวิสาหกิจปมถูก‘แจส’ อ้างขอเช่าเสาโทรคมนาคมลงทุน 4G
เบื้องหลัง! เปิดผลสอบคณะทำงานฯปมพฤติกรรมการประมูล 4G ‘แจส’ไม่ผิดปกติ
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
กสทช.ชงข้อมูล‘แจส โมบายฯ’ให้ ก.ล.ต. สอบต่อปมประมูล 4G
เลขาฯ กสทช.เปิดช่องชง ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯสอบ‘แจส’ปมประมูล 4G
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
2 เงื่อนปมร้อนชง ป.ป.ช.สอบ ‘แจส’ กีดกันเสนอราคา-เอื้อเอกชนประมูล 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
เปิดเบื้องหลังไฉนแบงก์กรุงเทพไม่ปล่อยกู้‘แจส’ 4 หมื่นล.จ่ายค่าประมูล 4G
โชว์หลักฐาน‘แจส’เคาะราคาสู้ตัวเอง 2 พันล.ก่อนถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมประมูล 4G
ก.ล.ต.สั่งบริษัทลูก‘แจส’แจงปมไฟเขียวจ่ายเงินปันผล-อาจเอื้อ‘พิชญ์ โพธารามิก’
เปิดเครือข่ายธุรกิจกลุ่มโพธารามิก ‘จัสมิน-โมโน-แจส โมบาย’ 44 บริษัท 4.5 หมื่นล.
เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ
เจาะกระเป๋า 'แจสโมบาย' มีเงินฝากธ.กรุงเทพ4.6พันล.ก่อนทิ้งคลื่น900
เปิดคำสั่งคณะทำงานลุยสอบ'แจส' เอาผิด-ลงโทษปมไม่จ่ายค่าประมูล 4G
กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ"แจสโมบาย"เคาะราคาประมูลคลื่น 900 เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วหรือไม่
คำถามถึง ก.ล.ต."แจสโมบาย"ถูกยึดเงิน 644ล้าน ฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์หรือไม่?
ชะตากรรม"แจสโมบาย"จะโดนแค่คดีแพ่ง หรือพ่วงคดีอาญา?
หมายเหตุ : ภาพประกอบฉากงานประมูลคลื่น 900 MHz จาก pantip