ทางเลือก/ทางรอดของสื่อไทยยุค 4.0
“สื่อที่มาแรงคือ social media สะท้อนถึงการมีเสรีภาพในการสื่อสารสูงมาก แล้วการดูแลกำกับให้เกิดความรับผิดชอบได้อย่างไร เช็คก่อนแชร์ ตรวจก่อนเผยแพร่ออกไป ซึ่งเราไม่ได้ระวังเพราะกำลังมันกับกระแส กับเรื่องราวที่กำลังเสนออยู่ และก็แชร์โดยไม่มีการตรวจสอบ”
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธินิเทศศาสตร์ บำรุงสุข สีหอำไพ คณะนิเทศศาสตร์ และสมาคมนิสิตเก่านิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน Dinner Talk บทบาทสื่อมวลชนยุคใหม่กับการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ณ โรงแรมอโนมาแกรนด์ กรุงเทพ โดยม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน
ตอนหนึ่ง ม.ล.ปนัดดา ได้หยิบยกพระราชดำรัสคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตอนหนึ่ง “เมื่อเรามีความรู้ เราจะเกิดความเข้าใจ เมื่อเรามีความรักเราจะสามารถเข้าถึงได้ และเมื่อเรามีความสามัคคี ครอบครัว องค์กร สังคม ชาติบ้านเมืองก็จะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน”
พระราชดำรัสคำสอนนี้ ม.ล.ปนัดดา ระบุว่า อยากให้สื่อมวลชนสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านให้จงได้ ขณะเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ มีข้อห่วงใยที่อยากฝากให้สื่อมวลชนจะช่วยกันอย่างไรให้คนในชาติไม่แบ่งแยก เป็นฝักฝ่าย ทำอย่างไรสถาบันสื่อมวลชนจะเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นโรงเรียนให้กับคนในชาติ
“นายกฯ ขอความร่วมมือร่วมใจพี่น้องสื่อมวลชน ทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางในสื่อสารกับมวลชน หรือกับสถาบันต่างๆ ในสังคมเกิดความรอบรู้ ให้เกิดความเข้าใจ ความรับผิดชอบ ความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะกับโซเชี่ยลมีเดียที่วันนี้ สื่อสารแบบขาดความรับผิดชอบ ให้ร้ายป้ายสี
หากการใช้ social media เป็นไปในภาพที่ก่อให้เกิดความรักสามัคคี ก็จะเป็นประโยชน์กับรุ่นต่อไป เช่น การโพสต์ข้อความรูปภาพแต่ละครั้งต้องคิดให้รอบคอบ ถี่ถ้วน มีความรับผิดชอบ รวมถึงการแชร์อะไรก็แล้วแต่ด้วย ซึ่งสังคมนี้ต้องช่วยกันสร้างความตระหนักและรับรู้ให้จงมาก”
ม.ล.ปนัดดา ชี้ว่า ประเทศไทย 4.0 จะเกิดขึ้นได้สมบูรณ์ สถาบันสื่อมวลชนจึงมีบทบาทสำคัญ เป็นเข็มทิศนำสังคมไทยสู่ความสำเร็จได้
โลก 4.0 Fourth Industrial Revolution เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทครอบงำในเรื่องพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ในสังคมที่คนกับเทคโนโลยีไม่สามารถแยกออกจากกันได้ มนุษย์จากนี้ไป เรียกว่า Digital humanities
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มองว่า วันนี้ทุกคนมีอิสระมากขึ้น พร้อมๆ กันนั้น ยิ่งจำเป็นต้องพึ่งพิงกันมากขึ้น บริบทของการสื่อสารมวลชน จะเปลี่ยนแปลงเรื่องเนื้อหา นำเสนออย่างไร เพราะการสร้างองค์ความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว อนาคตการอยู่ในโลกอย่างมีความหมาย ต้องสร้างนัยยะของสิ่งที่จะสื่อออกไปด้วย (อ่านประกอบ:ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เปิดแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 สร้างเมล็ดพันธุ์ชุดใหม่ให้มีรากแก้ว)
ถึงเวลาสื่อทำหน้าที่ให้ความรู้คน
ด้านรศ.ดร.จุมพล รอดคำดี ประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอส ยืนยันว่า ความรับผิดชอบของสื่อ เป็นประเด็นของสังคม ที่ประชาชนตั้งคำถาม จนต้องมีการปฏิรูป ขณะที่สื่อในยุคปัจจุบันก็ควบคุมยาก แล้วเราจะดูแลกันอย่างไร
“สื่อที่มาแรงคือ social media สะท้อนถึงการมีเสรีภาพในการสื่อสารสูงมาก แล้วการดูแลกำกับให้เกิดความรับผิดชอบได้อย่างไร เช็คก่อนแชร์ ตรวจก่อนเผยแพร่ออกไป ซึ่งเราไม่ได้ระวัง เพราะกำลังมันกับกระแส กับเรื่องราวที่กำลังเสนออยู่ แชร์โดยไม่มีการตรวจสอบ”
คำถามที่ว่า แล้วสังคมจะช่วยกันอย่างไร นักวิชาการนิเทศศาสตร์ สะท้อนว่า สมาคมวิชาชีพสื่อทั้งหลายก็ไม่สามารถก้าวตามได้ทัน แต่สังคมจะเซ็นเซอร์กันในตัวเมื่อใครพูดสิ่งไม่จริง คนรู้เรื่องจริงจะกระโดดเข้ามา บอก
“ผมว่า มันกำลังเกิดเป็นปัญหาสังคม ที่เราต้องพูดว่า เราจะใช้สื่อไปแบบนี้หรือ ไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) เลยหรือ เรามีสมาคมวิชาชีพสื่อ มีผู้ประกอบการทางวิชาชีพดูแล แต่วันนี้เราทำอย่างไรให้คนเกิดความสำนึก เกิดการตระหนักว่า การพูดอะไรออกไปต้องรับผิดชอบอย่างไร”
รศ.ดร.จุมพล มองว่า ในยุค 4.0 ยุคที่เราพยายามหานวัตกรรมตรวจเช็ค เช่น เรื่องการโกง การลอกบทความ วิทยานิพนธ์ มีกระบวนการตรวจสอบที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อจับผิด แต่นวัตกรรมจับผิดใน social media จะทำอย่างไร ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ตัวเอง หากคุณไม่มีเหตุมีผล ไม่มีหลักฐาน ไม่สามารถพิสูจน์อ้างอิงได้ ก็ไม่ควรพูดออกไป
การต่อสู้กับกระแสการใช้สื่อโดยขาดความรับผิดชอบ รศ.ดร.จุมพล บอกว่า คงต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ถึงเวลาที่สื่อต้องทำหน้าที่ให้ความรู้คน นำทาง ไม่ใช่แค่รายงานข่าวสารไปมาอย่างเดียว สื่อต้องเพิ่มความรู้ เพิ่มสติปัญญา เพิ่มการศึกษาให้กับคน เชื่อว่าท้ายสุด คนไทยก็จะใช้วิจารณญาณ
"ทางเลือก ทางรอดของสื่อ สื่อต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนดู คนอ่าน คนฟัง ทำให้เขาเชื่อสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ต้องช่วยกันนำเสนอสิ่งที่อยู่บนตรรกะ ความมีเหตุมีผล"
แยกแยะเสียงที่มีเหตุมีผลออกจากเสียงอื้ออึง
นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงภารกิจสำคัญมากของสื่อกระแสหลักทำอย่างไรให้เป็นเสาหลัก ของการตรวจสอบข้อมูล ค้นหาความจริง โดยสังคมเชื่อว่า สื่อเหล่านี้มีคุณค่ามากกว่าสื่อโจมตี กล่าวหากันในโลก
“สื่อกระแสหลักต้องแยกแยะเสียงที่มีเหตุมีผลออกจากเสียงอื้ออึง หมายความว่า สื่อกระแสหลักต้องถอยออกมาทำหน้าที่ของตนเอง มีภารกิจทำหน้าที่ตรวจสอบแทนสังคม ให้ข้อเท็จจริง ทำให้สังคมฉลาดขึ้น”
ประเทศไทยมีทีวีดิจิทัลเพิ่มมา 24 ช่อง มีสื่อใหม่เกิดขึ้นเป็นแสนๆ หมื่นๆ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตั้งคำถาม สังคมไทยน่าจะดีขึ้น ฉลาดขึ้น แล้วเราจะมีสื่อมากขึ้นไปทำอะไรขณะที่สังคมงมงายมากขึ้น ทะเลาะกันมากขึ้น เชื่อในสิ่งไร้สาระมากขึ้น
“ผมเชื่อมั่นมาตลอด สังคมมีสื่อที่หลากหลาย ก็จะมีทางเลือกเสพสื่อ รู้เท่าทัน แต่ขณะนี้ยังไม่เกิด เป็นเพราะว่า โชคร้ายที่บ้านเรายังโชคร้ายที่ทีวีดิจิทัลเกิดช้าไป 20 ปี เกิดยุคที่ประชาชนไทยมีทางเลือกเสพสื่อเต็มไปหมดแล้ว ไม่มีใครพึ่งทีวีอีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นวัฒนธรรมการเสพสื่อเปลี่ยนไปมาก สื่อกระแสหลักต้องปรับตัวให้รองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ตัวเองมีความหมายต่อไป”
"บิดแกน" นำเสนอเนื้อหาสร้างสรรค์ได้
นางสาวกนกพร ปรัชญาเศรษฐ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาสื่อ Sanook.com ระบุว่า วันนี้ไม่เพียงสื่อกระแสหลักเจอกับดัก สื่อออนไลน์เองก็เจอกับดัก เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ สร้างสื่อได้ ผ่านช่องทาง social media
"ยุค 4.0 เราอยากวางรากแก้วบริบทของสื่อดิจิทัลให้เหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งการตรวจสอบต้องมีคนมอนิเตอร์ดีๆ สำหรับการป้องกันเนื้อหาที่ไม่มีที่มาที่ไปได้หรือไม่ ตอบเลยว่ายาก วันนี้เขียนอะไรก็ได้ หากโดนใจคน จี้ใจ คนก็จะนำไปแชร์ ไปขยี้ต่อ"
สุดท้าย หัวหน้าฝ่ายพัฒนาสื่อ Sanook.com เสนอสิ่งที่สื่อออนไลน์สามารถสร้างสรรค์ได้เวลาเกิดประเด็นอ่อนไหวทางสังคม คือ อยากให้สื่อออนไลน์ "บิดแกน" เนื้อหาที่นำเสนอให้สร้างสรรค์ โดยสามารถฉวยโอกาสให้ความรู้กับเรื่องในกระแสได้อีกทาง
|