นักวิชาการรุมยำนโยบายคุมราคาไข่ หวั่นเกษตรรายย่อยเจ๊ง
นักวิชาการเอ๊กบอร์ดแย้งนโยบายไข่ชั่งกก. แก้ปัญหาชั่วคราว คนกินจ่ายถูก-เกษตรกรเดือดร้อนเพราะต้นทุนสูง ส.สัตวบาลเสนอระยะยาวเพิ่มบริโภคในประเทศ-ส่งออก-สร้างความมั่นคงผู้เลี้ยง กรมปศุสัตว์ชี้คนไทยกินไข่ไก่น้อย-ผลผลิตด้อยคุณภาพ เสนอพัฒนาตั้งแต่ฟาร์มถึงระบบตลาด
วันที่ 3 ก.พ. 54 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดบรรยายพิเศษ “ทางออกอุตสาหกรรมไก่ไข่...ใครถาม-ใครตอบ...อย่างไร” โดย ดร.วิชัย เตชะวัฒนานันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์(Egg Board) กล่าวถึงการกำหนดให้ไข่เป็นสินค้าควบคุมตามแนวทางการแก้ปัญหาราคาไข่ของรัฐบาลว่า โดยพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจการกำหนดสินค้าควบคุมน่าจะเป็นสินค้าขาดแคลนที่อาจต้องจัดการเรื่องราคาให้ผิดจากกลไกตลาดปกติ และไข่ไก่ก็ไม่ควรจัดเป็นสินค้าประเภทดังกล่าว เนื่องจากมีวงจรขึ้นลงจากปัจจัยต้นทุนการผลิต
ดร.วิชัย กล่าวต่อไปว่า หากจัดประเภทผู้เลี้ยงไก่ไข่จะมี 4 ส่วนคือ ภาคบริษัท เกษตรกรรายใหญ่ กลาง และเกษตรกรรายย่อย ส่วนของบริษัทไม่ต้องสนใจเพราะมีทุกอย่างครบวงจรไม่ว่าจะเป็นเงิน เทคโนโลยี บุคลากร ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดก็จะปรับตัวได้ เกษตรกรรายใหญ่ก็ไม่ต้องห่วงเพราะอิงกับริษัทอยู่แล้ว แต่ 2 กลุ่มหลังซึ่งมีจำนวนมากถึงร้อยละ 70 น่าห่วงมากที่สุด
“ต่อไปปรากฏการณ์เอลนิโญและลาณิญ่าจะทำให้ผลผลิตเกษตรเสียหาย วัตถุดิบอาหารสัตว์จะแพงขึ้น โรคระบาดต่างๆที่เข้ามาล้วนมีผลต่อต้นทุนการผลิต หากรัฐบาลคิดว่าควบคุมราคาเพื่อช่วยผู้บริโภคไม่ให้จ่ายแพง ก็ต้องไม่ลืมว่าหากต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรรายย่อยพวกนี้จะอยู่อย่างไร”
ผู้ทรงคุณวุฒิจากเอ้กบอร์ด กล่าวต่ออีกว่า รัฐควรทำหน้าที่ดูแลมาตรการต่างๆที่เอื้อต่อการการแก้ปัญหาระยะยาวมากกกว่าเข้ามากำกับควบคุมด้านราคาเท่านั้น การมองแค่จุดเดียวว่าวันนี้ราคาไข่แพง แล้วเหมารวมว่าต้องควบคุมราคาไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดีนัก
นายชยานนท์ กฤตยาแชวง นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไก่ไข่ถูกวิจารณ์มาโดยตลอด การแก้ปัญหาส่วนใหญ่ก็มีลักษณะขายผ้าเอาหน้ารอดที่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง โดยไม่คิดให้ลึกว่าต้นตอแท้จริงอยู่ที่ไหน
“กลไกที่รัฐทำเพื่อไม่ให้ราคาไข่แพงเกินไป เป็นการแก้สถานการณ์สั้นไม่ให้กระทบผู้บริโภค แก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้ เพราะสาเหตุหลักของปัญหาไข่อยู่ที่จำนวนผู้บริโภค อย่างไข่ธงฟ้า ลดราคาไข่แต่ก็เพิ่มจำนวนผู้บริโภคไม่ได้ สะท้อนว่ารัฐบาลกำลังบริหารผิดพลาดหรือเปล่า”
นายกสมาคมสัตวบาลฯ เสนอทางออกระยะยาวคือ 1.เพิ่มการบริโภคและขยายตลาดส่งออก โดยรณรงค์การบริโภคภายใน พัฒนาระบบตลาดเพื่อรองรับการผลิต วิจัยและพัฒนาการแปรรูปไข่ไก่ โดยตั้งเป้าให้เพิ่มการบริโภคให้ได้ 200 ฟองต่อคนต่อปี 2.สร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่ ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่ม รวมทุนสร้างหลักประกันให้เกษตรกร และส่งเสริมหน่วยงานวิจัยพัฒนาพันธุ์และอาหารสัตว์ 3.สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคด้วยมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสินค้าไข่ไก่ โดยปรับปรุงการจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐาน ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ รวมถึงตรวจรับรองคุณภาพไข่ไก่
ผู้ช่วย ศ. ดร.เสกสม อาตมางกูร ผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ข้อมูลการบริโภคไข่ไก่ของไทยน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริโภคไม่ต่ำกว่า 250-300 ฟองต่อคนต่อปี สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่พบจากการวิจัยคือไข่ไก่ของไทยยังไม่ค่อยมีคุณภาพ การพัฒนาอุตสาหกรรมไข่ไก่จึงควรเน้นที่การพัฒนาคุณภาพตั้งแต่ต้นทางคือฟาร์มไปจนถึงกระบวนการทางการตลาด.