ก.ล.ต.ร้องดีเอสไอสอบอดีตผู้บริหาร ‘บล.คันทรี่กรุ๊ป’ใช้ชื่อคนอื่นจองหุ้น 42 ล.
ก.ล.ต. ร้องดีเอสไอสอบ ‘ชูพงศ์ ธนเศรษฐกร’ อดีตผู้บริหาร ‘บล.คันทรี่กรุ๊ป’ พร้อมพวกรวม 3 ราย ฐานใช้ชื่อคนอื่นจองหุ้นเพื่อประโยชน์ตัวเอง 42 ล้าน ถูกห้ามดำรงตำแหน่งเป็น กก.บริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีกล่าวหานายชูพงศ์ ธนเศรษฐกร อดีตกรรมการผู้จัดการสายวาณิชธนกิจ ของบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายชาญชัย ผิวเหลืองสวัสดิ์ และนางอรพิมล ผิวเหลืองสวัสดิ์
โดย ก.ล.ต. ตรวจสอบก่อนหน้านี้พบว่า กรณีการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนในครั้งแรก (IPO) ของบริษัท ทาคูนิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TAKUNI และบริษัท ซีซีเอ็น-เทค จำกัด (มหาชน) หรือ CCN ในช่วงปลายปี 2557 นายชูพงศ์ ซึ่งเป็นผู้บริหาร บล.คันทรี่กรุ๊ป ที่รับผิดชอบการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของ TAKUNI และ CCN ในขณะนั้น ได้ใช้ชื่อของบุคคลอื่นในการจอง และรับจัดสรรหุ้นในส่วนของผู้มีอุปการคุณของ TAKUNI และ CCN แทนตนเอง ซึ่งตามหลักเกณฑ์ไม่อนุญาตให้มีการจำหน่ายหรือจัดสรรหลักทรัพย์ให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้กรรมการ หรือผู้บริหาร ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการจัดสรรหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้น การที่นายชูพงศ์ นำชื่อของบุคคลอื่นมารับจัดสรรหุ้นเพื่อตนเอง และได้รับผลประโยชน์รวมเป็นเงินกว่า 42 ล้านบาท จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยมีนายชาญชัย และนางอรพิมล ช่วยเหลือสนับสนุน
การกระทำของนายชูพงศ์ นายชาญชัย และนางอรพิมล ผิดตามมาตรา 311 และมาตรา 315 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ บล. คันทรี่กรุ๊ป เป็นบริษัทจดทะเบียน นายชูพงศ์จึงมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 281/2 วรรค 2 แห่งกฎหมายฉบับเดียวกัน ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษผู้กระทำผิดทั้ง 3 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ
นอกจากนี้ การถูกกล่าวโทษเนื่องจากการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ทำให้นายชูพงศ์เข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน และมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ หรือบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษ
ทั้งนี้ การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม