เปิดคำตอบ 3 รัฐวิสาหกิจปมถูก‘แจส’ อ้างขอเช่าเสาโทรคมนาคมลงทุน 4G
เปิดคำชี้แจง ‘CAT-TOT-กฟภ.’ ปมถูก ‘แจส โมบายฯ’ อ้างขอเช่าเสาโทรคมนาคมเพื่อเตรียมลงทุน 4G พบทำหนังสือแจ้งขอเช่าเสาจริง แต่เงียบหายไปช่วงเดือน มี.ค. 59 ก่อนทิ้งคลื่น ส่วน กฟภ. ตรวจสอบย้อนหลังพบ ลงพื้นที่แค่อำเภอเดียวแล้วเงียบไปตั้งแต่ ม.ค. 59
กรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรองเลขาธิการ กสทช. ฝ่ายโทรคมนาคม ถูกร้องเรียนกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบพฤติกรรมการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz อาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) หรือไม่ กำลังถูกจับตาจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง
แต่ภายหลังดูรายละเอียดผลการสอบข้อเท็จจริง ของคณะทำงานพิจารณาความรับผิดชอบ กรณีบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz พบว่า ยังมีข้อสงสัยอีกหลายประการที่คณะทำงานฯ ไม่ได้ตรวจสอบให้ละเอียด หรือครบถ้วน ?
โดยเฉพาะในพฤติกรรมการการเคาะราคาการประมูลคลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 ของบริษัท แจส โมบายฯ ที่เคาะราคาสู้ราคาตัวเองทั้งที่เป็นผู้ชนะการประมูลชั่วคราวแล้วสูงกว่า 2 พันล้านบาท จนราคาสุดท้ายไปอยู่ที่ 75,654 ล้านบาท แต่ท้ายสุดบริษัท แจส โมบายฯ กลับ ‘ทิ้งคลื่น’ ยอมถูกริบเงินประกัน 644 ล้านบาท และโดนเรียกค่าเสียหาย 199.4 ล้านบาท เป็นต้น
ซึ่งปัจจุบัน กสทช. ได้ส่งรายละเอียดข้อมูลให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไปดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมแล้ว
(อ่านประกอบ : กสทช.ชงข้อมูล‘แจส โมบายฯ’ให้ ก.ล.ต. สอบต่อปมประมูล 4G)
ท่ามกลางความสงสัยของหลายคนที่มองว่า บริษัท แจส โมบายฯ ตั้งใจเข้ามาประกอบธุรกิจนี้จริงหรือไม่ ?
เพราะในผลสอบของคณะทำงานฯ นายพิชญ์ ได้ให้ถ้อยคำชี้แจงยืนยันว่า ได้ติดต่อธนาคารกรุงเทพไว้ก่อนแล้ว ทว่า ‘ดีลล่ม’ ในช่วงท้าย เนื่องจากติดเงื่อนไขให้ค้ำประกันในนามส่วนตัว ก่อนจะได้รับการติดต่อจากกองทุนจากประเทศจีน ผ่านธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง)
แต่ตัวแทนของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ชี้แจงสวนทางกับนายพิชญ์ ที่ยืนยันว่า ธนาคารไอซีบีซี (ปักกิ่ง) ไม่ได้แนะนำกองทุนนี้ให้กับบริษัท จัสมินฯ (บริษัทแม่ แจส โมบายฯ) แต่อย่างใด และเป็นการหารือเบื้องต้น ไม่มีหลักฐานติดต่อกันด้วย
(อ่านประกอบ : ชัด ๆ ล้วงคำชี้แจง‘แบงก์ไอซีบีซี’สวนทาง‘พิชญ์’ปมพันธมิตรธุรกิจลงทุน 4G)
มาดูคำชี้แจงของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ถูกบริษัท แจส โมบายฯ อ้างว่า ติดต่อไปเพื่อดำเนินการขอเช่าเสาสัญญาณเตรียมพร้อมดำเนินการกิจการ 4G กันบ้าง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปรายละเอียดคำชี้แจงของทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าว ดังนี้
CAT
มีนายสงบ สังขจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ นายไพศาล รัตนนาคินทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการและบำรุงรักษาสื่อสารไร้สาย นายพรพิชาติ ภู่ธงแก้ว ผู้จัดการฝ่ายขายส่งบริการสื่อสารไร้สาย และนายจงเจริญ ทองประดิษฐ์ ผู้จัดการส่วน เป็นผู้มาชี้แจง มีรายละเอียด ดังนี้
บริษัท แจส โมบายฯ มีหนังสือมาสอบถาม CAT เพื่อขอสำรวจสถานีฐานของ CAT เพื่อทำการออกแบบสำหรับติดตั้งสายอากาศและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขอร่วมใช้เสาโทรคมนาคม เนื่องจากบริษัท แจส โมบายฯ เป็นผู้ชนะการประมูล จึงมีความประสงค์ที่จะเจรจาเป็นการเร่งด่วน และมีกำหนดการประชุมทุกวันพฤหัสบดี
ต่อมาบริษัท แจส โมบายฯ ได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอใช้เสาโทรคมนาคม (Tower) ของ CAT จำนวน 500 สถานี พร้อมแนบแบบสถานีที่ได้สำรวจมาด้วย นอกจากนี้บริษัท แจส โมบายฯ ยังมีความประสงค์จะร่วมมือกับ CAT ในการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้โครงข่ายโทรคมนาคม จึงเสนอทำสัญญาขอใช้บริการโรมมิ่งจาก CAT (NDA Roaming บน 3G) ต่อมาจึงได้มีการต่อรองค่าเช่าเสา โดยทั้งสองฝ่ายได้ข้อยุติในค่าใช้จ่ายการเช่าเสา แต่ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องของการโรมมิ่ง จึงมีการเริ่มร่างสัญญาเช่าเสา โดยสรุปแล้ว มีการประชุมร่วมกันทั้งหมดจำนวน 12 ครั้ง
โดยการประชุมร่วมกันครั้งสุดท้ายประมาณวันที่ 5 มี.ค. 2559 หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่ออีก คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากบริษัท แจส โมบายฯ มีปัญหาเรื่องการหาผู้สนับสนุนทางการลงทุน
TOT
มีนางดวงใจ ธรรมโชติโก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักขายภาคเอกชน นางวรพรรณ จริยเศรษฐพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายขายผู้ประกอบการโทรคมนาคม และนายประภพ เด่นวุฒิวรกาญจน์ ผู้จัดการส่วนฝ่ายขายผู้ประกอบการกระจายเสียงและภาพ เป็นผู้มาชี้แจง มีรายละเอียด ดังนี้
บริษัท แจส โมบายฯ มีหนังสือลงวันที่ 28 ธ.ค. 2558 ถึง TOT ขอเช่าใช้อุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมของ TOT ต่อมา TOT ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการขอเช่าใช้อุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมกับบริษัท แจส โมบายฯ หลังจากนั้นประมาณปลายเดือน ม.ค. 2559 TOT ได้นำส่งหนังสือสรุปรายการเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม และทรัพย์สินอื่นที่จำเป็น รวมถึงการเสนอราคา เพื่อให้บริษัท แจส โมบายฯ พิจารณา ประกอบการขอเช่าใช้ ซึ่งบริษัท แจส โมบายฯ ได้แจ้งความสนใจในการขอใช้ทรัพย์สินจาก TOT หลายรายการ เช่น เสาโทรคมนาคม การใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ (Roaming) ท่อร้อยสาย เป็นต้น
โดยได้รับการติดต่อจากบริษัท แจส โมบายฯ ครั้งสุดท้ายประมาณวันที่ 16 มี.ค. 2559 หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่ออีก คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากบริษัท แจส โมบายฯ มีปัญหาเรื่องการหาผู้สนับสนุนทางการลงทุน
กฟภ.
มีนายกิตติ สุกหอม รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนสารสนเทศและสื่อสาร นายณัฐพงศ์ โควาดิสัย รองผู้อำนวยการกองบริการสารสนเทศและสื่อสาร เป็นผู้มาชี้แจง มีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับขั้นตอนในการยื่นคำขอเข้าสำรวจพื้นที่และขอใช้เสาโทรคมนาคมและพื้นที่ว่างของ กฟภ. มี 3 ขั้นตอน ได้แก่
1.ผู้ยื่นคำขอจะต้องมีหนังสือถึง กฟภ.
2.กฟภ. จะมีหนังสือแจ้งไปยัง กฟภ. ทั้ง 12 เขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้แต่ละเขตพื้นที่พิจารณาอนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอเข้าสำรวจเสาโทรคมนาคมและพื้นที่ว่าง
3.หลังจากที่ผู้ยื่นคำขอเข้าสำรวจพื้นทีและมีคำขอใช้เสาโทรคมนาคมของ กฟภ. แล้ว กฟภ. จะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ในการพิจารณาอนุมัติใช้พื้นที่
4.ผู้ยื่นคำขอที่ได้รับอนุมัติใช้เสาโทรคมนาคมของ กฟภ. จะต้องเสียค่าธรรมเนียม โดยอัตราค่าใช้เสาโทรคมนาคมของ กฟภ. จะคำนวณจากความสูงติดตั้งสายอากาศ (เมตร) และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางจานสายอากาศ (เมตร) โดยแยกคำนวณตามประเภทของสายอากาศ เช่น สายอากาศชนิดจานทึบ สายอากาศชนิดจานตะแกรง สายอากาศทั่วไป เป็นต้น รวมถึงอัตราค่าบำรุงร่วมใช้พื้นที่ตามประเภทของที่ดินเป็นตารางเมตร/ปี อีกด้วย
สำหรับกรณีการขอเข้าสำรวจพื้นที่และขอใช้เสาโทรคมนาคมและพื้นที่ว่างของ กฟภ. ของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (ในเครือบริษัท จัสมินฯ) นั้น เริ่มจากที่บริษัท ทริปเปิลทีฯ มีหนังสือลงวันที่ 24 พ.ย. 2558 ถึง กฟภ. ขอเข้าสำรวจพื้นทีและขอใช้เสาโทรคมนาคมและพื้นที่ว่างเพื่อติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารไร้สายระบบ 4G ในพื้นที่ของ กฟภ. ทั่วประเทศ กฟภ. จึงมีหนังสือแจ้งไปยัง กฟภ. ทั้ง 12 เขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้แต่ละเขตพิจารณาอนุญาตให้บริษัท ทริปเปิลทีฯ เข้าสำรวจเสาโทรคมนาคมและพื้นที่ว่างในการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารเพื่อขอใช้บริการ
แต่จากการติดตามตรวจสอบ พบว่า บริษัท ทริปเปิลทีฯ ได้ติดต่อขอเข้าสำรวจพื้นที่จริงเพียงแค่ที่เดียวคือ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2559 โดยจนถึงปัจจุบัน กฟภ. ยังไม่เคยมีการอนุมัติให้บริษัท ทริปเปิลทีฯ ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารในสถานที่ของ กฟภ. แต่อย่างใด (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงอีกด้านจาก 3 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ถูกบริษัท แจส โมบายฯ อ้างถึง ในแผนการลงทุนประกอบธุรกิจ 4G ภายหลังเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นดังกล่าว ก่อนจะ ‘ทิ้งคลื่น’ และถูกสังคมตั้งคำถามจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดีกรณีนี้ยังอยู่ระหว่างร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงยังถือว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
เบื้องหลัง! เปิดผลสอบคณะทำงานฯปมพฤติกรรมการประมูล 4G ‘แจส’ไม่ผิดปกติ
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
กสทช.ชงข้อมูล‘แจส โมบายฯ’ให้ ก.ล.ต. สอบต่อปมประมูล 4G
เลขาฯ กสทช.เปิดช่องชง ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯสอบ‘แจส’ปมประมูล 4G
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
2 เงื่อนปมร้อนชง ป.ป.ช.สอบ ‘แจส’ กีดกันเสนอราคา-เอื้อเอกชนประมูล 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
เปิดเบื้องหลังไฉนแบงก์กรุงเทพไม่ปล่อยกู้‘แจส’ 4 หมื่นล.จ่ายค่าประมูล 4G
โชว์หลักฐาน‘แจส’เคาะราคาสู้ตัวเอง 2 พันล.ก่อนถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมประมูล 4G
ก.ล.ต.สั่งบริษัทลูก‘แจส’แจงปมไฟเขียวจ่ายเงินปันผล-อาจเอื้อ‘พิชญ์ โพธารามิก’
เปิดเครือข่ายธุรกิจกลุ่มโพธารามิก ‘จัสมิน-โมโน-แจส โมบาย’ 44 บริษัท 4.5 หมื่นล.
เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ
เจาะกระเป๋า 'แจสโมบาย' มีเงินฝากธ.กรุงเทพ4.6พันล.ก่อนทิ้งคลื่น900
เปิดคำสั่งคณะทำงานลุยสอบ'แจส' เอาผิด-ลงโทษปมไม่จ่ายค่าประมูล 4G
กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ"แจสโมบาย"เคาะราคาประมูลคลื่น 900 เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วหรือไม่