สิ่งพิมพ์เข้าขั้นวิกฤตแท้จริง!5ค่ายสื่อโชว์ตัวเลขไตรมาส3 ขาดทุนพรึบต่อเนื่อง
"..จากคำชี้แจงของค่ายสื่อที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจมีผลกระทบโดยตรงต่อการทำธุรกิจสื่อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ที่รายได้จากค่าโฆษณาลดลงอย่างมาก ขณะที่สื่อออนไลน์ และสื่อทีวี กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจสื่อยุคปัจจุบันอย่างมากเช่นกัน.."
ผ่านพ้นช่วงไตรมาส 3 (เดือน ก.ค.-ก.ย.) ของปี 2559 ไปแล้ว ขณะที่บริษัทเอกชนเจ้าของธุรกิจสื่อดังหลายค่ายที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เริ่มมีการทยอยเปิดเผยตัวเลขรายได้ธุรกิจออกมาเป็นทางการแล้ว
น่าสนใจว่า ผลประกอบการธุรกิจสื่อในช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นอย่างไรกันบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลงบการเงินของบริษัทเอกชนเจ้าของธุรกิจสื่อดัง ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 พบข้อมูลดังนี้
@ ค่ายเนชั่น หรือ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
แจ้งว่าในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 ขาดทุน 280,979,000 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า มีกำไร 15,601,000 บาท
ขณะที่ยอดรวมงบช่วง 9 เดือน ของปี 2559 แจ้งตัวเลขว่าขาดทุน 622,757,000 บาท เทียบกับช่วงปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า มีกำไร 34,011,000 บาท
ชี้ให้เห็นว่า ประสบปัญหาการขาดทุนอย่างมาก ขณะที่โครงสร้างการบริหารงานภายในของบริษัทก็ประสบปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดีระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นเก่ากับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ คือ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
@ ค่ายนิวส์ เน็ตเวิร์ค หรือ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัทแม่ของ สปริงนิวส์ และฐานเศรษฐกิจ)
แจ้งว่าช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 ขาดทุน 125,096,000 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า ขาดทุน 140,340,000 บาท
ขณะที่ยอดรวมงบช่วง 9 เดือน ของปี 2559 แจ้งตัวเลขว่าขาดทุน 394,129,000 บาท เทียบกับปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า ขาดทุน 452,949,000 บาท
ชี้ให้เห็นว่า ยังประสบปัญหาการขาดทุนอยู่ แต่ตัวเลขการขาดทุนเริ่มปรับลดลง
@ ค่ายมติชน หรือ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
แจ้งว่าในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 ขาดทุน 25,266,000 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า ขาดทุน 28,994,000 บาท
ขณะที่ยอดรวมงบช่วง 9 เดือน ของปี 2559 แจ้งตัวเลขว่า ขาดทุน 86,700,000 บาท เทียบกับช่วงปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า ขาดทุน 51,534,000 บาท
ชี้ให้เห็นว่า ยังคงประสบปัญหาการขาดทุนอยู่ แม้ว่าตัวเลขขาดทุนช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 จะมีจำนวนลดลงถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2558 แต่หากดูตัวเลขขาดทุนรวม 9 เดือน ช่วงปี 2559 จะพบว่ามีตัวเลขสูงกว่าช่วง 9 เดือนของปี 2558 เป็นวงเงินกว่า 30 ล้านบาท
@ค่ายโพสต์ หรือ บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน)
แจ้งว่าในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 ขาดทุน 6,988,000 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า ขาดทุน 64,862,000 บาท
ขณะที่ยอดรวมงบช่วง 9 เดือน ของปี 2559 แจ้งตัวเลขว่า ขาดทุน 150,697,000 บาท เทียบกับช่วงปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า ขาดทุน 205,274,000 บาท
ชี้ให้เห็นว่า แม้จะยังประสบปัญหาการขาดทุนอยู่ แต่การตัวเลขการขาดทุนเริ่มลดน้อยลงอย่างมาก เห็นได้จาก ช่วงตัวเลขไตรมาส 3 ที่ตัวเลขการขาดทุนลดเหลือแค่ 6.9 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันในปี 2558 ที่ตัวเลขการขาดทุนสูงถึง 64 ล้านบาท
@ ค่ายอมรินทร์ หรือ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน)
แจ้งว่าในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 ขาดทุน 126,260,000 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า ขาดทุน 142,262,000 บาท
ขณะที่ยอดรวมงบช่วง 9 เดือน ของปี 2559 แจ้งตัวเลขว่าขาดทุน 468,932,000 บาท เทียบกับช่วงปี 2558 แจ้งตัวเลขว่า ขาดทุน 379,001,000 บาท
ชี้ให้เห็นว่า ยังคงประสบปัญหาการขาดทุนอยู่
สำหรับคำชี้แจงผลประกอบการธุรกิจของไตรมาส 3 ปี 2559 ของ บริษัทเอกชนเจ้าของธุรกิจสื่อดัง ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มีดังนี้
บริษัท มติชนฯ แจ้งว่า สาเหตุที่ทำให้บริษัทฯ มีผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากตั้งแต่ปี 2558 อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยและทั่วโลกเข้าขั้นวิกฤตอย่างแท้จริง ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงิน โฆษณาในธุรกิจ”หนังสือพิมพ์” ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯ พยายามเร่งหาโอกาสในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวขึ้นเป็นผู้นำข่าวสารดิจิทัลอย่างครบวงจร ข่าวออนไลน์อันดับ 1 ของไทย รุกตลาดนิวมีเดียตอบสนองความต้องการข่าวสารยุคใหม่ที่ฉับไว โดยจะสังเกตเห็นได้ว่าผลประกอบการเฉพาะส่วนของไตรมาส 3 ประจำปี 2559 บริษัทฯ มีผลประกอบการขาดทุนลดลง
สอดคล้องกับเหตุผลของ บริษัท โพสต์ พับลิชชิงฯ ที่ระบุว่า รายได้จากการขายและบริการที่ลดลง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากรายได้ค่าโฆษณาที่ลดลงของหนังสือพิมพ์ นิตยสารของกลุ่มบริษัท โดยสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบกับการใช้จ่ายงบโฆษณาของบริษัทต่างๆ ในขณะที่รายได้ผลิตรายการโทรทัศน์เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากบริษัท มัชรูม เทเลวิชั่น ได้เข้ามาเป็นบริษัท ย่อยของกลุ่มบริษัทโพสต์พับลิชชิงฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2558
เช่นเดียวกับ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดียฯ ที่ชี้แจงว่า รายได้จากการขายและบริการสําหรับงวด 9 เดือนของปี 2559 ลดลงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบทําให้รายได้จากการขายโฆษณาลดลงร้อยละ 32 และรายได้จากการจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์พ๊อคเก็ตบุ๊คส์ การ์ตูนและหนังสือเด็กลดลงร้อยละ 18 ส่วนต้นทุนและค่าใช้จ่ายสำหรับงวด 9 เดือนของปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 เหตุผลหลักมาจาก
-ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลงร้อยละ 4 ซึ่งสอดคล้องกับรายได้จากการขายและบริการที่ลดลง
- ผลขาดทุนจากการปรับโครงสร้างการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้นจำนวน 204.45 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทย่อยมีการปรับโครงสร้างการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป บริษัทย่อยดังกล่าวได้บันทึกสำรองค่าเผื่อมูลค่าสินค้าลดลงและตัดจำหน่ายลิขสิทธิ์สำหรับสิ่งพิมพ์ สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2559 ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันจำนวน 193.48 ล้านบาท และ 10.97 ล้านบาท
ส่วนคำชี้แจงของฝั่ง อมรินทร์ ระบุว่า สำหรับไตรมาส 3 ปี 2559 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 492.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 11.82 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.46 ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นผลจากงานรับจ้างพิมพ์เพิ่มขึ้น ร้อยละ20.61และธุรกิจจัดงานแสดงเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.13
นอกจากนี้ ในส่วนของรายได้จากธุรกิจทีวีดิจิทัล ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อย มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 270.44 ซึ่งเป็นผลจากช่องอมรินทร์ทีวีเอชดี ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ในช่วง 10 อันดับแรกจากการจัดอันดับคะแนนความนิยมของกลุ่มผู้ชมทั่วไประเทศ ในช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ระหว่างช่วงเวลา 06.00-24.00 น.
ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2559 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,249.09 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 75.55 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.70 ซึ่งเป็นผลการลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 นอกจากนี้ บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น ในส่วนของธุรกิจทีวีดิจิทัล ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทฯย่อย โดยรายได้ของธุรกิจทีวีดิจิทัลมีการขยายตัวร้อยละ 149.22จากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ จากคำชี้แจงของค่ายสื่อที่แจ้งต่อตลาดทรัพย์ฯ ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจมีผลกระทบโดยตรงต่อการทำธุรกิจสื่อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ที่รายได้จากค่าโฆษณาลดลงอย่างมาก ขณะที่สื่อออนไลน์ และสื่อทีวี กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจสื่อยุคปัจจุบันอย่างมากเช่นกัน
และคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่หากนับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2559 สาธารณชนอาจจะได้ยินข่าวร้าย เกี่ยวกับการเลย์ออฟคนทำงานสื่อ หรือการล้มหายตายจาก โดยเฉพาะในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ ดังขึ้นอยู่เป็นระยะๆ
อ่านประกอบ :
สำรวจ 'ทางเลือก-ทางรอด' ค่ายสื่อ ยุควิกฤตศก.พ่นพิษ! นักวิชาการชี้รุนแรงกว่า 'ต้มยำกุ้ง'
วิกฤต ศก.สื่อพ่นพิษ! เครือมติชน-เนชั่น เออรี่รีไทร์พนง.-ชดเชยสูงสุด12-17เดือน
เจาะงบการเงิน นสพ.ปี 58-59สื่อใหญ่พาเหรด กำไรหด-ขาดทุนพุ่ง!
เจาะงบดุล"นสพ."ยุคภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน รายได้ลดขาดทุนยับ "ข่าวสืบสวน" ช่วยได้!