เบื้องหลัง! เปิดผลสอบคณะทำงานฯปมพฤติกรรมการประมูล 4G ‘แจส’ไม่ผิดปกติ
“…สำหรับการเคาะราคาในการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎการประมูลตามประกาศฯ การที่บริษัท แจส โมบายฯ เคาะราคาอย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นผู้ชนะการประมูลชั่วคราวแล้ว โดยอ้างว่ายังไม่มั่นใจว่าบริษัทจะเป็นผู้ชนะการประมูลจริง จึงยังเคาะราคาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า พฤติกรรมการเคาระราคาของบริษัท แจส โมบายฯ มีความผิดปกติ…”
การตรวจสอบการทำหน้าที่ของคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรองเลขาธิการ กสทช. ฝ่ายโทรคมนาคม กำลังถูกจับตาเป็นอย่างมาก กรณีตรวจสอบบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 ไม่ละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งท้ายสุดบริษัท แจส โมบายฯ ได้ทิ้งคลื่นดังกล่าวไป
โดยเฉพาะประเด็นพฤติกรรมในการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ ที่มีผู้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบว่า อาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) หรือไม่ ?
(อ่านประกอบ : เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G, ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น)
แม้ว่าก่อนหน้านี้ กทค. จะมีมติแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณา ความรับผิดชอบ กรณีบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz โดยมีผลสรุปให้บริษัท แจส โมบายฯ ชำระเงินค่าเสียหายเพิ่มเติมจากการประมูลอีกประมาณ 199.4 ล้านบาท หลังก่อนหน้านี้มติที่ประชุม กทค. ให้ริบเงินประกันไปแล้ว 644 ล้านบาท พร้อมกับยืนยันว่า การประมูลดังกล่าวโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม เสนอราคาแข่งขันกันอย่างแท้จริงก็ตาม
แต่ข้อครหาดังกล่าวก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่อย่างต่อเนื่อง
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปรายงานผลการตรวจสอบของคณะทำงานฯ เฉพาะประเด็นพฤติกรรมการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ของบริษัท แจส โมบายฯ ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
คณะทำงานฯรับฟังคำชี้แจงและข้อเท็จจริง ดังนี้
1.ก่อนการประมูล บริษัท แจส โมบายฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ และคำสั่ง กสทช. และสำนักงาน กสทช. ที่เกี่ยวข้อง กระทั่งสำนักงาน กสทช. ประกาศให้บริษัท แจส โมบายฯ เป็นผู้มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เพื่อเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินทุนสนับสนุนนั้น บริษัท แจส โมบายฯ ได้ติดต่อไปยังธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไอซีบีซีเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน โดยมีหลักฐานการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ และบุคคลที่ติดต่อ
2.ระหว่างการประมูล บริษัท แจส โมบายฯ มีพฤติกรรมการเคาะราคาคลื่นความถี่ 900 MHz ในชุดที่ 1 ซึ่งบางช่วงได้มีการเคาะราคาตลอดเวลา แม้กระทั่งในช่วงที่บริษัท แจส โมบายฯ เป็นผู้ชนะการประมูลชั่วคราวแล้วก็ตาม โดยบริษัท แจส โมบายฯ ชี้แจงว่า การเพิ่มราคาในการประมูลทุกครั้งเป็นเรื่องกลยุทธ์ในการประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาต เพราะกลุ่มบริษัทต้องการที่จะได้รับใบอนุญาตเพื่อนำมาตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง ทั้งแบบมีสายและแบบไร้สายที่เพิ่มมากขึ้น และถึงแม้บริษัท แจส โมบายฯ จะไม่เพิ่มราคาประมูลในขณะที่ไม่มีใครแข่งขันราคากับบริษัท แจส โมบายฯ ในแต่ละรอบ ผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นก็ต้องกลับมาแข่งขันราคาคลื่นความถี่ชุดที่ 1 อยู่ดีตามที่ปรากฏในรอบหลัง ๆ ภายหลังจากที่ราคาคลื่นความถี่ชุดที่ 2 สูงขึ้นหลายช่วงราคากว่าชุดที่ 1 มาก
3.ภายหลังการประมูล บริษัท แจส โมบายฯ ชี้แจงว่า เมื่อเป็นผู้ชนะการประมูลแล้ว ได้ติดต่อธนาคารกรุงเทพเรื่อยมา จนกระทั่งสถาบันการเงินดังกล่าวได้ส่งร่าง Term Sheet วงเงิน 75,654 ล้านบาทให้กับบริษัท แจส โมบายฯ และต่อมาผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพแจ้งโดยวาจากับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แจส โมบายฯ (นายพิชญ์ โพธารามิก) ว่า คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพมีมติเพิ่มเติมกำหนดให้นายพิชญ์ และนายอดิศัย โพธารามิก (บิดานายพิชญ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง อดีตรัฐมนตรีหลายสมัยในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร) ซึ่งถือหุ้นในบริษัท จัสมินฯ (บริษัทแม่ของบริษัท แจส โมบายฯ) ประมาณร้อยละ 25 ต้องเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในฐานะส่วนตัวสำหรับวงเงินสินเชื่อ 75,654 ล้านบาท ซึ่งการขอให้มีการค้ำประกันส่วนตัวนี้เป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นใหม่ ไม่เคยมีการร้องขอหรือระบุไว้ใน Term Sheet มาก่อน
เมื่อพิจารณาเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว จึงไม่ยินดีเข้าค้ำประกันโดยต้องมารับความเสี่ยงในฐานะส่วนตัว
หลังจากนั้นนายพิชญ์ ได้พยายามเจรจาขอปรับเงื่อนไขดังกล่าวกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ทำให้บริษัท แจส โมบายฯ ไม่ได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินดังกล่าว ซึ่งในขณะนั้นเหลือเวลาเพียง 2 เดือน ก็จะถึงกำหนดชำระเงินงวดที่ 1 ที่บริษัท แจส โมบายฯ จะต้องวางหนังสือค้ำประกันจำนวน 72,346.98 ล้านบาท ให้แก่สำนักงาน กสทช. ตามเงื่อนไขการประมูล ซึ่งบริษัท แจส โมบายฯได้ติดต่อหาพันธมิตรร่วมลงทุน China Unicom, China Telecom, Sharing Mobile, KT Corporation, CERIECO, Beijing Xinjinhong Investment เป็นต้น
นอกจากการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินแล้ว บริษัท แจส โมบายฯ ได้ติดต่อกับผู้ผลิตอุปกรณ์และบริษัทที่มีโครงข่ายโทรคมนาคม เช่น บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น เพื่อเตรียมการรองรับด้านอุปกรณ์และโครงข่าย
ความเห็นของคณะทำงานฯ
พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่บริษัท แจส โมบายฯ ไม่ชำระเงินตามกำหนดเวลา เป็นความผิดชัดแจ้งตามประกาศฯ อันนำไปสู่การพิจารณาความเสียหายได้ตามประกาศฯ และหนังสือยินยอม อย่างไรก็ดีคณะทำงานได้พิจารณาพฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ ด้วยว่าเป็นไปโดยปกติหรือไม่ อย่างไร
ซึ่งในชั้นนี้ คณะทำงานฯ เห็นว่า จากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า บริษัท แจส โมบายฯ มีพฤติกรรมการประมูลไม่ปกติ โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้
1.คณะทำงานฯ ได้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ผลปรากฏว่า บริษัท แจส โมบายฯ ได้มีการเตรียมการเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารกรุงเทพ แต่ธนาคารกรุงเทพไม่ได้ยืนยันจำนวนไว้อย่างชัดแจ้ง ตามหนังสือธนาคารกรุงเทพ ที่ ลงวันที่ 14 ต.ค. 2558 ส่วนกรณีบริษัท แจส โมบายฯ ได้ชี้แจงว่า ได้มีการหาผู้ร่วมทุนอื่นก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่ไม่สามารถเจรจาตกลงกับธนาคารกรุงเทพได้ ซึ่งธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ชี้แจงว่า บริษัท แจส โมบายฯ ได้ติดต่อกับทางกองทุนในประเทศจีนเอง และกว่าที่ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จะทราบเรื่อง ก็เหลือระยะเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์ โดยธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เห็นว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน
2.คณะทำงานฯ ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ผลปรากฏว่า บริษัท แจส โมบายฯ ได้มีการติดต่อประสานงานในเรื่องของโครงข่ายและอุปกรณ์เพื่อรองรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 900 MHz
3.การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในครั้งนี้ นายพิชญ์ มิได้เข้าร่วมเคาะราคาในห้องประมูลด้วยตัวเอง โดยบริษัท แจส โมบายฯ ชี้แจงว่า ได้มอบอำนาจให้นายสมบัติ พันศิริพัฒน์ นายยอดชาย อัศวธงชัย และนายปวีณ ชัยปราการ เป็นผู้เข้าร่วมเคาะราคาประมูลของบริษัท ตามหนังสือมอบอำนาจที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงาน กสทช. โดยได้รับนโยบายจากผู้บริหารในเรื่องของกรอบวงเงินการประมูล
4.สำหรับการเคาะราคาในการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎการประมูลตามประกาศฯ การที่บริษัท แจส โมบายฯ เคาะราคาอย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นผู้ชนะการประมูลชั่วคราวแล้ว โดยอ้างว่ายังไม่มั่นใจว่าบริษัทจะเป็นผู้ชนะการประมูลจริง จึงยังเคาะราคาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า พฤติกรรมการเคาระราคาของบริษัท แจส โมบายฯ มีความผิดปกติ (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งหมดคือผลสรุปของคณะทำงานฯ เฉพาะในประเด็นพฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ ซึ่งสวนทางกับบุคคลที่ไปร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมให้ละเอียดอีกครั้ง
อย่างไรก็ดีในชั้นนี้ยังอยู่ระหว่างร้องเรียนกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดจึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
กสทช.ชงข้อมูล‘แจส โมบายฯ’ให้ ก.ล.ต. สอบต่อปมประมูล 4G
เลขาฯ กสทช.เปิดช่องชง ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯสอบ‘แจส’ปมประมูล 4G
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
2 เงื่อนปมร้อนชง ป.ป.ช.สอบ ‘แจส’ กีดกันเสนอราคา-เอื้อเอกชนประมูล 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
เปิดเบื้องหลังไฉนแบงก์กรุงเทพไม่ปล่อยกู้‘แจส’ 4 หมื่นล.จ่ายค่าประมูล 4G
โชว์หลักฐาน‘แจส’เคาะราคาสู้ตัวเอง 2 พันล.ก่อนถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมประมูล 4G
ก.ล.ต.สั่งบริษัทลูก‘แจส’แจงปมไฟเขียวจ่ายเงินปันผล-อาจเอื้อ‘พิชญ์ โพธารามิก’
เปิดเครือข่ายธุรกิจกลุ่มโพธารามิก ‘จัสมิน-โมโน-แจส โมบาย’ 44 บริษัท 4.5 หมื่นล.
เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ
เจาะกระเป๋า 'แจสโมบาย' มีเงินฝากธ.กรุงเทพ4.6พันล.ก่อนทิ้งคลื่น900
เปิดคำสั่งคณะทำงานลุยสอบ'แจส' เอาผิด-ลงโทษปมไม่จ่ายค่าประมูล 4G
กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ"แจสโมบาย"เคาะราคาประมูลคลื่น 900 เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วหรือไม่