ส.เมล็ดพันธุ์ฯ ชี้ช่องโหว่ กม. ผู้ผลิตปลอมพันธุ์ขายชาวบ้าน
เวทีวิชาการเผยไทยผลิตเมล็ดพันธุ์ลดการนำเข้ามากขึ้น แต่เกษตรกรเข้าไม่ถึงเพราะแพง กฏหมายมีช่องโหว่ให้เอกชนหลอกขายเมล็ดพันธุ์ด้อยคุณภาพให้ชาวบ้าน ดันชุมชนพัฒนาพืชพื้นบ้าน
วันที่ 1-4 ก.พ. 54 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดประชุมวิชาการ "เทิดพระเกียรติ 84 พรรษา กับเศรษฐกิจการเกษตร" โดยมีการเสวนา “พ.ร.บ.พันธุ์พืชพ.ศ.2518: ปัญหาอุปสรรคและแนวทางปฏิบัติ” โดย ดร.เกรียงศักดิ์ สุวรรณธราดล ที่ปรึกษาสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า 30 ปีที่ผ่านมาไทยสามารถผลิตและปรับปรุงเมล็ดพันธุ์เพื่อลดการนำเข้าได้มากขึ้นและบางชนิดสามารถส่งออกได้เป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะข้าวโพดและพริก สร้างงานสร้างรายได้เพิ่ม แต่ข้อสังเกตคือเกษตรกรรายย่อยผู้เพาะปลูกกลับไม่ค่อยได้รับประโยชน์ จึงมี พ.ร.บ.พันธุ์พืช คุ้มครองเกษตรกรให้เข้าถึงเมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพได้มาตรฐาน แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาการละเมิดกฎหมายอยู่เสมอ
“ที่เกษตรกรเข้าไม่ถึงเมล็ดพันธุ์เพราะทุนการผลิตในภาคเอกชนสูง ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้พันธุ์ที่พัฒนาขึ้นโดยรัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่าดีบ้างไม่ดีบ้าง และจำนวนไม่น้อยที่หันมาพัฒนาพันธุ์พื้นบ้านตามวิถีชุมชนดั้งเดิม แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จเสียทีเดียว แต่ก็พัฒนาขึ้นระดับหนึ่ง”
นายพาโชค พงษ์พาณิช นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า ปัญหาใหญ่คือการลักลอบผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้คุณภาพขายให้เกษตรกรเกิดขึ้นง่าย โดยเฉพาะข้าวโพดไร่เลี้ยงสัตว์ เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมีช่องโหว่ในส่วนของกระบวนการใช้ตัวเลขพันธุ์พืช หรือ พ.พ. ในการจำหน่าย โดยใช้ข้อมูลความงอกเทียบกับเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. เช่น ข้าวเปลือกเจ้า หากมีความงอกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ก็มายื่นขอเลข พ.พ.ได้ ตรงนี้กลายเป็นช่องทางที่ทำให้ทุกคนมายื่นขอ แล้วกรมวิชาการก็ออกใบอนุญาตให้
“เหมือนว่าออกก่อนมาตรวจสอบทีหลัง คนเดือดร้อนไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการ แต่เกษตรกรรับผลโดยตรง เสนอว่าควรมีแนวทางพิสูจน์แทนที่จะดูแค่ตัวเลขการงอก อาจเพิ่มว่าเมล็ดพันธุ์นั้นได้รับการทดสอบจากรัฐหรือสถาบันการศึกษา น่าจะลดปัญหาละเมิดพันธุ์ได้”
นายพาโชค กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการลอกเลียนชื่อหรือปรับเปลี่ยนตัวเลขแล้วไปหลอกขายชาวบ้าน เช่น พันธุ์ที่ขึ้นด้วย 888 อาจไปเพิ่มเติมต่อท้ายไปหลอกขายชาวบ้าน ส่วนปัญหาอื่นๆ ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น โทษของผู้รวบรวม ขาย นำเข้า ส่งออก เมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพ ซึ่งทางอาญาจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 2,000 บาท มองว่าเกินกว่าเหตุเพราะโดยธรรมชาติความเสี่ยงของเมล็ดพันธุ์มักขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ อากาศ บางครั้งควบคุมไม่ได้ หรือกรณีเป็นปัญหาจากผู้นำเข้าส่งเมล็ดไม่มีคุณภาพมา ทางผู้ประกอบการไม่ทราบมาก่อน แต่กรมวิชาการใช้มาตรการพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตทันที
ด้าน นายธเนศ ปิงสุทธิวงศ์ นักวิชาการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้มีเจตนาคุ้มครองเกษตรกร แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก และหากจะให้หน่วยงานรับรองพันธุ์ทุกพันธุ์ก่อนจำหน่าย เชื่อว่ามีไม่ถึงร้อยละ 30 ที่เห็นด้วย จึงต้องใช้วิธีออกเลข พ.พ. แล้วค่อยตรวจสอบภายหลังโดยให้เอกชนเข้าช่วยเพราะผู้ขอรวบรวมพันธุ์มีจำนวนมาก ราชการทำเองทั้งหมดไม่ไหว ส่วนเรื่องใบอนุญาตเสนอทางแก้ไขว่าหากทำเป็นแต่ละชนิดพันธุ์แทนที่ทำอยู่เดิมคือใบเดียวคลุมทุกพันธุ์ ข้อดีคือหากเพิกถอนชนิดนี้ชนิดอื่นก็ยังจำหน่ายได้ แต่ข้อเสียคือจะยุ่งยากและอาจเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
นายปรัชญา วงษา จากสำนักนิติกร กรมวิชาการเกษตร เสนอให้ผู้ที่ต้องการรวบรวมเล็ดพันธุ์นอกจากต้องตรวจคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.แล้ว ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรจากที่ราชการและเอกชนร่วมกันกำหนดด้วย เพื่อตรวจสอบความรู้.