ถึงคิวชำแหละส.กีฬา อปท.กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด 120 ล.-สตง.พบปัญหาเพียบ
"..จากการตรวจสอบเอกสารและสังเกตการณ์ลานกีฬา/สนามกีฬา ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 39 แห่ง จากทั้งหมด 51 สนาม ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 พบว่า การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ลานกีฬา/สนามกีฬาได้รับการส่งเสริมด้านกีฬาไม่ได้ตามมาตรฐานการส่งเสริมกีฬาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า.."
สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลรายงานผลการตรวจงานสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล แผนระยะเวลา 5 ปี (2555-2559) ของกรมพลศึกษา ซึ่งได้รับอนุมัติหลักการ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 มีพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย สนามกีฬาระดับอำเภอ จำนวน 690 แห่ง มูลค่าแห่งละ 24 ล้านบาท งบประมาณรวม 16,560 ล้านบาท และสนามกีฬาระดับตำบลจำนวน 1,114 แห่ง มูลค่าแห่งละ 12 ล้านบาท งบประมาณรวม 13,368 ล้านบาท พื้นที่เป้าหมายกระจายทั่วประเทศ ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอไปแล้ว
(อ่านประกอบ : ละเลงงบร้อยล.! สตง.สรุปชัดโครงการสนามกีฬาอำเภอ-ตำบลหมื่นล.ส่อเหลว, รื้อสนามเก่าทิ้งใช้เงินใหม่สร้างซ้ำ! สตง.สาวไส้ส.กีฬาอำเภอ-ตำบล ละเลงงบ 236ล.)
คราวนี้ มาดูโครงการก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด กันบ้าง ว่ามีปัญหาเหมือนกับสนามกีฬาอำเภอและตำบล ของกรมพลศึกษาหรือไม่? อย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2555-2556 ในพื้นที่จว.กาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา ภายใต้ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด กิจกรรมการป้องกันและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง การรณรงค์และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการติดตั้งกล้อง CCTVและก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา และได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ กรณีเร่งด่วนกรณีพิเศษ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬา รวมจำนวน 51 สนาม วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 120,921,000 บาท
โดยจากการตรวจสอบเอกสารและสังเกตการณ์ลานกีฬา/สนามกีฬา ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 39 แห่ง จากทั้งหมด 51 สนาม ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 พบว่า การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ลานกีฬา/สนามกีฬาได้รับการส่งเสริมด้านกีฬาไม่ได้ตามมาตรฐานการส่งเสริมกีฬาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 ลานกีฬา/สนามกีฬาได้รับการส่งเสริมด้านกีฬาไม่ได้ตามมาตรฐานการส่งเสริมกีฬา
1.1 ด้านสถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา และสวนสุขภาพ ลานกีฬาอเนกประสงค์ จำนวน 30 สนาม และสนามฟุตซอล จำนวน 18 สนาม มีความไม่พร้อมในการใช้เล่นกีฬา คือ สภาพสนามชำรุด จำนวน 31 สนาม อุปกรณ์กีฬาชำรุด จำนวน 43 สนาม ห้องเก็บอุปกรณ์ ชำรุด จำ นวน 10สนาม ชุดเครื่องเสียงชำรุดจำนวน 5 สนาม ไฟส่องสว่างชำรุด16 สนาม อุปกรณ์ออกกำลังกายชำรุดติดตั้งไม่เหมาะสม จำนวน 22 สนาม อุปกรณ์สนามเด็กเล่นชำรุด ติดตั้งไม่เหมาะสม จำนวน 17 สนามสนามบางแห่งไม่ติดตั้งอุปกรณ์การเล่นกีฬาไว้ในสนาม บางแห่งติดตั้งไม่ครบถ้วน ไม่มั่นคง มีการปลูกสร้างอาคารทับพื้นที่ลานกีฬา
1.2 ด้านอุปกรณ์กีฬาอาคารและสถานที่ อุปกรณ์กีฬาชำรุด/ไม่พร้อมใช้จำนวน 43 สนาม อุปกรณ์ออกกำลังกายชำรุด/ไม่พร้อมใช้ จำนวน 22 สนาม อุปกรณ์เด็กเล่นชำรุด/ไม่พร้อมใช้ จำนวน 17 สนาม ลานกีฬา/สนามกีฬารูปแบบไม่กำหนดชนิดกีฬา จำนวน 3 สนาม ไม่มีอุปกรณ์กีฬา (อุปกรณ์การเล่นกีฬาไม่มีให้ตรวจสอบ จำนวน 6 สนาม อุปกรณ์ออกกำลังกายไม่มีให้ตรวจสอบ จำนวน 1 สนาม อุปกรณ์เด็กเล่น ไม่มีให้ตรวจสอบ จำนวน 2 สนาม) การจัดซื้อดำเนินการสำรวจความต้องการของประชาชน จำนวน 20 แห่ง ไม่สำรวจความต้องการจำนวน 19 แห่ง มีการติดตามผลการใช้ประโยชน์อุปกรณ์กีฬา จำนวน 1 แห่ง ไม่ดำเนินการติดตามการใช้ประโยชน์อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกายและอุปกรณ์เด็กเล่น จำนวน 35 แห่งและไม่มีข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดซื้ออุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกายและอุปกรณ์เด็กเล่นไม่มีการจัดซื้ออุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกายและอุปกรณ์เด็กเล่นมาทดแทนอุปกรณ์ที่ชำรุด
1.3 ด้านบุคลากร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 39 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านการส่งเสริมกีฬา จำนวน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.08 ไม่มีความรู้ด้านการส่งเสริมกีฬาจำนวน 30 ราย คิดเป็นร้อยละ 76.92
1.4 ด้านการบริหารจัดการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 39 แห่ง จัดทำแผนพัฒนา 3 ปี (พ.ศ. 2555 – 2558) กำหนดโครงการ/กิจกรรม ด้านการส่งเสริมกีฬา จำนวน1,090 โครงการ/กิจกรรม วงเงินงบประมาณ 322,500,950.00 บาท โดยมีสัดส่วนการดำเนินการด้านการส่งเสริมกีฬาที่ไม่สมดุลหรือไม่ครอบคลุมงานด้านการส่งเสริมกีฬาทั้ง 5 ด้าน กล่าวคือ โครงการการส่งเสริมกีฬาด้านการจัดกิจกรรมได้รับการส่งเสริมมากที่สุด จำนวน 493 โครงการ คิดเป็นร้อยละ84.71 ลำดับรองลงมาคือด้านอุปกรณ์กีฬา อาคารและสถานที่ จำนวน 81 โครงการ คิดเป็นร้อยละ13.92 ลำดับที่ 3 ด้านสถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬาและสวนสาธารณะ จำนวน 8 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 1.37 ส่วนด้านการบริหารจัดการและด้านบุคลากร ไม่มีการส่งเสริมแต่อย่างใด
1.5 ด้านการจัดกิจกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 39 แห่ง จัดโครงการ/กิจกรรมแข่งขันกีฬา จำนวน 493 โครงการ/กิจกรรม งบประมาณดำเนินการเป็นเงินจำนวน 33,343,308.00 บาทสำหรับกิจกรรมการเล่นหรือออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2
วัน ๆ ละ 30 นาที องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 12 แห่ง จัดกิจกรรมประเภทแอโรบิก
รำไม้พลอง ฟุตซอล ฟุตบอล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 27 แห่ง ไม่มีการจัดกิจกรรม
ประชาชนจัดกลุ่มดำเนินกิจกรรมออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาตามความสมัครใจ บางกลุ่มสม่ำเสมอ
บางกลุ่มไม่สม่ำเสมอการที่ลานกีฬา/สนามกีฬาไม่มีความพร้อมในการใช้งาน เส้นสนามลบเลือน พื้นผิวสนามแตกร้าว อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกาย อุปกรณ์เด็กเล่นชำรุด เป็นจำนวนมาก ไม่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดี พร้อมใช้ในการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย แผนพัฒนาสามปีกำหนดโครงการ/กิจกรรม ด้านการส่งเสริมไว้เป็นจำนวนมาก เทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติกำหนดโครงการ/กิจกรรม โดยให้ความสำคัญด้านการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬา
ส่วนการส่งเสริมกีฬาด้านอุปกรณ์กีฬา ด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้การอุดหนุนกิจกรรมกีฬาและการออกกำลังกายรวมทั้งการบำรุงรักษาลานกีฬา อาคาร สนามกีฬา ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และด้านบุคลากร เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำหรือจัดกิจกรรมการเล่นกีฬาและออกกำลังกายเป็นประจำและต่อเนื่อง รวมทั้งติดต่อประสานงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับการสนับสนุน หรือการให้คำแนะนำในการดำเนินงานด้านการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ให้ความสำคัญ ลานกีฬา/สนามกีฬาจึงไม่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซม ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ความเข้าใจในกิจกรรมการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย เพื่อจัดกิจกรรมให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้เล่นหรือออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ๆ ละ 30 นาที จัดทำตารางกำหนดเวลาการให้บริการและการใช้สนามให้คำแนะนำแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายการดำเนินโครงการโดยประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมจำนวนน้อย ลานกีฬา/สนามกีฬาบางแห่งไม่ตรงตามความต้องการ ขาดการดูแลรักษา การส่งเสริมกีฬาเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเล่นกีฬา การออกกำลังกาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามมาตรฐานการส่งเสริมกีฬาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ไม่ครอบคลุมทุกลักษณะของการดำเนินงานตามมาตรฐานฯ (มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียง 1 แห่ง ที่ด าเนินการตามตัวชี้วัดขั้นพื้นฐานครบ9 ลักษณะของการดำเนินงาน) ไม่สามารถส่งเสริมสุขภาพพลานามัย เสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายหันมาเล่นกีฬาออกกำลังกายไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดอันเป็นแนวทางหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามวัตถุประสงค์โครงการ
ข้อตรวจพบที่ 2 การใช้ประโยชน์ลานกีฬา/สนามกีฬาไม่คุ้มค่า
2.1 ลานกีฬาอเนกประสงค์ จำนวน 30 สนาม ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีลานกีฬาอเนกประสงค์รูปแบบกีฬา 3 ชนิดในสนามเดียวกัน และรูปแบบกีฬา 2 ชนิดในสนามเดียวกัน ผู้เล่นกีฬาต่างชนิดกันไม่สามารถใช้สนามเพื่อเล่นกีฬาได้พร้อมกัน แต่ละกลุ่มต้องผลัดเปลี่ยนกันเล่น ลานกีฬาอเนกประสงค์รูปแบบแยกชนิดกีฬา มีผู้ใช้เพื่อเล่นอย่างสม่ำเสมอคือ สนามฟุตบอล สนามตะกร้อ ส่วนสนามบาสเกตบอล สนามวอลเลย์บอลชายหาด บางสนามจะใช้เฉพาะช่วงเวลาที่มีการแข่งขัน และมีการใช้ลานกีฬาอเนกประสงค์เพื่อเล่นกีฬาชนิดอื่น คือใช้สนามบาสเกตบอล เล่นกีฬาฟุตบอล ลานกีฬาอเนกประสงค์รูปแบบไม่กำหนดชนิดกีฬา เป็นลานกีฬาไม่มีเส้นสนามแสดงชนิดกีฬา ไม่มีอุปกรณ์กีฬา ประชาชนกำหนดชนิดกีฬาและตีเส้นสนามเล่นเอง
2.2 สนามฟุตซอล จำนวน 18 สนาม ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีหลังคาจำนวน 1 สนาม มีไฟส่องสว่าง จำนวน 3 สนาม ไม่มีไฟส่องสว่าง จำนวน 15 สนาม มีรั้ว จำนวน 4 สนาม ไม่มีรั้ว จำนวน 14 สนาม สนามฟุตซอลทั้ง 18 สนาม ไม่มีป้ายแสดงระเบียบข้อบังคับในการใช้สนาม
2.3 ลานกีฬา/สนามกีฬา ดำเนินการล่าช้ากว่าแผน จำนวน 3 สนาม (ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ)การที่ลานกีฬา/สนามกีฬาไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ขาดการมีส่วนร่วมของ
ชุมชน ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ทำให้เด็กและเยาวชนรวมถึงประชาชนทั่วไปบางกลุ่มไม่ได้รับประโยชน์ลานกีฬา/สนามกีฬา 3 แห่ง ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ล่าช้ากว่าแผน ทำให้เด็กและเยาวชนรวมทั้งประชาชนทั่วไปในพื้นที่ขาดโอกาสได้ใช้ประโยชน์ การดำเนินโครงการไม่มีประสิทธิภาพและทำให้โครงการดังกล่าวไม่บรรลุวัตถุประสงค์
ข้อเสนอแนะ
เพื่อการดำเนินโครงการก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันปัญหายาเสพติด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 39 แห่ง ดำเนินการดังนี้
1. ตรวจสอบความพร้อมของลานกีฬา/สนามกีฬาและอุปกรณ์ประกอบ ซ่อมแซมปรับปรุงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งกำหนดแนวทางต่อเติมส่วนประกอบที่สำคัญอื่นๆ เช่น ไฟส่องสว่าง รั้วหรือตาข่ายกั้นลูกฟุตซอลและหลังคา เพื่อให้การใช้ประโยชน์เป็นไปอย่างคุ้มค่าโดยพิจารณาจากความพร้อมด้านงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2. แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการลานกีฬา/สนามกีฬา โดยประกอบด้วยตัวแทนเด็กและเยาวชนรวมทั้งประชาชนทั่วไปผู้ใช้ประโยชน์ ผู้นำชุมชนหรือตัวแทนจากสถานศึกษาในพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ด้านการส่งเสริมกีฬาขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์ การส่งเสริมประชาสัมพันธ์และงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป
3. กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการส่งเสริมกีฬาให้ครอบคลุมทุกด้านตามมาตรฐานการส่งเสริมกีฬา โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการและด้านบุคลากรที่ยังไม่ได้รับการดำเนินการ
4. มอบหมายหน้าที่ให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านการส่งเสริมกีฬาให้ชัดเจน
กำชับให้เจ้าหน้าที่ศึกษาทำความเข้าใจและนำมาตรฐานการส่งเสริมกีฬาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง และสนับสนุนส่งเสริมการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ด้านการส่งเสริมกีฬาแก่เจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ
5. ประเมินผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมกีฬาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อทราบผลการดำเนินงานว่าอยู่ในระดับใด และกิจกรรมใดควรเร่งดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานงานด้านการส่งเสริมกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สูงขึ้น
6. หากมีการเสนอของบประมาณหรือมีการดำเนินการก่อสร้างลานกีฬา/สนามกีฬาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องชี้แจงรายละเอียดโครงการและสำรวจความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมายทราบและร่วมกำหนดประเภทและชนิดกีฬาที่ต้องการ อีกทั้งการเลือกรูปแบบลานกีฬา/สนามกีฬาที่จะใช้ในการก่อสร้างหรือต่อเติม ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์และความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมตรงกับความต้องการและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง