พบแล้ว21หญิงชราถูกกักบ้านพักฉุกเฉินรัฐยะโฮร์ – แฉเส้นทางค้ามนุษย์ชายแดนใต้
พบตัวแล้ว! หญิงสูงอายุ 21 คนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ข้ามแดนไปทำงานฝั่งมาเลเซียแล้วขาดการติดต่อไป เจ้าหน้าที่กงสุลติดตามตรวจสอบจนพบถูกกักอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินรัฐยะโฮร์ หลังมีการจับกุมผู้ต้องหาที่เชื่อว่าเป็นขบวนการนำพาแรงงานผิดกฎหมาย
หลังจากมีครอบครัวผู้เสียหายจาก อ.ยะหา จ.ยะลา ออกมาร้องเรียนว่า มารดาของตน คือ นางฮามิด๊ะ สาและ วัย 57 ปี เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย จากการนำพาของนายหน้าใน อ.จะนะ จ.สงขลา โดยเดินทางไปพร้อมกับหญิงชราคนอื่นๆ จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 21 คน ข้ามแดนเมื่อปลายเดือน ก.ย.59 จากนั้นก็ขาดการติดต่อไป ซึ่งนายหน้าอ้างว่าพาไปขายข้าวเกรียบ แต่ครอบครัวผู้เสียหายสงสัยว่าอาจถูกทางการมาเลเซียจับกุม เพราะไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรืออาจจะถูกลวงไปขอทานนั้น
ล่าสุด พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองหัวหน้า ครม.ส่วนหน้า (ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) เปิดเผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังสำนักงานแรงงาน และกงสุลไทยประจำมาเลเซีย ทราบว่าหญิงชราทั้ง 21 คนถูกกักกันอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินสตรี ในเมืองยะโฮร์บารู รัฐยะโฮร์ ทางตอนใต้ของมาเลเซีย โดยถูกกักตัวในฐานะพยาน เนื่องจากทางการมาเลเซียได้จับกุมชาย 2 คนที่สงสัยว่าจะเป็นผู้นำพาหญิงทั้ง 21 คนมาทำงานในมาเลเซียโดยผิดกฎหมาย ฉะนั้นหญิงชราทั้ง 21 คนจะต้องอยู่ในบ้านหลังนี้ไม่น้อยกว่า 15 วันหรือจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการลักลอบนำพาคนต่างด้าวเข้าออกประเทศโดยผิดกฎหมายของมาเลเซีย
กงสุลไทยเข้าเยี่ยมวันอังคารหน้า
นายดำรงค์ ใคร่ครวญ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เปิดเผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ทางกงสุลในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมหญิงไทยทั้ง 21 คนที่บ้านพักฉุกเฉินสตรีในรัฐยะโฮร์ ในวันอังคารที่ 15 พ.ย.นี้ และจะประสานหาทางช่วยเหลือ โดยขอให้ทางการมาเลเซียเร่งรัดการดำเนินคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งหมดจะได้เดินทางกลับประเทศไทย
“ขณะนี้มีคนไทยในบ้านพักฉุกเฉินสตรีในรัฐยะโฮร์ 42 คน ส่วนหญิงชรา 21 คนนี้ แจ้งว่าเข้ามาเลเซียเพื่อขายข้าวเกรียบ” นายดำรงค์ ระบุ
ชาวบ้านละหมาดฮายัดขออัลลอฮ์คุ้มครอง
หลังจากข่าวเรื่องหญิงสูงอายุถึง 21 คนถูกลวงไปขายแรงงานในมาเลเซียเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าได้สร้างความสนใจให้กับคนในพื้นที่อย่างมาก ทุกคนรู้สึกสงสารกลุ่มหญิงชรา โดยชาวบ้านใน อ.ยะหา และอีกหลายอำเภอได้ร่วมกันละหมาดฮายัดขอพรจากอัลลอฮ์ให้ทุกคนปลอดภัย ได้กลับภูมิลำเนาได้โดยเร็ว
อย่างไรก็ดี บรรดาครอบครัวของหญิงชราไม่กล้าเข้าแจ้งความกับตำรวจ เพราะมีคนที่อ้างว่าเป็นเครือข่ายของนายหน้าค้าแรงงานมาข่มขู่ และยังเรียกเงินเพิ่มเติมโดยอ้างว่าเป็นค่าช่วยเหลือหญิงสูงอายุเหล่านั้นในมาเลเซียด้วย
“ยางถูก-ลองกองแจก” ต้นเหตุคนแก่ขายแรงงาน
การข้ามไปขายแรงงานยังฝั่งมาเลเซีย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทั้งยางพารา และลองกอง นอกจากกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นชายหญิงจะนิยมข้ามไปทำงานร้านต้มยำกุ้ง หรือร้านอาหารไทยในมาเลเซียซึ่งได้รายได้ดีแล้ว ระยะหลังยังมีนายหน้าหาคนชรา หรือผู้สูงอายุเดินทางข้ามแดนโดยอ้างว่าจะพาไปทำงานขายสินค้าด้วย
การข้ามแดนไปก็มีทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยส่วนใหญ่ข้ามแดนไปด้วยวีซ่าท่องเที่ยว แต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่มาเลเซีย
“แรงงาน-กรรมการสิทธิ์” ชี้เข้าข่ายค้ามนุษย์
นายกัณเพชร อุตตรานนท์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลสารสนเทศ สำนักงานแรงงานจังหวัดปัตตานี กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า จังหวัดปัตตานีมี 12 อำเภอ มีการแจ้งข้อมูลอย่างเป็นทางการระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมาว่า มีแรงงานถูกกฎหมายจากฝั่งไทยเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียเพียง 19 คนเท่านั้น ซึ่งแรงงานเหล่านี้มีใบอนุญาตทำงาน ก็จะได้รับสิทธิ์คุ้มครองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบของมาเลเซีย
แต่จากการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า มีแรงงานอีก 8,986 คนที่ใช้พาสปอร์ตข้ามเข้าไป โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว หรือไม่แจ้งวัตถุประสงค์ แต่จริงๆ แล้วเข้าไปลักลอบทำงาน คนกลุ่มนี้หากรวมทั้งสามจังหวัดน่าจะมีหลายหมื่นคน และกลุ่มหญิงสูงอายุที่ข้ามแดนไปก็น่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การกระทำของนายหน้าค้าแรงงานเข้าข่ายค้ามนุษย์ เพราะแรงงานเป็นคนชราหรือผู้สูงอายุ ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วน
แฉ “ยะโฮร์” แหล่งพักแรงงานเถื่อนข้ามชาติ
พ.อ.จตุพร กลัมพสุต หัวหน้าชุดปฏิบัติการภัยแทรกซ้อน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) กล่าวว่า ขบวนการค้าแรงงานผิดกฎหมายข้ามชาติมีหลายกลุ่มในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมามีการจับกุมต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ขบวนการค้าแรงงานผิดกฎหมาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มค้าแรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่เป็นพวกโรฮิงญาและอุยกูร์ กลุ่มนี้จะมีเครือข่ายรองรับพวกที่เดินทางมาจากประเทศต้นทาง ทั้งเมียนมา บังคลาเทศ และจีน จากนั้นจะมีแหล่งพักตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เมื่อสบโอกาสก็จะส่งข้ามไป
แรงงานชาวโรฮิงญาเคยถูกพบเป็นศพในสุสานระหว่างพักรอมากกว่า 30 ศพเมื่อปีที่แล้ว บนภูเขาในพื้นที่ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ติดชายแดนมาเลเซีย จนเป็นข่าวครึกโครม และมีการดำเนินคดีกับกลุ่มนายหน้ารวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมากที่สุดในประเทศไทย
ส่วนอีกพวกหนึ่งเป็นพวกที่หลอกคนไทยไปขายแรงงาน เหยื่อมีทั้งที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดอื่นๆ โดยวิธีการจะข้ามแดนโดยใช้พาสปอร์ต ซึ่งสามารถขอวีซ่าท่องเที่ยวหรือเยี่ยมญาติได้ 1-3 เดือน แต่จริงๆ แล้วลักลอบเข้าไปทำงาน เมื่อวีซ่าใกล้หมด ก็จะมีขบวนการพากลับมาที่ชายแดน เพื่อ “จ๊อบพาสปอร์ต” กลับเข้าไปใหม่ โดยสาเหตุที่คนเหล่านี้ไม่ขึ้นทะเบียนหรือขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมายมาเลเซีย เพราะมาเลเซียมีนโยบายไม่รับแรงงานต่างด้าว เนื่องจากมีปัญหาแย่งงานคนมาเลย์ท้องถิ่น
“แหล่งพักแรงงานเหล่านี้อยู่ที่รัฐยะโฮร์ โดยเฉพาะเมืองยะโฮร์บารู ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ติดกับสิงคโปร์ ถ้าเป็นแรงงานจากประเทศไทย ก็จะทำงานรับจ้างที่นั่น หรือรัฐอื่นของมาเลเซีย แต่ถ้าเป็นโรฮิงญาหรืออุยกูร์ จะถูกส่งต่อไปประเทศที่สาม” พ.อ.จตุพร กล่าว