เพิ่งสร้างชำรุดแล้ว-มูลสัตว์เลี้ยงเพียบ!ข้อมูลชุดใหม่สตง.ชำแหละส.กีฬาอำเภอ-ตำบล
"..สนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง จำนวน 24 แห่ง จาก 25 แห่ง ที่ได้รับการสนับสนุนโดยพื้นสนามไม่เรียบเป็นหลุมบ่อ พื้นลู่วิ่งไม่สม่ำเสมอ ขอบท่อระบายน้ำไม่ได้ระดับ ขอบลู่วิ่งและรางระบายน้ำแตกหักเนื่องจากโดนรถเหยียบ หญ้าขึ้นรก หญ้าตาย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์เลี้ยงเข้าไป
ในบริเวณสนามฟุตบอลและลู่วิ่ง ท่อระบายน้ำอุดตัน และลู่วิ่งมีหญ้าขึ้นรก.."
จากกรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจงานก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล แผนระยะเวลา 5 ปี (2555-2559) ของกรมพลศึกษา ซึ่งได้รับอนุมัติหลักการ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 มีพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย สนามกีฬาระดับอำเภอ จำนวน 690 แห่ง มูลค่าแห่งละ 24 ล้านบาท งบประมาณรวม 16,560 ล้านบาท และสนามกีฬาระดับตำบลจำนวน 1,114 แห่ง มูลค่าแห่งละ 12 ล้านบาท งบประมาณรวม 13,368 ล้านบาท พื้นที่เป้าหมายกระจายทั่วประเทศ
(อ่านประกอบ : ละเลงงบร้อยล.! สตง.สรุปชัดโครงการสนามกีฬาอำเภอ-ตำบลหมื่นล.ส่อเหลว)
โดยผลการตรวจสอบ พบว่า สนามกีฬาระดับอำเภอและตำบลที่ก่อสร้างแล้วเสร็จบางแห่งอาจเกิดความล้มเหลว เนื่องจากไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ สนามกีฬาบางแห่งที่เปิดใช้งานแต่มีบางรายการที่ใช้ประโยชน์น้อยมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าการก่อสร้างสนามกีฬาอาจเป็นไปโดยไม่ประหยัด เป็นเงิน 236.70 ล้านบาท เนื่องจากต้องทำการทุบรื้อรายการสนามกีฬาเดิมที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี หรือมีการก่อสร้างซ้ำซ้อนกับสนามกีฬาที่มีอยู่เดิมแล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่าการก่อสร้างบางแห่งคุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามรูปแบบที่กำหนดไว้
(อ่านประกอบ : รื้อสนามเก่าทิ้งใช้เงินใหม่สร้างซ้ำ! สตง.สาวไส้ส.กีฬาอำเภอ-ตำบล ละเลงงบ 236ล.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลในรายงานผลการตรวจงานก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล ของ สตง.เพิ่มเติม พบว่ามีการระบุถึงข้อตรวจสอบ ประเด็นเรื่อง สนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล มีแนวโน้มที่จะเกิดความล้มเหลว และเกิดความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณจำนวนมาก
โดยสตง.ระบุว่า จากการสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์สนามกีฬาระดับอำเภอและตำบลที่ได้รับจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2555 – 2557 จำนวน 84 แห่ง ใน 26 จังหวัด งบประมาณ 1,694.00 ล้านบาท ข้อมูลเพียงวันที่ 3 เมษายน 2558 พบว่า ยังไม่ดำเนินการก่อสร้างจำนวน 29 แห่ง งบประมาณ 547.00 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 28 แห่ง งบประมาณ 535.00 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 27 แห่งค่าใช้จ่าย 612.00 ล้านบาท ทั้งนี้ ประเมินปัญหาการใช้ประโยชน์หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป จำนวน 25 แห่ง
ขณะที่สนามกีฬาระดับอำเภอและตำบลที่ก่อสร้างแล้วเสร็จส่วนใหญ่ยังไม่สามารถบริหารจัดการให้มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ถูกทิ้งร้าง มีสภาพชำรุดเสียหาย และขาดการดูแลบำรุงรักษา จากสนามกีฬาที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 25 แห่ง ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างรวม 575.87 ล้านบาท พบว่า มีรายการสนามกีฬาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และบางแห่งมีการใช้ประโยชน์น้อยมาก รวมมูลค่าของการใช้จ่ายเงินที่จะเกิดความไม่คุ้มค่าประมาณ 387.57ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 63.33ของงบประมาณการก่อสร้างสนามกีฬาที่แล้วเสร็จ ดังนี้
หนึ่ง อาคารและสิ่งก่อสร้างของสนามกีฬาส่วนใหญ่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์จำนวน 20แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80.00 รวมมูลค่าของรายการสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือเคยมีการใช้ประโยชน์น้อยมากเพียง 1 – 2 ครั้งในช่วงแรก และไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกแต่อย่างใด
ประมาณ 387.57 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 63.33 ของงบประมาณการก่อสร้างสนามกีฬาที่แล้วเสร็จโดยแยกเป็น
สอง สนามกีฬาที่ยังไม่เคยใช้ประโยชน์ทุกรายการ จำนวน 9 แห่ง รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 191.94ล้านบาท โดยบางแห่งมีระยะเวลาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 9เดือน เช่น สนามกีฬาระดับตำบลเทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา จ.เชียงใหม่ งบประมาณ 12.00 ล้านบาท ในจำนวนนี้พบว่าบางแห่งมีสภาพสนามกีฬาชำรุด ทรุดโทรม หรือสกปรกรกร้าง และบางแห่งอุปกรณ์สูญหาย
สาม สนามกีฬาบางแห่งไม่มีการใช้ประโยชน์อาคารและสิ่งก่อสร้างในบางรายการจำนวน 11 แห่ง รวมมูลค่าของรายการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 195.63 ล้านบาท สภาพปัญหาสำคัญของสนามกีฬาระดับอำเภอและระดับตำบลที่ก่อที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์หรือใช้น้อยมากเพียง 1 – 2 ครั้ง สรุปได้ดังนี้
(1) สนามกีฬาเกิดการชำรุดเสียหายด้านโครงสร้าง การก่อสร้างยังไม่เรียบร้อย จำนวน19 แห่ง มูลค่า 443.82 ล้านบาท หน่วยงานเจ้าของพื้นที่จึงยังไม่เปิดให้บริการหรือเปิดให้บริการเพียง
บางส่วนและรอให้มีการแก้ไขงานของผู้รับจ้าง ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ พื้นสนามฟุตบอลไม่สม่ำเสมอมีรอยแตกร้าวของลานกีฬาเอนกประสงค์ รอยแตกร้าวของโครงสร้างอัฒจันทร์และโรงยิมเอนกประสงค์
(2) ยังไม่มีการเชื่อมต่อระบบสาธารณูปโภค (น้ำประปาและไฟฟ้า) หรือมีปัญหาความไม่พร้อมด้านสาธารณูปโภค จำนวน 17 แห่ง ทำให้ไม่เปิดให้มีการใช้ประโยชน์ในบางรายการหรือทุก
รายการ
อนึ่ง จากการตรวจสอบถึงความคืบหน้าในขั้นตอนการถ่ายโอนสนามกีฬาระดับอำเภอ
และตำบลมีสนามกีฬาระดับอำเภอที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเพียงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พบว่า กรมพลศึกษายังไม่สามารถทำการถ่ายโอนสนามกีฬาให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบ และยังไม่สามารถดำเนินการขอขึ้นทะเบียนสิ่งก่อสร้างสนามกีฬากับส านักงานธนารักษ์จังหวัดตามขั้นตอนก่อนดำเนินการถ่ายโอนสิ่งปลูกสร้างสนามกีฬาให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบ
นอกจากนี้ยังพบว่า สนามกีฬาบางแห่ง กรมพลศึกษามีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับมอบเบื้องต้นใช้ประโยชน์ได้ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555) และสนามกีฬาอีกหลายแห่งของปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 – 2557 ปรากฏว่าไม่มีการแจ้งข้อมูลใด ๆ ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ไม่ทราบความชัดเจนของการบริหารจัดการต่อไป และส่วนใหญ่จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์และไม่ดูแลบำรุงรักษา
(3) สนามกีฬาอยู่ห่างไกลชุมชน จำนวน 4 แห่ง ทำให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์หลังจากที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ
(4) ยังไม่มีการจัดกิจกรรมกีฬา ทำให้สนามกีฬาบางรายการยังไม่ได้ใช้ประโยชน์
(5) มีสนามกีฬาอื่นในพื้นที่ที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว ท าให้สิ่งก่อสร้างบางรายการไม่ได้ใช้
ประโยชน์
(6) ปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ ความไม่พร้อมของหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลรับผิดชอบ การตั้งงบประมาณในการบริหารจัดการสนามกีฬา เป็นต้น
สำหรับรายการสนามกีฬาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้น้อยมาก เรียงตามสภาพปัญหา
จากมากไปน้อย ดังนี้
– โรงยิมเอนกประสงค์จำนวน 19 แห่ง มูลค่า 225.94 ล้านบาท
– อัฒจันทร์คอนกรีต จำนวน 16 แห่ง มูลค่า 84.39 ล้านบาท
– ลานกีฬาเอนกประสงค์ ขนาด 30 x 50 เมตร จำนวน 13 แห่งมูลค่า 34.04 ล้านบาท
– สนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง จำนวน 12 แห่ง มูลค่า 32.09 ล้านบาท
– ลานกีฬาเอนกประสงค์ ขนาด 20 x 40 เมตร จำนวน 12 แห่งมูลค่า 11.11 ล้านบาท
สตง.ยังระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบพบว่า สนามกีฬาที่ก่อสร้างแล้วเสร็จส่วนใหญ่ไม่อยู่ในสภาพพร้อมสำหรับการใช้งานคือ มีสภาพชำรุดเสียหาย ขาดการดูแลบำรุงรักษา สกปรก รกร้าง จำนวนทุกแห่งคือ 25 แห่ง ทั้งนี้ สนามกีฬาจำนวนมากที่เกิดความชำรุดเสียหายทางด้านโครงสร้างหลักสำคัญและคุณภาพงานไม่ได้มาตรฐาน ทั้งสนามกีฬาที่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และไม่ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แยกเป็นแต่ละรายการดังนี้
1) สนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง จำนวน 24 แห่ง จาก 25 แห่งที่ได้รับการสนับสนุนโดยพื้นสนามไม่เรียบเป็นหลุมบ่อ พื้นลู่วิ่งไม่สม่ำเสมอ ขอบท่อระบายน้ำไม่ได้ระดับ ขอบลู่วิ่งและรางระบายน้ำแตกหักเนื่องจากโดนรถเหยียบ หญ้าขึ้นรก หญ้าตาย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์เลี้ยงเข้าไป
ในบริเวณสนามฟุตบอลและลู่วิ่ง ท่อระบายน้ำอุดตัน และลู่วิ่งมีหญ้าขึ้นรก
2) อัฒจันทร์คอนกรีต จำนวนทุกแห่งที่ได้รับการสนับสนุนคือ 23 แห่ง โดยพื้นผิวอัฒจันทร์หลุดล่อน สีหลุดล่อน มีรอยแตกร้าว น้ำรั่วซึม ไม่มีการดูแลทำความสะอาด มีสภาพสกปรกมีร่องรอยการขีดเขียน ทรัพย์สินสูญหายเนื่องจากไม่ได้ดูแลบำรุงรักษา และอุปกรณ์ห้องน้ำชำรุด
3) ลานกีฬาเอนกประสงค์ขนาด 30 x 50 เมตร จ านวนทั้งหมด 25 แห่ง และ
ขนาด 20 x 40 เมตร จ านวนทั้งหมด 23 แห่ง (ยกเว้นสนามกีฬาระดับตำบล) โดยทุกแห่งพื้นสนามมีรอยแตกร้าว มีแอ่งน้ำขังทั่วบริเวณสนาม และพื้นผิวสนามหลุดล่อน สภาพสกปรก คือ มีมูลสัตว์บนลานกีฬา มีร่องรอยของรถ รวมทั้งปล่อยปละละเลยให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปในบริเวณลานกีฬา
4) โรงยิมเอนกประสงค์ จำนวน 24 แห่ง จาก 25 แห่งที่ได้รับการสนับสนุนโดยพื้นสนามและอาคารมีรอยแตกร้าว หลังคามีน้ำรั่วซึม ไม่มีการดูแลทำความสะอาดบริเวณห้องน้ำ
สกปรก อุปกรณ์ชำรุด ห้องเอนกประสงค์และลานกีฬาเอนกประสงค์มีมูลนกจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังพบว่าอาคารและสิ่งก่อสร้างบางรายการคุณภาพงานไม่ได้มาตรฐานตามแบบ
รูปรายการที่กำหนด อาทิ สภาพสีของอาคารซีดจางในระยะเวลาอันเร็ว (เปรียบเทียบกับสนามกีฬาบางแห่งที่ก่อสร้างในช่วงเวลาเดียวกัน) หลังคาโรงยิมเอนกประสงค์มีการเชื่อมต่อไม่ชนกัน ที่นั่งอัฒจันทร์เอียงไม่ได้ฉากและมีการแตกร้าวทั่วบริเวณ มีเหล็กยื่นออกมาจากเสาโครงสร้างอัฒจันทร์ การเชื่อมต่อเหล็กหลังคาอัฒจันทร์ และการเชื่อมต่อประตูโรงยิมเอนกประสงค์โดยไม่เหมาะสม ไม่ได้ทำการเชื่อมต่ออาคารระบายน้ำของสนามฟุตบอลไปยังจุดที่จะสามารถระบายน้ำได้ ท่อน้ำประปารั่วซึม เป็นต้น
สตง.ยังระบุด้วยว่า สนามกีฬาส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมด้านปัจจัยหลักสำคัญต่อการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งสนามกีฬาที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จากการสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์สนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล 84 แห่ง โดยประเมินตามปัจจัยหลักสำคัญที่จะส่งผลต่อการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ได้แก่ ความพร้อมด้านการบริหารจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบ และความเหมาะสมของสถานที่ตั้ง สรุปได้ดังนี้
- หน่วยงานที่รับผิดชอบส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมด้านการบริหารจัดการกล่าวคือ ยังไม่มีการจัดทำหรือเตรียมจัดทำแผนบริหารจัดการสนามกีฬาหลังจากที่ก่อสร้างแล้วเสร็จตามแนวทางที่กำหนด และส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมและการวางแผนงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการด้านสาธารณูปโภค บุคลากร การดูแลซ่อมแซมบำรุงรักษาสนามกีฬา โดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่นขนาดเล็กที่มีงบประมาณจำกัดและอาจไม่มีศักยภาพเพียงพอ
- สถานที่ตั้งของสนามกีฬาไม่เหมาะสม กล่าวคือ อยู่ห่างไกลจากชุมชน และหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ บางแห่งการคมนาคมไม่สะดวก ทำให้เป็นปัญหาในการดูแลบำรุงรักษารวมถึงการไปใช้บริการของประชาชน และไม่มีระบบสาธารณูปโภคเข้าถึงพื้นที่สนามกีฬา ได้แก่ ระบบน้ำประปาและไฟฟ้า โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมากในการวางระบบเพิ่มเพื่อสามารถเชื่อมต่อกับสนามกีฬา
ในขณะที่หน่วยงานส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมด้านงบประมาณที่จะดำเนินการและเป็นความเสี่ยงอย่างมากที่จะไม่เกิดความสำเร็จของการดำเนินงาน โดยบางแห่งไม่มีทั้งระบบเมนน้ำประปาและไฟฟ้า และในขณะที่บางแห่งไม่มีทั้งระบบประปาและแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียง
ทำให้โครงการนี้ มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดปัญหา และมีแนวโน้มที่จะเกิดความล้มเหลว และเกิดความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณจำนวนมาก