จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ปัญหาการตกค้างของสารเคมี
"เกษตรกรหลายคน ยังติดการใช้สารเคมีอยู่ และก็ยังทำใจไม่ได้ เพราะเขาเคยได้ไร่ละเกวียน ก็เหมือนเราทำงานได้เงินเดือนๆ ละหมื่นห้า แต่ต้องเปลี่ยนงานเหลือเดือนละหมื่น เกษตรกรเขาลงทุนไปทั้งชีวิต คือเงินที่เขาต้องเลี้ยงครอบครัว ถ้าปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกแล้วเกิดเสียหายก็เหมือนเงินที่เขาต้องเลี้ยงครอบครัวหายไปเลย เป็นแบบนี้เขาเลยไม่กล้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนวิธีการปลูก"
"เราเหมือนรณรงค์ให้ทานผักเพื่อสุขภาพ แต่คนที่ทานผักเยอะก็จะมาเจอเรื่องของสารปราบศัตรูพืชที่มีการปนเปื้อน ต่อให้รับรองว่า ถูกต้องถูกสุขลักษณ์ไม่ได้ใช้สารเคมี แต่พอไปตรวจก็เจอสารเคมีตกค้างอยู่ดี"
ในการประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปี 2559 จัดโดย เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ซึ่งจัดผ่านไปเมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ยืนยันความไม่ปลอดภัยในเรื่องผลผลิตจากภาคการเกษตรที่คนไทยบริโภคกันอยู่ในทุกวันนี้่ ด้วยเหตุมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างแพร่หลายโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมากับผู้บริโภค และอาจจะรวมถึงในส่วนของตัวเกษตรกรเองด้วย
สารที่พบในผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นสารไกลโฟเสต ซึ่งเป็นส่วนผสมของยาฆ่าหญ้า โดยสารตัวนี้จะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางด้วยการสะสมสารเหล่านี้ในร่างกายทีละนิด และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน โรคหลอดเลือด มะเร็งและอัลไซเมอร์
ไกลโฟเสต เมื่อถูกฉีดพ่นออกมาแล้ว ยังคงวนเวียนอยู่ในสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นอีกนาน ด้วยการซึมผ่านดิน ลงแหล่งน้ำใต้ผิวดิน และระเหยกลับขึ้นไปในอากาศ เมื่อตกลงมาเป็นฝน ทำให้พื้นที่บริเวณนั้น เมื่อปลูกอะไรก็จะได้รับสารนี้อยู่ตลอด
ผลร้ายของสารไกลโฟเสตไม่ได้จบลงแค่นั้น ศ.ดร.พรพิมล ชี้ว่า สารนี้ยังสามารถส่งผลกระทบไปสู่เด็กทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา และเด็กแรกเกิดที่ดื่มนมแม่ได้อีกด้วย โดยจะไปส่งผลในการพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ของเด็ก โดยจากการสุ่มตรวจที่ผ่านมาพบสารเหล่านี้ไปส่งผลกับเด็กในครรภ์ตั้งแต่มีอายุครรภ์ได้ 5 เดือนเท่านั้น
"การที่แม่ได้รับสารเหล่านี้ไม่ว่าจะได้รับผ่านทางอาหารการกิน น้ำดื่ม หรือการที่มีอาชีพเป็นเกษตรกรที่ทำการเกษตรโดยใช้สารเคมีเหล่านี้ จะส่งผลต่อเด็กทารกในครรภ์โดยตรง ตรงนี้เราต้องมีการร่วมกันคิดว่าจะทำยังไงที่จะมาร่วมกันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังในบ้านเรา ถึงแม้แม่รู้ตัวว่า ตั้งครรภ์แต่ก็ไม่สามารถป้องกันสารเหล่านี้เข้าสู่ตัวเองได้ เพราะแม่ต้องกินอาหารและสารเคมีเหล่านี้ก็ปะปนอยู่ในอาหารที่เรากินกันทุกวัน เราต้องช่วยกันเพราะว่า เด็กเป็นอนาคตของชาติ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากเพราะ เกษตรกรบางคนก็รู้ถึงผลกระทบเรื่องนี้แต่ก็ยังทำเหมือนเดิม"
ใช้ยาฆ่าหญ้ามากกว่าสหรัฐกว่า 5 เท่า
ขณะที่นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้เปิดเผยผลการตรวจสารพิษตกค้างในผักและผลไม้รอบที่ 2 ประจำปี 2559 จากการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ 16 ชนิด จากห้างชื่อดัง 3 ห้าง ได้แก่ บิ๊กซี แมคโคร เทสโก้โลตัส และตลาดค้าส่ง 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดไท ตลาดปฐมมงคล จ.นครปฐม และตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี
รวมไปถึงเก็บตัวอย่างผักผลไม้เกษตรอินทรีย์จากห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง โดยส่งวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างแบบ Multi Residue Pesticide Screen (MRPS) พบว่า ผักและผลไม้โดยรวมมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน (MRL) ถึง 56%
แหล่งจำหน่ายที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดคือผักและผลไม้จากห้างโมเดิร์นเทรดเจอตกค้างมากสุดถึง 70.2% โดยเทสโก้โลตัสพบผักและผลไม้ไม่ปลอดภัย 12 จาก 16 ตัวอย่าง รองลงมา ได้แก่ แมคโคร 11 จาก 16 ตัวอย่าง บิ๊กซี 10 จาก 15 ตัวอย่าง ส่วนตลาดค้าส่งพบตกค้างเกินมาตรฐาน 54.2%โดยตลาดไทพบ 10 จาก 16 ตัวอย่าง ตลาดปฐมมงคล 9 จาก 16 ตัวอย่าง และตลาดศรีเมือง 7 จาก 16 ตัวอย่าง
"ตลาดศรีเมือง น่าสนใจ คือส่งเสริมเกษตรกรให้พัฒนาการผลิตที่ปลอดภัย มีอาคารผักผลไม้ที่ปลอดภัยเพื่อรองรับผลผลิตดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ทำให้พบการตกค้างน้อยกว่าแหล่งจำหน่ายอื่นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับผักที่พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL มากที่สุด คือ คะน้า กะหล่ำปลี และผักกาดขาวปลี ส่วนผลไม้ที่พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL มากที่สุด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง แก้วมังกร ฝรั่ง"
อีกทั้ง จากผลการตรวจผักที่ได้รับตรารับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบสารพิษตกค้างเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยฉลากสินค้า Q พบการตกค้างเกินมาตรฐาน 16 จาก 26 ตัวอย่างหรือ 61.5 ส่วนผักผลไม้ที่ติดฉลากว่า เป็นสินค้าปลอดภัย โดยไม่มีตรารับรองมาตรฐานพบเกินมาตรฐาน 5 จาก 10 ตัวอย่าง
ผักและผลไม้ที่มีตรารับรอง Organic Thailand ซึ่งกำกับดูแลโดย มกอช.พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL 2 จาก 10 ตัวอย่าง ส่วนตรารับรองอินทรีย์อื่นพบใกล้เคียงกัน คือพบ 2 จาก 9 ตัวอย่าง ในขณะที่สินค้าที่ระบุว่าเป็นผักและผลไม้อินทรีย์ที่ขายในห้างต่าง ๆ ซึ่งไม่แสดงตรารับรองมาตรฐานนั้น พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL จำนวน 4 ตัวอย่างจากจำนวนที่สุ่มตรวจ 8 ตัวอย่าง
“อยากเรียกร้องให้รัฐบาลหยิบยกประเด็นความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้กลายเป็นวาระสำคัญของประเทศ รวมถึงเรียกร้องให้ปฏิรูประบบรับรองมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)อย่างเร่งด่วน เพราะไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า ตรารับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่หน่วยงานกำกับดูแลอยู่จะมีความปลอดภัยกว่าสินค้าทั่วไปในท้องตลาดได้แต่อย่างใด”
จากการเก็บข้อมูลดังกล่าว เธอเห็นว่า ผลผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นผักหรือผลไม้ พบมีสารเคมีที่ตกค้างอยู่ทุกชนิดที่สุ่มตรวจ และที่น่าตกใจคือผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ ทั้งที่มีการรับรองและไม่มีการรับรอง ยังมีการตรวจพบสารเคมี แม้จะเป็นปริมาณที่น้อยก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยในการบริโภค
"ในญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปพบการตกค้างของสารพิษเกินมาตรฐานในระดับ 3-5% เท่านั้น ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีเข้ามาเยอะมาก คิดเป็นเปอร์เซ็นต่อพื้นที่ เราใช้ยาฆ่าหญ้ามากกว่าสหรัฐกว่า 5 เท่า ไทยนำเข้าสารเคมีสูงเป็นอันดับต้นๆของอาเซียน อย่างประเทศมาเลเซียก็มีการกำจัดการใช้พาราควอตใช้เฉพาะแค่ในปาล์มน้ำมัน นอกนั้นพื้นที่อื่นก็ไม่อนุญาตแล้ว ในลาวก็เช่นเดียวกัน"
นางสาวปรกชล ระบุว่า สถานการณ์ในประเทศไทยที่ยังไม่ตื่นตัวเรื่องการใช้สารเคมีทางการเกษตรนั้น ทั้งๆ ที่ องค์การอนามัยโลกก็บอกเอาไว้ว่า สารเคมีที่ร้ายแรงจะตกค้างในสิ่งแวดล้อมยาวนาน และไม่มีวิธีการปกติที่จะไปลดผลกระทบได้
"วิธีการที่ดีที่สุดคือการยกเลิกการใช้ ประเทศเดนมาร์ยกเลิกสารเคมีในประเทศประมาณ 40-60 % ไม่ได้ยกเลิกการใช้สารเคมีรายตัวเหมือนประเทศเรา ประเทศไทยยังไม่สามารถทำแบบนั้น เพราะตัวกฎหมายเราไปอยู่ภายใต้พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งกฎหมายนี้ไม่ได้เป็นมุมมองของการคุ้มครองผู้บริโภค"
ปัจจุบันไทยแพนได้ร่วมกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทำตัวพ.ร.บ.ใหม่ขึ้นแล้ว 1 ตัว เพื่อที่จะเอาสารเคมีทางการเกษตรออกจากพ.ร.บ.วัตถุอันตราย และมีมุมมองปกป้องผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมด้วย ให้มีการประเมินทั้งระบบให้เห็นว่า สารเคมีการเกษตรไม่ได้เกี่ยวกับภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียว เกี่ยวกับอาหาร และเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมด้วย
ในส่วนของเกษตรกรก็ไม่อยู่นิ่งเฉยในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรจากการใช้สารเคมีมาเป็นการทำเกษตรแบบอินทรีย์ แม้จะได้ผลผลิตลดลง และต้องลงแรงเพิ่ม แต่ก็แลกมาด้วยสุขภาพของตัวเองและผู้บริโภค
ด้านนางนิภาพร ทองน้อย จากตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ผู้หันมาปลูกข้าวปลอดสารพิษตั้งแต่ปี 2544 ยอมรับว่า แต่ก่อนเคยใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าหญ้า ยาปราบศัตรูพืช และปุ๋ยเคมี ผ่านไป 1 ปี ก็รู้สึกสุขภาพไม่แข็งแรง ผิวหนังเริ่มมีอาการแสบ เป็นแผล และคัน หายใจไม่ค่อยสะดวก เหตุเกิดจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตร แต่พอรู้ตัวว่า อาการของตนเองและคนในครอบครัวไม่ค่อยดี ก็หันมาปลูกเป็นเกษตรอินทรีย์แทน
"การที่มาปลูกเกษตรอินทรีย์ทำให้สุขภาพดีขึ้นหลายๆอย่าง ในนาก็มีปลา กบ เขียด ถ้ามีสารเคมี ไม่ว่าอะไรก็ไม่อยากมาอยู่ ตอนนี้สุขภาพดีขึ้น ระบบนิเวศก็ดี และแม้ปีนี้ราคาข้าวตกอย่างหนัก แต่ไม่เดือดร้อนมาก เพราะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ต้นทุนจะต่ำกว่า ราคาข้าวตอนนี้ก็สู้ได้ แค่จะเหนื่อยกว่าเท่านั้น แต่ได้สุขภาพที่ดีกลับมา"
"แม้ระยะแรกจะต้องปรับตัว เนื่องด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ทำให้ได้ผลผลิตที่น้อยลงในช่วงแรก แต่พอรู้วิธีที่ถูกต้องผลผลิตก็กลับมาเท่าเดิม เหมือนเมื่อตอนใช้สารเคมีในการปลูก แม้การทำเกษตรอินทรีย์เหนื่อยกว่าเดิมเนื่องจากปรับเปลี่ยนจากการพ่นยาฆ่าหญ้ามาเป็นการถอนหญ้าด้วยมือ 4 คู่ในพื้นที่กว่า 30 ไร่ การเตรียมทำนาแต่ละทีก็ใช้เวลากว่า 2 เดือน แต่ก็คุ้มค่าเพราะได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นสุขภาพที่ดีขึ้นของคนในครอบครัว"
ไม่ต่างจากนายชุมพล ค้ำคูณ อายุ 44 ปี เกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า เกษตรกรที่สุพรรณบุรี ยังไม่ค่อยมีคนสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์สักเท่าไหร่ แทบจะนับได้ว่า 1 หมู่บ้านจะมีคนสนใจทำแค่ 1 คน
"เพราะยาฆ่าหญ้าสุดยอดอยู่แล้วได้ผลผลิตเยอะ ได้ผลผลิตครั้งละ 800-1,000กิโลกรัมต่อไร่" เขาเชื่อว่า นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เกษตรกรยังคงใช้สารเคมีในการทำเกษตรอยู่ แม้การใช้สารเคมีจะกระทบทั้งระบบนิเวศและร่างกายของเกษตรกรเองก็ตาม แต่เขาเหล่านั้นก็เลือกที่จะใช้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มาก และนำไปเปลี่ยนเป็นเงินออกมาเลี้ยงดูครอบครัว
"เกษตรกรหลายคน ยังติดการใช้สารเคมีอยู่ และก็ยังทำใจไม่ได้ เพราะเขาเคยได้ไร่ละเกวียน ก็เหมือนเราทำงานได้เงินเดือนๆ ละหมื่นห้า แต่ต้องเปลี่ยนงานเหลือเดือนละหมื่น เกษตรกรเขาลงทุนไปทั้งชีวิต คือเงินที่เขาต้องเลี้ยงครอบครัว ถ้าปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกแล้วเกิดเสียหายก็เหมือนเงินที่เขาต้องเลี้ยงครอบครัวหายไปเลย เป็นแบบนี้เขาเลยไม่กล้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนวิธีการปลูก"
แต่จุดเปลี่ยนของเกษตรกรเมืองสุพรรณคนนี้ที่เคยใช้สารเคมี แต่สุดท้ายเปลี่ยนมาใช้วิธีเกษตรอินทรีย์แทน เกิดจากสุขภาพที่ย่ำแย่ อาการ คือ เป็นลมบ่อย หายใจไม่ค่อยออก เหนื่อยง่าย อีกทั้งระบบนิเวศในนาก็เสีย คนรอบข้างเริ่มเป็นโรค ชุมพล จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลง
นี่จุดเริ่มต้นของการไม่ใช่สารเคมีทำการเกษตร ที่เริ่มต้นจากตัวเองก่อน...
|
อ่านประกอบ : กรมวิชาการเกษตร เปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลง กว่า 9 หมื่นตัน/ปี
: ศรีลังกา เลิกนำเข้ายาฆ่าหญ้า กลุ่มไกลโฟเสท พบสาเหตุตายไตเรื้อรังกว่า 2 หมื่น