“ดร.สุเมธ” ชี้สังคมไทยไม่สำนึก ทิ้งแหล่งอาหารในภาคเกษตร
“ดร.สุเมธ”ชี้สังคมไทยทิ้งแหล่งอาหารสนใจแต่อุตฯ เตือนยึดวิถีในหลวงฟื้นทรัพยากรดินน้ำ อย่าทิ้งวิถีผลิตเพื่อกินไปสู่แข่งขันคนในชาติจะอดตาย “ประธานอนาคตศึกษา” เตือนหากภาคเกษตรไทยยังปรับตัวช้าต่ออาฟต้า ต่อไปอยู่ได้แต่รายใหญ่ เสนอ มก.สร้างวิศวะโยธาเกษตร
วันที่ 1 ก.พ.54 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดประชุมวิชาการและมีการอภิปราย“เกษตรศาสตร์เทิดพระเกียรติ 84 พรรษา เพื่อประชาไทยในประชาคมอาเซียนอยู่เย็นเป็นสุข” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่าขณะนี้ทรัพยากรอาหารที่ผลิตได้น้อยกว่าประชากรโลกถึง 1.5 เท่า คนหลายพันล้านยังอดตาย แต่สังคมไทยกลับไม่ใส่ใจกับการผลิตอาหารเพื่อวิถีกินอยู่ แต่ไปให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมและทิ้งภาคเกษตร
ดร.สุเมธ กล่าวว่า สิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญคือวิกฤติธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง และขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว แต่อาหารค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละขั้น ซึ่งแม้จะใช้เทคโนโลยีมากแค่ไหนก็ตามไม่ทัน ดังนั้นทางออกที่สำคัญคือฟื้นฟูแหล่งอาหาร โดยใช้หลักคิดง่ายๆตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือทุกอย่างมาจากดิน น้ำ ก็ต้องพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้พร้อมสำหรับการผลิต
“พระองค์ท่านรับสั่งว่าอาหารเกิดจากดิน แต่คนก็ไปทำลายดิน พอดินเสื่อมพระองค์ท่านก็ไปพัฒนาน้ำให้น้ำมาเอื้อดิน แต่คนไทยไม่เคยรู้สึก ก่อนหน้านี้จีดีพี 40% มาจากภาคเกษตร แต่เราไม่เคยใส่ใจ ทั้งที่คนทั่วโลกแสวงหาอาหาร จนตอนนี้จีดีพีภาคเกษตรเหลือแค่ 9% เท่านั้น ถามว่าเศร้าหรือไม่”
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวอีกว่า ฐานล่างก็คือชุมชนชาวบ้านคือฐานสำคัญที่สุดในการกำหนดเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ จึงต้องระวังอย่าให้วิถีการผลิตอาหารเพื่อกินอยู่แปรเปลี่ยนไปสู่การแข่งขันจนเกินไป เพราะเศรษฐกิจการเกษตรที่ประสบความสำเร็จนั้น คนในชาติต้องไม่ขาดแคลนอาหาร เริ่มต้นอาจต้องรวมประสบการณ์ดีๆที่มีอยู่ทั่วประเทศมาจัดเป็นห้องเรียนให้ชาวบ้านศึกษารูปธรรม สะท้อนให้ชัดว่าเศรษฐกิจตามวิถีพระเจ้าอยู่หัวคือวิธีแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ
ด้าน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่าข้อดีของเขตการค้าเสรีอาเซียน(อาฟต้า) คือทำให้เข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผู้บริโภคได้สินค้าที่ราคาถูกลง มีฐานการผลิตร่วมในภูมิภาค ดึงดูดการลงทุนจากภายนอกเข้ามา เพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ แต่ข้อเสียคือการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น มีการย้ายฐานการผลิตในประเทศไปสู่ประเทศอื่น มีการแย่งทรัพยากรและแรงงานมีฝีมือ สินค้าบางประเภทมีราคาสูงขึ้น และที่สำคัญยังกระทบต่อสีนค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหวหลายชนิด แต่ที่ผ่านมารัฐประกาศเป็นสินค้าอ่อนไหวที่ไม่เข้าร่วมในข้อตกลงเพียง 13 ชนิด
ดร.เกรียงศักดิ์ ยังกล่าวว่า แม้ว่าข้อตกลงอาฟต้าเริ่มใช้ในปี 2535 และเปิดเสรีสมบูรณ์แบบในปี 2546 แต่ที่ผ่านมาภาครัฐไม่มีความพยายามที่จะปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอาฟต้าที่ค่อนข้างล่าช้า และที่สำคัญคือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเกษตรของไทยที่ต้องปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับตลาดอาเซียนด้วยเช่นกัน
“ต่อไปเกษตรที่จะอยู่ได้คือเกษตรที่มีฟาร์มขนาดใหญ่ ฟาร์มขนาดกลางและเล็กต้องรวมตัวกัน สร้างความเข้มแข็ง หรือไม่ก็ต้องสร้างสินค้าที่แตกต่าง เช่นที่ ญี่ปุ่นผลิตแตงโมสี่เหลี่ยมตอบโจทย์ด้านบรรจุภัณฑ์ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือรัฐต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อภาคเกษตรซึ่งหมายถึงระบบชลประทานที่ครอบคลุม”
ดร.เกรียงศักดิ์ ยังเสนอให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผลิตนักศึกษาเฉพาะทางด้านการเกษตร เช่น วิศวะโยธาเกษตร การตลาดการเกษตร เพื่อสร้างจุดแข็งนักพัฒนาด้านเกษตรในอนาคตเพื่อสู้กับนานาชาติ นอกจากนี้ต้องหาวิธีทำให้ชาวบ้านเข้าถึงข้อมูล ซึ่งมองว่าวิทยุชุมชน เสียงตามสายในหมู่บ้าน เคเบิ้ลท้องถิ่นจะสามารถช่วยเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรได้ดี.