เปิดเบื้องหลังไฉนแบงก์กรุงเทพไม่ปล่อยกู้‘แจส’ 4 หมื่นล.จ่ายค่าประมูล 4G
“…ได้รับแจ้งจากโทรศัพท์จากคนสนิทของนายชาติศิริว่า ขอเพิ่มเงื่อนไขให้นายพิชญ์ โพธารามิก และนายอดิศัย โพธารามิก (อดีตนักการเมืองชื่อดัง บิดานายพิชญ์) เป็นผู้ค้ำประกัน 100% ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวไม่เคยปรากฏระหว่างการหารือจนเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงการทำธุรกิจระหว่างกันต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ก็ไม่เคยมีเงื่อนไขเช่นนี้มาก่อน หลังจากนั้นได้มีการหารือกับนายชาติศิริ แต่ยังยืนยันในเงื่อนไขดังกล่าว ในที่สุดจึงไม่สามารถตกลงกันได้…”
ยังเป็นประเด็นที่หลายคนสงสัยกันอยู่ กรณีที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่ทิ้งใบอนุญาตคลื่น 4G 900 MHz หลังจากร่วมประมูลโดยเคาะราคาสุดท้ายสูงถึง 75,654 ล้านบาท กระทั่งถูกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ริบเงินประกัน 644 ล้านบาท
จนกระทั่งมีผู้ร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนข้อเท็จจริง โดยกล่าวหาว่า บริษัท แจส โมบายฯ อาจมีวาระอื่นซ่อนเร้นในการเข้าร่วมประมูลดังกล่าว เช่น การสร้างความผันผวนให้ราคาหุ้นในเครือโทรคมนาคม รวมถึงอาจกีดกันเอกชนผู้ร่วมประมูลรายอื่น และเอื้อเอกชนบางรายในการประมูลด้วยนั้น
(อ่านประกอบ : ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น, 2 เงื่อนปมร้อนชง ป.ป.ช.สอบ ‘แจส’ กีดกันเสนอราคา-เอื้อเอกชนประมูล 4G)
ในการร้องเรียนดังกล่าว ยังตั้งข้อสังเกตถึง กรณีบริษัท แจส โมบายฯ ได้ขอกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ เบื้องต้น 4 หมื่นล้านบาท ก่อนที่ภายหลังจะขอเพิ่มวงเงินเป็น 75,600 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระค่าใบอนุญาตแก่ กสทช. แต่ธนาคารกรุงเทพก็ยังไม่ปล่อยกู้ ก่อนที่เรื่องดังกล่าวจะเงียบหายไป กระทั่งบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ได้นำเงินมาชำระค่าใบอนุญาต โดยอ้างว่า ติดต่อกลุ่มธุรกิจจากประเทศจีนไม่ทันกำหนด
สาเหตุอะไรที่ทำให้ธนาคารกรุงเทพไม่ปล่อยเงินกู้ให้บริษัท แจส โมบายฯ เพื่อนำมาชำระดังกล่าว ?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบในรายงานของคณะทำงานพิจารณาความรับผิด กรณีบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาต 4G คลื่น 900 MHz ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) พบว่า นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท จัสมินฯ เคยเข้าให้ถ้อยคำข้อเท็จจริงในส่วนนี้ด้วย มีรายละเอียด ดังนี้
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2559 คณะทำงานฯ ได้เชิญบริษัท แจส โมบายฯ มาชี้แจง โดยมีผู้มาชี้แจง 3 ราย ได้แก่ นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท จัสมินฯ นายปวีณ ชัยปราการ ผอ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริษัท แจส โมบายฯ (หนึ่งในทีมงานของบริษัทที่เคาะราคาประมูล) และนายวีระวงศ์ จิตต์มิตรภาพ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของบริษัท แจส โมบายฯ เป็นผู้มาชี้แจง
โดยในส่วนความพร้อมทางการเงินนั้น บริษัท แจส โมบายฯ ชี้แจงว่า มีการเจรจากับธนาคารกรุงเทพตั้งแต่ก่อนประมูลคลื่น 4G ความถี่ย่าน 1800 MHz และความถี่ย่าน 900 MHz และหลังประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz โดยทางธนาคารกรุงเทพประสงค์จะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแต่เพียงรายเดียวทั้งหมด ซึ่งด้วยขนาดธุรกิจของธนาคารกรุงเทพสามารถดำเนินการได้โดยไม่มีปัญหา และมีการปรับ Term Sheet ร่วมกับธนาคารกรุงเทพและทำตามคำแนะนำของธนาคารมาโดยตลอด
ทุกขั้นตอนราบรื่นจนเป็นที่ตกลงกันในการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพ (นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ) ซึ่งแจ้งว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโดยด่วน
ต่อมา ได้รับแจ้งจากโทรศัพท์จากคนสนิทของนายชาติศิริว่า ขอเพิ่มเงื่อนไขให้นายพิชญ์ โพธารามิก และนายอดิศัย โพธารามิก (อดีตนักการเมืองชื่อดัง บิดานายพิชญ์) เป็นผู้ค้ำประกัน 100% ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวไม่เคยปรากฏระหว่างการหารือจนเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงการทำธุรกิจระหว่างกันต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ก็ไม่เคยมีเงื่อนไขเช่นนี้มาก่อน หลังจากนั้นได้มีการหารือกับนายชาติศิริ แต่ยังยืนยันในเงื่อนไขดังกล่าว ในที่สุดจึงไม่สามารถตกลงกันได้
ทั้งนี้ในส่วนการตอบข้อซักถามเพิ่มเติมจากคณะทำงานฯ บริษัท แจส โมบายฯ ยังยืนยันว่า ก่อนการประมูลในช่วงต้นได้ติดต่อธนาคารกรุงเทพ หลังจากนั้นติดต่อธนาคารไอซีบีซี โดยไม่มีธนาคารอื่นติดต่อมาโดยตรง มีเพียงธนาคารไอซีบีซี ที่ติดต่อผ่านที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งก่อนการประมูลได้มีการเตรียมความพร้อมทางการเงินผ่านทางธนาคารกรุงเทพเท่านั้น
สำหรับราคาประมูล ได้ศึกษาแล้วที่ราคา 8 หมื่นล้านบาท จะได้ IRR 24-25% ซึ่งสามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยพิจารณาแล้วว่า สามารถดำเนินการได้ใน 3 ปีแรก ชำระ 1.6 หมื่นล้านบาท วงเงินเดิมที่ตกลงกับธนาคารกรุงเทพ 4 หมื่นล้านบาทนั้น คิดการลงทุนของบริษัท จัสมินฯ ที่ 5 พันล้านบาท หากต้องการเพิ่มวงเงินกู้ก็ลงทุนเพิ่มได้ ซึ่งธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ก็ไม่มีหนี้และผลกำไรทุกปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันก่อนการประมูลและหลังการประมูลแล้ว โดยธนาคารกรุงเทพกำหนดให้บริษัท จัสมินฯ ลงทุนเพิ่ม 2 หมื่นล้านบาท ทยอยปีละ 5 พันล้านบาท ทางธนาคารกรุงเทพจะให้วงเงินกู้ที่เหลือ และหลังการประชุมครั้งสุดท้ายได้รับแจ้งว่า จะนำเข้าคณะกรรมการบริหารของธนาคารกรุงเทพ
เมื่อถึงเวลากลางคืน ได้รับการติดต่อแจ้งมีการเพิ่มเงื่อนไขที่ไม่เคยใช้เงื่อนไขเช่นนี้มาก่อนคือ กำหนดให้ส่วนตัว และครอบครัวต้องค้ำประกัน 100% ของเงินกู้ โดยได้เจรจากับนายชาติศิริ แต่ไม่สามารถตกลงได้ ซึ่งเงื่อนไขและความเสี่ยงต่าง ๆ ทางธนาคารกรุงเทพได้ประเมินแล้วตั้งแต่ต้นก่อนการประมูล นายพิชญ์จึงเป็นผู้ปฏิเสธเงื่อนไขที่ได้รับแจ้งจากธนาคารกรุงเทพ โดยแจ้งกับนายชาติศิริว่า ในวันที่ 20 ม.ค. 2559 ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารกรุงเทพ โดยนายชาติศิริ ได้แจ้งขอเป็นผู้สนับสนุนแต่เพียงรายเดียวทั้งหมด ซึ่งธนาคารกรุงเทพมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะสนับสนุนรายเดียว อีกทั้งธนาคารกรุงเทพเข้าใจธุรกิจของบริษัท จัสมินฯ ดีที่สุด เนื่องจากเป็นพันธมิตรกันมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ได้ติดต่อธนาคารอื่น การติดต่อธนาคารอื่นจึงต้องเริ่มต้นกันใหม่ (อ่านเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดีธนาคารกรุงเทพ โดยนายปณิต ตุลย์วัฒนจิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ นายสงคราม สกุลพราหมณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และนายไกรสร บารมีอวยชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ได้เข้าชี้แจงต่อคณะทำงานฯด้วยเช่นกัน ระบุว่า หนังสือรับรองการสนับสนุนด้านการเงินและเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท แจส โมบายฯ ที่ส่งให้แก่สำนักงาน กสทช. ตั้งแต่ก่อนมีการประมูลนั้น เพื่อแสดงถึงศักยภาพทางการเงินของนิติบุคคลผู้เข้าร่วมประมูล อีกทั้งราคาใบอนุญาตที่ประมูลนั้นไม่ใช่ตัวเลขคงที่ ดังนั้นธนาคารจึงไม่สามารถวิเคราะห์หรือกำหนดวงเงินในการสนับสนุนล่วงหน้าได้ หน้าที่ของธนาคารมีเพียงการจัดหาเงินทุน โดยข้อความที่ระบุในตอนท้ายของหนังสือรับรองนั้น เป็นการระบุเงื่อนไขตามแบบฟอร์มปกติที่ธนาคารใช้กับผู้ขอสินเชื่อทุกราย
สำหรับหนังสือรับรองสนับสนุนด้านการเงินและเงินทุนหมุนเวียนที่ธนาคารออกให้นั้น ไม่ใช่การรับรองว่า ถ้าชนะแล้วธนาคารจะให้สินเชื่อแน่นอน อย่างไรก็ตามธนาคารจะต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของโครงการของผู้ขอสินเชื่อแต่ละราย สภาพอุตสาหกรรม ซึ่งประเด็นเงื่อนไขการขอให้ค้ำประกันโดยบุคคลก็เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ธนาคารพิจารณาเสนอให้ผู้ขอสินเชื่อตามปกติ (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงสองด้าน ทั้งฝ่ายบริษัท แจส โมบายฯ และธนาคารกรุงเทพ เกี่ยวกับประเด็นการขอกู้เงินสินเชื่อเพื่อนำมาชำระค่าใบอนุญาต
อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการร้องเรียนกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงถือว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
โชว์หลักฐาน‘แจส’เคาะราคาสู้ตัวเอง 2 พันล.ก่อนถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมประมูล 4G
ก.ล.ต.สั่งบริษัทลูก‘แจส’แจงปมไฟเขียวจ่ายเงินปันผล-อาจเอื้อ‘พิชญ์ โพธารามิก’
เปิดเครือข่ายธุรกิจกลุ่มโพธารามิก ‘จัสมิน-โมโน-แจส โมบาย’ 44 บริษัท 4.5 หมื่นล.
เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ
เจาะกระเป๋า 'แจสโมบาย' มีเงินฝากธ.กรุงเทพ4.6พันล.ก่อนทิ้งคลื่น900
เปิดคำสั่งคณะทำงานลุยสอบ'แจส' เอาผิด-ลงโทษปมไม่จ่ายค่าประมูล 4G
กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ"แจสโมบาย"เคาะราคาประมูลคลื่น 900 เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วหรือไม่