2 เงื่อนปมร้อนชง ป.ป.ช.สอบ ‘แจส’ กีดกันเสนอราคา-เอื้อเอกชนประมูล 4G
เปิด 2 ข้อสังเกต-ข้อกล่าวหาชง ป.ป.ช. สอบ ‘แจส โมบายฯ’ หลังทิ้งคลื่น 4G ส่อได้ประโยชน์จากการทำราคาหุ้นเครือข่ายโทรคมนาคมปั่นป่วน เคาะราคาอาจเอื้อเอกชนรายอื่นได้ เคาะราคาประมูลสู้ราคาตัวเอง
กรณีมีบุคคลร้องเรียนถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนข้อเท็จจริง บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถูกกล่าวหาว่า ในการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ในช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมานั้น อาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) เนื่องจากอาจมีการกีดกันเอกชนรายอื่นในการประมูล และเอกชนมีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการประมูลดังกล่าวด้วยนั้น
(อ่านประกอบ : ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น)
เงื่อนปมสำคัญอะไรที่ทำให้ต้องยื่นให้ ป.ป.ช. สอบบริษัท แจสโมบายฯ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อกล่าวหา-ข้อสังเกต ในการร้องเรียนดังกล่าวเฉพาะในส่วนของบริษัท แจสโมบายฯ ไว้ ดังนี้
เบื้องต้น ก่อนที่บริษัท แจส โมบายฯ จะชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 ในราคา 75,654 ล้านบาทนั้น ในช่วงที่ราคาหยุดอยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาทแล้ว ต่อมาในรอบที่ 190-198 ไม่มีบริษัทใดสนใจเข้ามาแข่งราคาอีก ทำไมบริษัท แจส โมบายฯ ถึงเคาะประมูลทับราคาสูงสุดของตนเองอีกเกือบ 2 พันล้านบาท จนราคาสุดท้าย 75,654 ล้านบาท
นอกจากนี้ในการประมูลดังกล่าว กลับส่งเจ้าหน้าที่บริหารระดับรองของบริษัทเข้ามา 3 ราย โดยไม่มีผู้บริหารระดับสูงเข้ามาร่วมวิเคราะห์ราคาและร่วมประมูลด้วย ดังนั้นการเสนอราคาสูงดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นตามพฤติการณ์ปกติที่บริษัทมหาชนควรจะเป็นหรือไม่
ขณะเดียวกันภายหลังชำระเงินประมูลงวดแรกแก่ กสทช. ไม่ทัน และต้องถูกริบเงินประกัน 644 ล้านบาท และถูกตัดสิทธิ์ห้ามร่วมประมูลอีกนั้น บริษัท แจส โมบายฯ อธิบายว่า อยู่ระหว่างติดต่อกับบริษัทต่างชาติมาร่วมลงทุน แต่ติดขั้นตอนจากหน่วยงานที่กำกับดูแลทำให้ไม่สามารถวางเงินค่าประมูลงวดแรกได้ทันตามกำหนดเวลานั้น การกล่าวอ้างดังกล่าวน่าเชื่อถือเพียงใด เพราะการลงทุนในการประมูล 4G มีมูลค่ามหาศาล ต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการอย่างไรบ้าง และ กทค. ได้เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้โดยละเอียดหรือไม่
ทั้งนี้หากบริษัท แจส โมบายฯ ไม่มีเจตนาที่แท้จริงในการเข้าร่วมประมูลดังกล่าว อาจมีความเป็นไปได้ตามข้อสันนิษฐาน 2 กรณี ได้แก่
หนึ่ง อาจมีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากส่วนต่างมูลค่าหุ้นที่เกิดจากความผันผวนของความไม่แน่นอนที่ถูกสร้างสถานการณ์ขึ้น
โดยกรณีนี้หากเรียบเรียงเหตุการณ์นับตั้งแต่เข้าร่วมประมูล และการไม่ชำระเงินแก่ กสทช. ตามกำหนดเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2559 อาจเป็นไปได้ว่าบริษัท แจส โมบายฯ ไม่มีศักยภาพมากพอ เนื่องจากประกอบธุรกิจแค่บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ ไม่มีโครงข่ายเคลื่อนถี่ ไม่มีพนักงานที่เชี่ยวชาญด้านกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่เหมือนเอกชนที่เข้าร่วมประมูลอีก 3 ราย (TRUE-AIS-DTAC) แม้จะให้ข่าวว่ากำลังเจรจาขอเช่าเสาโทรคมนาคมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แต่พอใกล้ถึงวันกำหนดชำระเงินกลับไม่มีข่าวใด ๆ ออกมาอีก ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมในตลาดหลักทรัพย์ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะราคาหุ้นของบริษัท จัสมินฯ ภายหลังการประมูลสิ้นสุดลงมีการเทขายหุ้นในวันที่ 21-22 ธ.ค. 2558 รวมกว่า 3.16 พันล้านหุ้น หรือเกือบครึ่งหนึ่ง (7.13 พันล้านหุ้น) เป็นผลให้ราคาหุ้นบริษัท จัสมินฯ จากระดับ 5 บาท/หุ้น เหลือเพียง 3 บาท/หุ้น มูลค่าเฉพาะ 2 วันดังกล่าวประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ในช่วงหาแหล่งเงินทุนเพื่อชำระค่าใบอนุญาตคลื่นที่ชนะการประมูลงวดแรกนั้น บริษัท จัสมินฯ ประกาศรับซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารจัดการทางการเงิน ด้วยวงเงิน 6 พันล้านบาท หรือ 1.2 พันล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 16.82 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในราคาหุ้นละ 5 บาท ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงที่บริษัท จัสมินฯ รับซื้อหุ้นรวม 6 พันล้านบาทนั้น มีการจ่ายปันผลจากกำไรสะสมประจำปี 2558 ให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญทั้งหมดเป็นเงินกว่า 2,140 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 8,140 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินมากพอที่จะชำระค่าใบอนุญาตคลื่นได้ แต่เรื่องดังกล่าวกลับไม่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกันในการประกาศรับซื้อหุ้นคืนดังกล่าวของบริษัท จัสมินฯ ส่งผลให้ราคาหุ้นจากเดิมที่ต่ำอยู่ กลับขึ้นไปที่ราคา 5 บาท/หุ้น อีกครั้งหนึ่งด้วย จึงน่าสังเกตว่ามีใครหรือกลุ่มใดได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้บ้าง
สอง อาจมีการร่วมมือกันกับเอกชนผู้เข้าร่วมประมูลบางราย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น โดยกีดกันผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น
จากรูปแบบการประมูลเห็นได้ว่า บริษัท แจส โมบายฯ เคาะราคาเฉพาะคลื่นความถี่ชุดที่ 1 ขณะที่ AIS เคาะราคาในคลื่นความถี่ชุดที่ 2 โดยไม่มีการข้ามไปมาตามปกติวิสัย ส่วน DTAC เข้าไปประมูลสู้ทั้งคลื่นชุดที่ 1 และ 2 แต่ยอมแพ้ไปในรอบที่ 181 ในคลื่นชุดที่ 1 ขณะที่ TRUE เคาะราคาประมูลไปมาทั้งคลื่นชุดที่ 1 และ 2 จนชนะ AIS ในคลื่นชุดที่ 2 ราคาสุดท้าย 76,298 ล้านบาท ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมบริษัท แจส โมบายฯ และ AIS จึงต่างประมูลคลื่นความถี่คนละชุด
มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า ภายหลังการประมูลคลื่น 4G แล้วเสร็จ AIS ได้ปรับจูนอุปกรณ์การใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ที่ครอบครองอยู่เดิม ที่ครอบคลุมคลื่นชุดที่ 1 และ 2 เหลือเฉพาะคลื่นชุดที่ 1 อย่างเดียว เพราะคลื่นชุดที่ 2 TRUE ได้ใบอนุญาตแล้ว จึงน่าสงสัยว่า ทำไม AIS จึงมั่นใจปรับจูนคลื่นชุดที่ 1 ซึ่งเป็นคลื่นที่บริษัท แจส โมบายฯ ชนะ แต่ท้ายสุดไม่ได้นำเงินมาชำระ นอกจากนี้เมื่อบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ชำระค่าใบอนุญาต AIS ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ยืดอายุการใช้งานคลื่นชุดที่ 1 ออกไปอีก โดยอ้างว่า คลื่นชุดนี้ยังไม่มีการออกใบอนุญาต ซึ่งศาลปกครองมีมติคุ้มครองชั่วคราว กระทั่งใกล้หมดการคุ้มครองชั่วคราว AIS จึงยื่นเรื่องต่อ กทค. เพื่อขอซื้อคลื่นชุดที่ 1 ซึ่งว่างอยู่ ในราคาเดียวกับที่เสนอในการประมูลคราวที่แล้ว โดยวางเงื่อนไขว่าซิมจะต้องไม่ดับ แต่หากมีการจัดประมูลคลื่นชุดที่ 1 ใหม่ จะต้องมีราคาตั้งต้นเท่าเดิมคือ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยอ้างว่าราคาที่บริษัท แจส โมบายฯ เสนอไม่เป็นไปตามกลไกตลาด
ท้ายสุดรัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ประมูลคลื่นชุดที่ 1 ใหม่ ใช้ราคาตั้งต้นที่ 75,654 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายที่บริษัท แจส โมบายฯ เสนอ และการประมูลครั้งนั้นมี AIS รายเดียว จึงชนะการประมูลไปด้วยราคาดังกล่าว
นี่คือ 2 ข้อสังเกตสำคัญที่นำไปสู่การกล่าวหา บริษัท แจส โมบายฯ ว่า อาจมีพฤติการณ์ไม่ชอบมาพากลในการประมูลคลื่น 4G ความถี่ 900 MHz ดังกล่าว
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ ต้องรอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำเรื่องไปแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน
ดังนั้นจึงถือว่า ผู้ถูกกล่าวหาโดนร้องเรียนทั้งหมด ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ !