เมื่อ สตง. ชำแหละบัตรสินเชื่อเกษตรกรยุค'ปู' ไฉนซื้อปุ๋ยแพงกว่าจ่ายเงินสด
"..จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการดังกล่าวของ ธ.ก.ส. พบว่า การดำเนินงานในบางกิจกรรมยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด รวมถึงเครื่องอ่านบัตร (EDC) ยังมีไม่เพียงพอและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการบางแห่งมียอดจำหน่ายรวมไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด.."
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบดำเนินงานโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงการคลัง ในยุครัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยพบว่าการดำเนินงานในบางกิจกรรมยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่ กำหนด รวมถึงเครื่องอ่านบัตร (EDC) ยังมีไม่เพียงพอและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการบางแห่ง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เห็นว่าโครงการนี้ เป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อเกษตรกร โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งทุน จึงนำรายละเอียดผลการตรวจสอบในรายงานมานำเสนอ ณ ที่นี้
-----------------
โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร เป็นโครงการหนึ่งตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ซึ่งเริ่มดำเนินการตามแผนบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555-2558 เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการออกบัตรสินเชื่อสำหรับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีวงเงินสินเชื่อในบัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้แทนเงินสดสำหรับซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและเครื่องอุปโภคที่จำเป็นและมีคุณภาพในราคายุติธรรม โดยจะช่วยลดต้นทุนทางการผลิต ลดภาระทางการเงิน และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการดังกล่าวของ ธ.ก.ส. พบว่า การดำเนินงานในบางกิจกรรมยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด รวมถึงเครื่องอ่านบัตร (EDC) ยังมีไม่เพียงพอและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการบางแห่งมียอดจำหน่ายรวมไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด สรุปได้ดังนี้
1. การดำเนินงานโครงการยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
การดำเนินงานโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายการดำเนินงานที่กำหนดในปีบัญชี 2555 - 2557 ได้แก่ การส่งมอบบัตร การใช้จ่ายผ่านบัตร การบริหารจัดการคุณภาพหนี้ NPLs มีรายละเอียดดังนี้
1.1 การส่งมอบบัตรได้จริงยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
เนื่องจากระบบข้อมูลบัตรสินเชื่อเกษตรกรของธนาคารไม่สามารถรายงานผลการส่งมอบบัตรให้เกษตรกร จึงใช้ข้อมูลการส่งมอบบัตรให้สาขาในการเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งผลการดำเนินงานการส่งมอบบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้สาขาในปีบัญชี2557 จำนวน 3,827,772 บัตร หรือคิดเป็นร้อยละ 91.14 ของเป้าหมายที่กำหนดโดยมีเกษตรกรลูกค้าตามบัตรบางรายไม่ได้เป็นลูกค้าตามข้อบังคับที่ 44 ตามเงื่อนไขของโครงการ
ส่วนเกษตรกรลูกค้าที่มีคุณสมบัติเป็นลูกค้าตามโครงการบางรายปฏิเสธการรับบัตร ชราภาพถึงแก่ความตาย เลิกประกอบอาชีพเกษตรกรรม ถูกจำคุก ย้ายถิ่น อยู่ระหว่างการพักชำระหนี้ และข้อมูลบัตรไม่ถูกต้องจึงต้องดำเนินการยกเลิกบัตรดังกล่าว ตั้งแต่ปีบัญชี 2555 –2557 จำนวน 402,281 บัตร
1.2 การใช้จ่ายผ่านบัตรจริงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
ผลการดำเนินงานจำนวนบัตรที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรจริงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดโดยในปีบัญชี 2555 – 2557 มีบัตรที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรจริง จำนวน 313,991 บัตร 1,561,221 บัตร และ 1,602,363 บัตร ตามลำดับ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.40 ร้อยละ 69.39 และ ร้อยละ 53.41 ของจำนวนเป้าหมายที่กำหนด
1.3 การบริหารจัดการหนี้ NPLs ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
ผลการดำเนินงานการบริหารจัดการหนี้NPLs ในปีบัญชี 2557 มีอัตราหนี้NPLsคิดเป็นร้อยละ 13.25 ซึ่งสูงเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 4 และมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งในปีบัญชี 2558 (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559) มีอัตราหนี้ NPLs คิดเป็นร้อยละ 14.28
จากการที่ ธ.ก.ส. ยังไม่สามารถดำเนินงานโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ทำให้ ธ.ก.ส. สูญเสียเงินในการจัดทำบัตรที่ไม่สามารถส่งมอบและส่งมอบบัตรให้เกษตรกรแล้วแต่บัญชีไม่เคลื่อนไหวจนต้องอายัดบัตร รวมเป็นเงิน 68.80 ล้านบาท และต้องสูญเสียโอกาส
จากรายได้ในการให้สินเชื่อ รวมทั้งต้องดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์ Basel II มากกว่าที่ควรจะเป็น ตลอดจนมีภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาหนี้ NPLs และอาจสูญเสียต้นเงินสินเชื่อหากไม่สามารถติดตามลูกหนี้ให้มาชำระหนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายมีดังนี้
1) ไม่มีการสำรวจความต้องการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรก่อนการดำเนินงานโครงการ
2) เกษตรกรลูกค้ายังขาดความเข้าใจในเงื่อนไขการใช้งานและประโยชน์ของบัตรสินเชื่อจึงไม่ใช้จ่ายผ่านบัตร
3) มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ NPLs ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
2. ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด
ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการต้องปฏิบัติตามข้อพึงปฏิบัติและข้อห้าม รวม 13 ข้อ ซึ่งประกอบด้วยข้อพึงปฏิบัติ จำนวน 8 ข้อ (11 ข้อย่อย) และข้อห้ามจำนวน 5 ข้อ โดยจำแนกเป็นสาระสำคัญที่เกี่ยวกับด้านคุณภาพของปัจจัยการผลิต ด้านราคาของปัจจัยการผลิต และด้านการจัดทำและจัดเก็บเอกสารการจำหน่ายปัจจัยการผลิต
จากการตรวจสอบ พบว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด สรุปได้ดังนี้
2.1 ด้านคุณภาพของปัจจัยการผลิต
2.1.1 มีการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร (สารเคมี) ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกรมวิชาการเกษตร พบว่า มีการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร(สารเคมี) ที่มีอายุเกิน 2 ปี นับจากวันผลิตที่ปรากฏบนฉลาก จำนวน 26 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 32.50 ของ จำนวนร้านค้าที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 80 แห่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการกำหนดอายุวัตถุอันตรายทางการเกษตรขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(Food and Agriculture Organization ofthe United Nations หรือFAO)ซึ่งกรมวิชาการเกษตรใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาถึงการเสื่อมสภาพหรือด้อยคุณภาพของวัตถุอันตรายทางการเกษตร
2.1.2 มีการแบ่งปุ๋ยเคมีจากภาชนะหรือหีบห่อเพื่อขายปลีกไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีการแบ่งปุ๋ยเคมีจากภาชนะหรือหีบห่อเพื่อขายปลีก โดยไม่ได้ระบุปริมาณธาตุอาหารบนภาชนะที่แบ่งจำหน่าย จำนวน 13 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 61.90 ของจำนวนร้านค้าที่สุ่มตรวจสอบและมีการแบ่งปุ๋ยเคมีจากภาชนะหรือหีบห่อเพื่อขายปลีกทั้งหมด จ านวน 21 แห่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตรา 22 (4) ที่กำหนดให้ในกรณีที่ผู้ขายแบ่งปุ๋ยเคมีจากภาชนะหรือหีบห่อบรรจุเพื่อขายปลีก ผู้ขายต้องจัดเอกสารกำกับปุ๋ยเคมีโดยมีข้อความตรงกับเอกสารกำกับปุ๋ยเคมีที่แบ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อทุกครั้ง
2.2 ด้านราคาของปัจจัยการผลิต
2.2.1 มีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านเครื่องอ่านบัตร (EDC) ในราคาที่สูงกว่าราคาขายเงินสด พบว่า มีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านเครื่องอ่านบัตร (EDC) ในราคาที่สูงกว่าราคาขายตามปกติ จำนวน 18 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 22.50 ของร้านค้าที่สุ่มตรวจสอบจำนวน 80 แห่ง โดยมีการจำหน่ายลดราคาในกรณีที่เกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมีเป็นเงินสดแต่หากซื้อผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกรไม่ลดราคาซึ่งไม่เป็นไปตามข้อห้ามที่ 11
2.2.2 ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการใช้เครื่องอ่านบัตร (EDC) ผิดประเภทสินค้า พบว่าส่วนใหญ่ใช้เครื่องอ่านบัตร (EDC) ผิดประเภทสินค้าจำนวน 65 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 94.20 ของร้านค้าที่สุ่มตรวจสอบได้ จำนวน 69 แห่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อห้ามที่ 13
2.3 ด้านการจัดทำและจัดเก็บเอกสารจำหน่ายปัจจัยการผลิตผ่านเครื่องอ่านบัตร (EDC)
2.3.1 ไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินทุกรายการที่ขายเป็นหลักฐานการจำหน่ายสินค้าผ่านเครื่องอ่านบัตร (EDC) พบว่า ไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินทุกรายการที่ขายสินค้าผ่านเครื่องอ่านบัตร(EDC) จำนวน 46 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 69.70 ของร้านค้าที่สุ่มตรวจสอบได้ จำนวน 66 แห่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อพึงปฏิบัติที่ 5
2.3.2 ไม่ได้จัดเก็บใบเสร็จรับเงินและใบบันทึกรายการขาย (Sale Slip) พบว่า ไม่ได้จัดเก็บใบเสร็จรับเงินและใบบันทึกรายการขาย (Sale Slip) ไว้เพื่อตรวจสอบ จำนวน 50แห่ง คิดเป็นร้อยละ75.76 ของร้านค้าที่สุ่มตรวจสอบได้ จำนวน 66 แห่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อพึงปฏิบัติที่ 1.9
2.3.3 ไม่ได้รวบรวมจัดเก็บต้นฉบับใบบันทึกรายการขาย (Sale Slip) สินค้าประจำวันในลักษณะที่กำหนด พบว่า ไม่จัดเก็บต้นฉบับใบบันทึกรายการขาย (Sale Slip)การขายสินค้า ประจำวันเข้าแฟ้มเรียงตามวันที่ จำนวน 52 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 81.25 ของร้านค้าที่สุ่มตรวจสอบได้จำนวน 64 แห่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อพึงปฏิบัติที่ 7
จากการที่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดตามข้อพึงปฏิบัติและข้อห้ามสำหรับผู้จำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร ทั้งในด้านคุณภาพและราคาของปัจจัยการผลิตรวมถึงการจัดทำและจัดเก็บเอกสารการจำหน่ายปัจจัยการผลิตผ่านเครื่องอ่านบัตร (EDC) ส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานและในราคาที่ยุติธรรม รวมถึงทำให้ ธ.ก.ส. ขาดข้อมูลเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการจำหน่ายและการชำระค่าสินค้าหรือบริการ เพื่อใช้ในการตรวจสอบและติดตามประเมินผลโครงการสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดตามข้อพึงปฏิบัติและข้อห้ามสำหรับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ มีดังนี้
1) การประเมินร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่มีการประเมินการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกรมวิชาการเกษตร และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพปัจจัยการผลิต ไม่มีการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนประเมิน และไม่มีการประเมินการปฏิบัติตามข้อพึงปฏิบัติและข้อห้ามโดยเกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ
2) ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ยังขาดทักษะความรู้การใช้คอมพิวเตอร์ และบางแห่งไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์สำหรับการใช้ระบบบาร์โค้ด
3. เครื่องอ่านบัตร (EDC) ยังมีไม่เพียงพอ และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการบางแห่งมียอดจำหน่ายรวมไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
มีร้านค้าขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้รับเครื่องอ่านบัตร (EDC) เพื่อให้บริการจำหน่ายปัจจัยการผลิต ในปีบัญชี 2556 และ 2557 เป็นจำนวน 10,000 เครื่อง และ 9,778 เครื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 83.17 และร้อยละ 69.17 ของจำนวนร้านค้าที่รับขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด แสดงว่าเครื่องอ่านบัตร (EDC) ยังมีไม่เพียงพอต่อจำนวนร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้ยังพบว่า ร้านค้าประเภทสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) บางแห่งมีเครื่องอ่านบัตร (EDC) ในความรับผิดชอบจำนวนมากและมียอดจำหน่ายรวมไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยต้องมียอดจำหน่ายสินค้าผ่านบัตรในแต่ละปีบัญชีไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านบาทต่อเครื่อง แต่ไม่ได้ถูกเรียกคืนเครื่องอ่านบัตร (EDC)
4. ระบบข้อมูลบัตรสินเชื่อเกษตรกรไม่สามารถรายงานผลการส่งมอบบัตรให้เกษตรกรการส่งมอบบัตรให้สาขาก่อนวันที่ 1 เมษายน 2558 ธนาคารจะดำเนินการอนุมัติหรือเปิดบัตรโดยส่วนกลางและบันทึกข้อมูลในระบบเป็นบัตรที่มีสถานะเปิดใช้งาน พบว่า จำนวนบัตรคงเหลือของ
สาขา จำนวน 6 แห่ง มีสาขาจำนวน 2 แห่ง ยังคงมีบัตรสินเชื่อเกษตรกรที่ได้รับอนุมัติจากส่วนกลางและมีสถานะเปิดใช้งานแล้วในระบบ แต่บัตรบางส่วนยังคงค้างอยู่ที่สาขา จำนวน 858 บัตร และ 262 บัตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32.77 และ 9.91 ของจำนวนบัตรที่ธนาคารส่งมอบให้สาขาได้จริง ทั้งที่ข้อเท็จจริงบัตรยังไม่ได้ส่งมอบให้เกษตรกร การรายงานสถานะบัตรในระบบจึงไม่สามารถแสดงสถิติข้อมูลจำนวนบัตรที่สาขามีการส่งมอบให้เกษตรกร
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การดำเนินงานโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรเป็นไปตามเป้าหมายบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ธ.ก.ส. จึงมีข้อเสนอแนะให้ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรพิจารณาดำเนินการดังนี้
1. ในการดำเนินโครงการอื่น ๆ ในอนาคตที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน ควรมีการสำรวจความต้องการของเกษตรกรลูกค้าก่อนการดำเนินงานโครงการ
2. ควรมีการชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของบัตรสินเชื่อเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรลูกค้าที่ยังไม่มีการใช้บัตร เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดการใช้งาน เงื่อนไขในการใช้ การชำระหนี้ และสิทธิประโยชน์จากการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกร
3. เร่งรัดการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ NPLs ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
4. กำหนดเกณฑ์การให้คะแนนประเมินตามแบบตรวจและประเมินผู้จำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร และกำหนดให้มีการประเมินการปฏิบัติตามข้อพึงปฏิบัติและข้อห้ามของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการโดยเกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ การประเมินด้านคุณภาพปัจจัยการผลิตของร้านค้าควรกำหนดให้มีการประเมินว่ามีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกรมวิชาการเกษตรและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ในการติดตามประเมินผลโครงการดังกล่าว กรณีมีปัญหาในการดำเนินงานให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
5. สั่งการสาขาให้การสนับสนุนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ที่รับผิดชอบแต่ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ โดยช่วยดำเนินการปรับ เพิ่ม/ลดรายการสินค้าในระบบรายการสินค้ามาตรฐานกลางและปรับแก้ไขราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลง
6. เรียกคืนเครื่องอ่านบัตร (EDC)จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการที่มียอดจำหน่ายไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเฉพาะร้านค้าประเภท สกต. และพิจารณาจัดสรรให้แก่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการที่ยังไม่ได้รับเครื่องดังกล่าว
7. พิจารณาดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงระบบข้อมูลบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้สามารถรายงานผลการส่งมอบบัตรให้เกษตรกรตามข้อเท็จจริง
หมายเหุต : ภาพประกอบจาก อีสานไกด์ ดอทคอม