เปิดใจอดีตแกนนำพูโล...แม้คนที่เคยต่อสู้กับรัฐก็ยังรักในหลวง
“ตั้งแต่เกิดมาในชีวิตนี้ ไม่เคยได้ยินใครในพื้นที่พูดถึงในหลวงในทางที่ไม่ดี ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัยต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงตลอดมา”
นี่คือประโยคทองของ นายมะแอ สะอะ ซึ่งถ้าบอกชื่อนี้หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเขาคือคนเดียวกับ “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” อดีตแกนนำขบวนการพูโล ที่เคยเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐไทย ทุกคนต้องร้องอ๋อ...
นี่คือเครื่องยืนยันที่ชัดเจนที่สุดว่า ทุกตารางนิ้วในประเทศนี้ พสกนิกรทุกคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน นับถือศาสนาใด ล้วนมีความรัก เทิดทูน และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
แม้แต่ผู้ที่เคยมีความคิดต่อต้านรัฐและต้องการแบ่งแยกดินแดนก็ยังรักในพระองค์
“คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกดีใจทุกครั้งที่ทราบข่าวว่าในหลวงเสด็จฯมาในพื้นที่ จะพากันแห่เดินทางไปรับเสด็จฯ ตัวผมเองสมัยเด็กๆ ก็เคยรับเสด็จฯหลายครั้ง ที่จำได้คือตอนอายุ 12 ปี หรือประมาณปี 2506 ได้ไปรับเสด็จฯที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี แม้จะอยู่แค่ห่างๆ แต่ก็รู้สึกดีใจและปลื้มใจมาก” หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ เล่าถึงความทรงจำเมื่อครั้งอดีต
“ก่อนที่ผมจะเข้าขบวนการ ชาวบ้านในพื้นที่ก็พูดถึงในหลวงตลอด เมื่อเข้าขบวนการแล้ว ก็เคยได้ยิน ตวนกูบีรอ กอตอนีลอ (ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานพูโล เสียชีวิตไปแล้ว มีชื่อไทยว่า นายวีระ หรืออดุลย์ ณ วังคราม) พูดชื่นชมในหลวง โดยเฉพาะในเรื่องพระราชกรณียกิจของพระองค์ และการที่ทรงให้สิทธิ์ ตลอดจนทรงช่วยเหลือพี่น้องอิสลาม เพราะในหลวงทรงทุ่มเทเพื่อทุกคน”
“พูโล” ย่อมาจากชื่อภาษาอังกฤษว่า Patani United Liberation Organization แปลเป็นไทยว่า องค์กรปลดปล่อยปัตตานี หรือขบวนการปลดแอกแห่งชาติปัตตานี ก่อตั้งเมื่อปี 2511 โดยมี หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ เป็นผู้นำฝ่ายกองกำลัง
คำว่า “ท่าน้ำ” เป็นบ้านเกิดของเขาที่ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งในอดีตมีคนจากหมู่บ้านนี้จับปืนเข้าขบวนการต่อสู้กับรัฐไทยหลายคน
ราว 20 ปีก่อน หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ถูกจับกุมและถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่ด้วยความเป็น “นักโทษชั้นเยี่ยม” และนโยบายรัฐบาลในยุคหลังๆ ที่ต้องการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ทำให้เขาได้รับโอกาสย้ายเรือนจำจากบางขวางกลับภูมิลำเนาเมื่อปี 2556 โดยถูกคุมขังต่อที่เรือนจำจังหวัดยะลา ก่อนจะได้รับการพักโทษ และปล่อยตัวเป็นอิสระในวันฮารีรายอ 17 กรกฎาคมปีที่แล้ว
ช่วงที่อยู่ในคุก หะยีอิสมะแอ ท่าน้ำ เขียนจดหมายเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นเรื่องการพัฒนา ภายใต้การทำงานขององค์กรที่ใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการสิริมงคลทั่วประเทศ" ซึ่งเป็นแนวทางที่ประยุกต์มาจากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เขารักและเทิดทูน
“สมัยอยู่ในเรือนจำบางขวาง ได้จะใช้เวลาอ่านปรัชญาของในหลวง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย โดยใช้ปรัชญาของในหลวงเป็นหลักชัย และตั้งใจมาตลอดว่าเมื่อพ้นโทษจะขอน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับครอบครัว และนำมาสอนชาวบ้านในพื้นที่”
คณะกรรมการสิริมงคลทั่วประเทศ ตามข้อเสนอของ สะมะแอ ท่าน้ำ จะผลักดันนโยบาย 3 ด้านเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นโยบายที่ 1 สามัคคี สันติสุข คือการสร้างสวัสดิภาพ ความมยุติธรรม และความชอบธรรม
นโยบายที่ 2 ส่งเสริมและสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจพอเพียง คือ เลี้ยงโค แพะ ทั้งเนื้อและนม ไก่เนื้อและไก่พันธุ์ เลี้ยงปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็ม ตัดเย็บ ผลิตอาหาร เครื่องดื่ม ปลูกพืชผักและไม้ยืนต้น
นโยบายที่ 3 การศึกษา ปลูกจิตสำนึกสร้างความเข้าใจ เน้นกิจกรรมกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม ทั้งอานาซีด ดิเกร์ฮูลู อ่านกลอน แสดงละคร ยิงธนู วิ่งม้า แข่งเรือ ว่าว ฟุตบอล ชกมวย ปีนภูเขา ทำความสะอาดทะเล รวมทั้งแห่ขบวนช้างขบวนนก
ปัจจุบัน หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หรือชื่อตามบัตรประชาชนไทยว่า นายมะแอ สะอะ ใช้ชีวิตอย่างสงบที่บ้านท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามคำสอนของในหลวง รวมทั้งร่วมพัฒนาพื้นที่ด้วยการเดินสายให้ความรู้พี่น้องประชาชนตามที่เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่ในเรือนจำ
“รู้สึกเสียใจมากเมื่อทราบข่าวในหลวงสวรรคต ก็ได้ถวายความอาลัยมาตลอดทุกครั้งหลังละหมาด 5 เวลาต่อวัน และหลายครั้งมีโอกาสไปร่วมถวายอาลัยที่มัสยิด ทั้งในอำเภอปะนาเระ และที่อื่นๆ โดยผมตั้งใจไปร่วมพิธีถวายความอาลัยทุกสัปดาห์หลังละหมาดวันศุกร์กับพี่น้องมุสลิม โดยเวียนไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วสามจังหวัด”
แม้วันนี้จะไม่มีพ่อหลวงอีกแล้ว แต่ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ เชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และหยุดสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงได้อย่างยั่งยืน
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ขณะให้สัมภาษณ์
2 ถวายความอาลัยและพบปะชาวบ้านตามมัสยิดหลังละหมาดวันศุกร์