รบ.ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประชุมเพื่อสร้างความก้าวหน้าด้านสิทธิเด็กกว่าหนึ่งพันล้านคน
7 พฤศจิกายน 2559 – รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาร่วมประชุมกันในวันนี้เพื่อหารือถึงวิธีสร้างความก้าวหน้าของสิทธิเด็กในด้านต่าง ๆ โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนี้ระหว่างวันที่ 7 ถึง 8 พฤศจิกายน 2559 ภายใต้หัวข้อ "พันล้านความคิด: เด็ก ๆ เป็นนักคิด เศรษฐกิจก็มั่งคั่ง" (A Billion Brains: Smarter Children, Healthier Economies) ทั้งนี้ ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยผู้นำและเจ้าหน้าที่อาวุโสจาก 28 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีมากกว่าหนึ่งพันล้านคน หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรเด็กทั่วโลก
การประชุมครั้งนี้มุ่งสร้างเสริม "ความร่วมมือใต้-ใต้” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลักษณะของการนำบทเรียนจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งประสบความท้าทายลักษณะเดียวกัน มาปรับใช้เพื่อพัฒนาเด็ก ๆ ในประเทศของตน โดยครั้งนี้จะเน้นไปที่สามหัวข้อคือ การคุ้มครองทางสังคม การยุติความรุนแรงต่อเด็ก และบริการประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะใช้รายงานพิเศษสามฉบับซึ่งระบุข้อมูลและข้อเสนอแนะในแต่ละด้านสำหรับการหารือเพื่อวางแผนและดำเนินงานเพื่อเด็กต่อไป ทั้งนี้ รายงานทั้งสามฉบับนี้สรุปว่า การลงทุนในสามด้านนี้โดยทันทีจะเป็นประโยชน์มากต่ออนาคตและความมั่งคั่งของภูมิภาค
นางโรฮานี อับดุล คาริม รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสตรี ครอบครัว และชุมชน (Minister of Women, Family and Community Development) ของประเทศมาเลเซียกล่าวว่า "การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นส่วนสำคัญยิ่งสำหรับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 11 รัฐบาลมาเลเซียได้สรุปกรอบการดำเนินงาน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีกำลังคนที่เป็นแรงงานฝีมือมากพอสำหรับการนำภาคเศรษฐกิจทั้งหมดให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานที่ใช้ความรู้อย่างเข้มข้น ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน และดึงดูดการลงทุนเข้าสู่มาเลเซีย"
นางโรฮานี กล่าวเพิ่มเติมว่า "ผลจากงานวิจัยล่าสุดที่จะใช้หารือกันในที่ประชุม แสดงหลักฐานใหม่ซึ่งยืนยันถึงผลตอบแทนที่สูงมากจากการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์ โดยเน้นด้านการคุ้มครองทางสังคม การป้องกันการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก และบริการประกันสุขภาพถ้วนหน้า"
นายโอมาร์ อับดี รองผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า "พลังสมองสำหรับอนาคตของเด็กหนึ่งพันล้านคน คือทุนมนุษย์อันยิ่งใหญ่ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นทุนมนุษย์ที่เราทั้งหลายหวังพึ่งพา เพื่อการสร้างอนาคตที่ดีและยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับเราทุกคน โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีการเปิดเผยข้อมูลใหม่ทางสถิติ ซึ่งบ่งชี้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางราวร้อยละ 43 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้พัฒนาทางสติปัญญาอย่างเต็มศักยภาพ ทั้ง ๆ ที่ในช่วงเวลานี้ ไม่มีประเทศใดที่สามารถรับความเสี่ยงระดับนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง”
การคุ้มครองทางสังคม
การแก้ปัญหาความเปราะบางและด้อยโอกาสของเด็ก ๆ และผู้ปกครองนั้นเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือการลงทุนในแผนงานด้านการคุ้มครองทางสังคม งานวิจัยเรื่อง ทุนความสามารถทางการรับรู้ : การลงทุนกับเด็ก ๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (Cognitive Capital: Investing in Children to Generate Sustainable Growth) พบว่าการลงทุนกับเด็ก ๆ โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยนั้นเกิดประโยชน์ในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดการลิดรอนสิทธิ และป้องกันภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ
มีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่าสภาพแวดล้อมในวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดนั้น ส่งผลอย่างมากต่อสติปัญญาและความสามารถทางการรับรู้ของมนุษย์ เด็กที่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาความสามารถทางสติปัญญาและการรับรู้ได้เต็มศักยภาพ คือกลุ่มที่ได้รับโภชนาการและการกระตุ้นที่ดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัย
การลงทุนเพื่อเพิ่มทุนทางสติปัญญา ซึ่งหมายถึงขีดความสามารถของผู้คนในการคิด เรียนรู้ และทำงานร่วมกัน จึงย่อมช่วยให้เศรษฐกิจมั่นคงและเติบโต อีกทั้งในระบบเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ ทุนทางสติปัญญาของสังคมยังเป็นรากฐานของความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการปรับตัวตามสถานการณ์ และขีดความสามารถของมนุษย์
ความรุนแรงต่อเด็ก
การใช้ความรุนแรงต่อเด็กเป็นเรื่องที่ผิดอย่างร้ายแรง ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลเลวร้ายต่อเด็กที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ตามหลักศีลธรรม และผลจากงานวิจัยยังบ่งชี้ว่าความรุนแรงต่อเด็กส่งผลต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจและสาธารณสุข
งานวิจัยเรื่อง การป้องกันความรุนแรงต่อเด็กช่วยให้เศรษฐกิจมั่นคงขึ้นได้อย่างไร (Preventing Violence against Children and how this Contributes to Building Stronger Economies) พบว่า ความรุนแรงยังเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน และประมาณการว่าในแต่ละปีมีเด็กมากกว่าหนึ่งพันล้านคนที่เสี่ยงต่อความรุนแรง โดยสัดส่วนสูงสุดเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
ความรุนแรงสามารถส่งผลร้ายต่อตัวบุคคลในระยะยาว ความรุนแรงต่อเด็กเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากทำให้ระบบบริการรักษาพยาบาลมีภาระมากขึ้น เพิ่มเหตุความรุนแรงและอาชญากรรม รวมถึงจำนวนของเหยื่อที่ต้องพิการและเสียชีวิต งานวิจัยของยูนิเซฟชี้ว่า ในแต่ละปี การกระทำรุนแรงต่อเด็กสร้างความเสียหายให้กับประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 209,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับร้อยละ 2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของทั้งภูมิภาครวมกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทำให้มีพันธะในการคุ้มครองเด็กจากความรุนแรง การละเมิด และการกระทำทารุณ การบรรลุผลตามพันธกรณีอย่างครบถ้วนนั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการอีกหลายด้าน รวมถึงการเพิ่มงบลงทุนในด้านบริการทางสังคม
บริการประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น เป็นประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ แม้กระนั้น ความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินของครอบครัว
งานวิจัยเรื่อง “การส่งเสริมความก้าวหน้าของการให้บริการประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่สตรีและเด็ก (Accelerating Progress towards Universal Health Coverage for Women and Children)” พบว่า บริการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจด้วย ตัวอย่างเช่น ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยของประชากรทั่วประเทศ และทุกร้อยละ 10 ที่เพิ่มขึ้นของอายุคาดเฉลี่ยของประชากร ก็จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ถึง 0.4 ต่อปี
ภารกิจสำคัญลำดับต้น ๆ สำหรับแผนการบริการประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ การลงทุนเพื่อส่งเสริมคุณภาพของบริการ ตลอดจนการส่งเสริมความรู้และทักษะของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งจะช่วยให้สตรีและเด็กสามารถเข้าถึงบริการได้โดยสะดวก ทั้งหมดนี้เป็นวิธีดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ
เกี่ยวกับการประชุมระดับสูง
การประชุมภายใต้หัวข้อ "พันล้านความคิด: เด็ก ๆ เป็นนักคิด เศรษฐกิจก็มั่งคั่ง" (A Billion Brains: Smarter Children, Healthier Economies) เป็นการประชุมระดับสูงครั้งที่สามของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสร้างความก้าวหน้าด้านสิทธิเด็ก และสร้างความร่วมมือที่มีประสิทธิผลเพื่อประโยชน์ของเด็กทั่วภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยจัดการประชุมระดับสูงขึ้นครั้งแรกที่กรุงปักกิ่งในปี 2553 และครั้งที่สองที่กรุงนิวเดลีในปี 2556 องค์การยูนิเซฟเป็นภาคีในกระบวนการประชุมระดับสูงดังกล่าว และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในการส่งเสริมให้สิทธิเด็กได้รับการเคารพอย่างครบถ้วน
การประชุมระดับสูงครั้งที่สามมีลักษณะพิเศษคือการส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วม โดยก่อนการประชุม ได้มีการจัดทำเอกสาร Innovation Challenge เชิญชวนให้เยาวชนร่วมแบ่งปันความคิดในการจัดการกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทางสังคม การยุติความรุนแรงต่อเด็ก และการให้บริการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลตอบรับก็คือ เยาวชนจากทั่วภูมิภาคได้ส่งข้อคิดเห็นมามากกว่า 660 ฉบับ ทั้งนี้ จะคัดเลือกความคิดเห็นที่ดีที่สุดสามข้อเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนและนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป