เปิดชีวิต“พระสงฆ์” ใต้ร่มเงาพระศาสนา กับเรื่องเงินๆ ทองๆ & แชร์ลูกโซ่
“บิณฑบาตจะเป็นอาหารซะส่วนใหญ่ ปัจจัยมีบ้าง แต่ปัจจัยไม่ได้มีทุกวัน บางวันก็ได้ บางวันไม่ได้ บางวันก็ได้เยอะเหมือนกัน อย่างช่วงปลายๆ เดือน ต้นๆ เดือน วันหนึ่งได้ปัจจัยอย่างมากสุดก็วันละประมาณ 300 – 400 บาท”
“พระภิกษุ” คือ ตัวแทนผู้เผยแผ่หลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนา
ตั้งแต่อดีต พระสงฆ์ในประเทศไทยถือเป็นวรรณะที่ประชาชนให้ความเคารพบูชา เนื่องด้วยความประพฤติที่อยู่ในหลักธรรม และความมุ่งมั่นที่จะพ้นทุกข์
แต่ปัจจุบันด้วยความที่สังคมและความเจริญเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปมาก ก็ส่งผลทำให้การดำเนินชีวิตใต้ร่มเงา...พระพุทธศาสนา เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการบวชพระ ไปแล้ว (อ่านประกอบ : “เฉลี่ย2หมื่น! เปิดค่าใช้จ่ายบวช'พระ' เส้นทางชีวิตชายไทย สู่ใต้ร่มเงาพระศาสนา”) สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พระสงฆ์รูปหนึ่ง เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตของพระสงฆ์ ในประเด็นที่ว่า หลังจากผ่านขั้นตอนการบวช มีสถานะเป็นพระแล้ว
ชีวิตภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ของพระ ในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง?
นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือ ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันกลับมา ซึ่งพบว่ามีข้อมูลหลายส่วนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ และกิจกรรมทางการเงินบางกิจกรรมที่ไม่พึ่งประสงค์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เมื่อตัดสินใจที่จะละแล้วซึ่งทางโลก แน่นอนว่าการใช้ชีวิตที่ต้องเคร่งครัด ในการรักษาศีลจำนวน 227 ข้อนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ รวมไปถึงการใช้ชีวิตในฐานะตัวแทนของพระพุทธศาสนาที่จะต้องระมัดระวังและสำรวมกาย สำรวมใจ
พระ พ. (ชื่อย่อสมมุติ) หนึ่งในพระภิกษุประจำวัดอารามหลวงแห่งหนึ่ง ซึ่งบวชมาแล้วกว่า 20 พรรษา ได้บอกเล่าเกี่ยวกับการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันในฐานะตัวแทนผู้เผยแพร่ศาสนาพุทธว่า เมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาในตอนเช้ามืดของทุกวันก็ต้องสวดมนต์ไหว้พระ แผ่เมตตา เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการบิณฑบาตและภารกิจประจำวัน
“พระที่นี่จะตื่นตี 4 ตื่นมาทำธุระส่วนตัวเสร็จเรียบร้อย ก็สวดมนต์ ไหว้พระ แผ่เมตตา แล้วก็ออกบิณฑบาตประมาณ 1 ชม. ก็กลับมาฉันภัตตาหารเช้า เสร็จแล้วก็ลงพระอุโบสถไปสวดมนต์พร้อมกันหมดทั้งพระทั้งเณร สวดมนต์เสร็จก็กลับมาทำกิจวัตรของแต่ละคน ใครมีหน้าที่เรียนหนังสือก็ไปเรียนหนังสือ ใครมีหน้าที่สอนหนังสือก็สอนหนังสือไป ใครที่ไม่ได้ทำตรงนี้ก็ไปปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง พอ 11 โมงก็ฉันภัตตาหารเพล แต่ฉันภัตตาหารเพลบางทีก็มีญาติโยมมานิมนต์นะ ถ้าใครไม่มีกิจก็ฉันที่วัด จากนั้นประมาณ 6 โมง จึงทำวัตรเย็น”
สำหรับการบิณฑบาตในตอนเช้านั้น ถือเป็นสิ่งที่พระสงฆ์ต้องพึงปฏิบัติในทุกวัน จะมีงดเว้นในวันพระเพราะต้องลงศาลามาให้ศีลให้พรกับพุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญ
ทั้งนี้ การบิณฑบาตในวันธรรมดานั้นจะมีประชาชนมารอคอยพระตามพื้นที่ที่อยู่อยู่ก่อนแล้ว การใส่บาตรส่วนใหญ่จะใส่เป็นอาหาร ปัจจัยนั้นมีบ้างตามโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงต้นเดือนกับปลายเดือนจะได้ปัจจัยต่อวันมากถึง 400 บาท
“บิณฑบาตจะเป็นอาหารซะส่วนใหญ่ ปัจจัยมีบ้าง แต่ปัจจัยไม่ได้มีทุกวัน บางวันก็ได้ บางวันไม่ได้ บางวันก็ได้เยอะเหมือนกัน อย่างช่วงปลายๆ เดือน ต้นๆ เดือน วันหนึ่งได้ปัจจัยอย่างมากสุดก็วันละประมาณ 300 – 400 บาท”
ในส่วนของกิจนิมนต์นั้น พระรูปนี้ระบุว่า ผู้ช่วยเจ้าอาวาสจะเป็นเจ้าหน้าที่คอยรับงานกิจนิมนต์ จากนั้นจะแจกจ่ายให้กับพระลูกวัด ว่าใครต้องไปกิจนิมนต์ที่ไหน โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกพระสำหรับรับกิจนิมนต์นั้น จะคัดเลือกจากจากความคล่องในการสวดมนต์ สวดเสียงดังฟังชัด และระยะเวลาที่บวชก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ส่วนปัจจัยที่จะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับจิตศรัทธาจากเจ้าภาพทั้งสิ้น
“กิจนิมนต์ส่วนใหญ่จะมีเฉพาะเสาร์ – อาทิตย์ วันธรรมดาก็จะมีบ้างแต่ไม่เยอะ เรื่องของปัจจัย พระจะได้เป็นปัจจัยแล้วแต่เขาจะถวายแล้วแต่งานแล้วแต่เจ้าภาพ การติดต่อมานิมนต์พระจะติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นพระผู้ช่วยเจ้าอาวาส ก็จะมีหน้าที่รับกิจนิมนต์ แจกจ่ายพระว่ารูปไหนจะต้องออกไปรับกิจนิมนต์ที่ไหน บางครั้งนิมนต์ไปแบบไม่มีปัจจัยก็มี ถวายภัตตาหารเสร็จ ถวายของ แต่สมัยนี้นะ น้อยมากที่จะไม่มีปัจจัย”
คำถามที่น่าสนใจ คือ “พระ” จับต้อง “เงิน” ได้จริงหรือ?
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ พระภิกษุรูปนี้ยอมรับว่า ในปัจจุบันพระจำนวนมากมีการใช้จ่ายเงินจริง เนื่องด้วย “ภาระ” ที่ต้องรับผิดชอบ โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะมาในส่วนของค่าไฟที่ต้องจ่ายให้วัด ค่าพาหนะเดินทางไปทำกิจธุระ ค่าเล่าเรียนเพื่อใช้ต่อเติมอนาคต
แต่ในขณะเดียวกันพระสงฆ์บางรูปก็ใช้ปัจจัยตรงนี้ในทางที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน อาทิ การเสี่ยงโชคจากหวยใต้ดิน และแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น
สำหรับเงินที่นำเป็นค่าใช้จ่ายของพระนั้น คือปัจจัยที่ทางญาติโยมถวายมาให้ ทั้งจากการบิณฑบาต รับกิจนิมนต์ และโยมอุปัฏฐาก ซึ่งก็คือผู้ปกครอง หรือญาติพี่น้องของพระนำมาถวายนั่นเอง
“คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้หรอก ว่าพระเองก็ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ แต่ละวัดจะเก็บค่าไฟไม่เหมือนกันนะ อย่างวัดนี้จะเก็บทุกสิ้นเดือน เช็คยอดจากหน่วยมิเตอร์ที่ติดตามกุฏิ บางวัดใช้เป็นบัตรเติมค่าไฟก็มี ถ้าใครใช้เยอะจ่ายเยอะ ใช้น้อยก็จ่ายน้อย ตามสถานการณ์ แล้วเงินตรงนี้เป็นเงินที่ได้จากการทำบุญของญาติโยม จะใช้จ่ายอะไร ตัวพระเองนี่แหละจะต้องพึงระลึกเสมอว่าสิ่งนั้นมันเหมาะควรหรือไม่”
ทั้งนี้ ในกรณีของพระที่กำลังศึกษาเล่าเรียนจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเทอม ค่าพาหนะเดินทาง พระบางรูปต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย ไว้สำหรับทำงานและติดตามข่าวสารบ้านเมือง หรือแม้แต่การอาพาธของพระ ที่มีค่ารักษาฟรี แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องพาหนะเดินทางเช่นกัน
ขณะที่ พระภิกษุรูปนี้ชี้แจงถึงความเห็นเรื่องว่า
“เราไม่สามารถไปบังคับความคิดใครได้ ถ้าเปรียบพระเป็นอาชีพ ก็เป็นอาชีพที่จะต้องเผยแผ่ศาสนา เผยแพร่ธรรมะ นี่คืออาชีพหลัก เผยแพร่และปฏิบัติของตัวเอง เผยแพร่ให้เขารู้ในธรรมะ ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่อาชีพที่จะต้องไปหาเงิน ถ้าคิดว่าบวชพระแล้วได้เงินมาใช้ นั่นไม่ใช่อาชีพของพระ”
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลชีวิตของพระสงฆ์ที่เกิดขึ้น ใต้ร่มเงาพระศาสนา ในสังคมไทยยุคปัจจุบันนี้