ความบกพร่องเรื่อง 'ท่อ' กรณีน้ำมันรั่วทะเลระยอง? คำถามถึงระบบธรรมาภิบาลในเครือ ปตท.
".. จำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบท่อน้ำมันตามมาตรฐานสากล หรือโอซีไอเอ็มเอฟ ที่ต้องตรวจสอบทุก 6 เดือน แต่จำเลยกลับไม่ยอมตรวจนานปีเศษ จนแกนโลหะที่พันเส้นใยชั้นในสุดของท่อขาดความยืดหยุ่นและไม่สามารถทนต่อแรงกดได้ จึงเกิดคมโลหะไปบาดท่อส่งจนรั่วทำให้น้ำมันดิบรั่วไหล และไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะยกเว้นความรับผิดได้.."
ท่อส่งน้ำมันรั่ว เป็น "อุบัติเหตุ" หรือ "เป็นเพราะถูกปล่อยปะละเลย ไม่มีการตรวจสอบสภาพตามหลักปฏิบัติที่กำหนดไว้ จนทำให้ท่อเสื่อมสภาพเกิดการรั่วไหล"
เป็นคำถามสำคัญที่กำลังเกิดขึ้น ถึงสาเหตุที่แท้จริง จากเหตุการณ์น้ำมันดิบของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) (PTTGC) รั่วไหลลงทะเล พื้นที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 หลังจากที่เรื่องนี้เงียบหายไปนานหลายปี และสังคมก็เริ่มลืมเลือนกันไปแล้ว
ที่มาของคำถามนี้เกิดขึ้น เมื่อล่าสุดในช่วงปลายเดือน ส.ค.2559 ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง มีคำพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมส่วนแพ่ง หมายเลขดำ ที่ สวพ.2-8/2557 ที่ นางสรชา วิเชียรแลง กับพวกรวม 223 ราย ผู้ประกอบการร้านค้าแผงลอย ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบกิจการเรือเร็ว โรงแรม และอื่นๆ จ.ระยอง ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัทลูกของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายบวร วงศ์สินอุดม ประธานกรรมการบริหารบริษัท พีทีทีฯ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-2 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 1 พันล้านบาทเศษ ซึ่งต่อมาศาลจำหน่ายคดีโจทก์ที่ 223 ที่เรียกค่าเสียหายถึง 1,000 ล้านบาทเศษออกจากสารบบ เนื่องจากเข้าสู่แผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปก่อนหน้านี้ คงเหลือโจทก์ 222 คน เรียกค่าเสียหายรายละระหว่าง 300,000 บาท ถึง 450,000 บาท พร้อมกับให้จำเลยร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมกับค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงิน
โดยในคำพิพากษาศาล ระบุชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบท่อน้ำมันตามมาตรฐานสากล หรือโอซีไอเอ็มเอฟ ที่ต้องตรวจสอบทุก 6 เดือน แต่จำเลยกลับไม่ยอมตรวจนานปีเศษ จนแกนโลหะที่พันเส้นใยชั้นในสุดของท่อขาดความยืดหยุ่นและไม่สามารถทนต่อแรงกดได้ จึงเกิดคมโลหะไปบาดท่อส่งจนรั่วทำให้น้ำมันดิบรั่วไหล และไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะยกเว้นความรับผิดได้ (อ้างอิงข้อมูลข่าวคำสั่งศาลแพ่ง จาก ผู้จัดการออนไลน์ http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9590000085299 )
การระบุชัดในคำพิพากษาของศาลครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลเรื่องความบกพร่องในการบริหารงาน ของ PTTGC เกี่ยวกับการดูแลรักษาสภาพท่อน้ำมันที่เกิดการรั่วไหลต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เพราะข้อมูลที่ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงปัจจุบัน จะเน้นหนักไปที่เรื่อง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาของพื้นที่หลังเกิดเหตุ
แต่ไม่มีใครตั้งคำถามอย่างจริงจังถึงปัญหาเรื่องคุณภาพและมาตรฐานท่อส่งน้ำมัน ซึ่งดูเหมือนจะต้นตอสำคัญของเหตุการณ์นี้มาก่อนเลย และดูเหมือนว่าทาง PTTGC หรือแม้แต่บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)ซึ่งเป็นบริษัทแม่และเน้นในเรื่องธรรมาภิบาลก็ไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความบกพร่องเรื่องการดูแลรักษาท่อส่งน้ำมัน ตามที่ศาลระบุ ให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างเป็นทางการเช่นกัน
เพราะถ้าหากยังจำกันได้ ในการเปิดแถลงข่าวผลการตรวจสอบกรณีนี้ ที่มี คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลจังหวัดระยอง พร้อมด้วย ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2556 ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการระบุถึง ประเด็นเรื่องการไม่ตรวจสอบท่อน้ำมันตามารตฐานสากล ที่ต้องตรวจสอบทุก 6 เดือน เป็นระยะเวลานานถึงปีเศษ ตามที่ศาลระบุด้วยเช่นกัน
โดยการแถลงข่าวดังกล่าวระบุเพียงแค่ว่า เหตุที่ทำให้น้ำมันรั่วเพราะท่อรั่ว ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ จากการดูเอกสาร ไม่พบปัจจัยภายนอกที่ทำให้ท่อแตก เหตุอื่นๆที่จะทำให้ท่อแตก เช่น เกิดการกระแทก คนมาเจาะท่อ เท่าที่ประเมินการสืบสวนครั้งนี้ ไม่พบ ดังนั้นคงเป็นเหตุทางเทคนิคที่ต้องมีการตรวจสอบต่อไป หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอะไรเพิ่มเติมอีก (อ่านประกอบ : เปิดผลสอบเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วในทะเลระยอง ฉบับ "คุณหญิงทองทิพ")
ทั้งนี้ การปกปิดไม่เปิดเผยข้อมูลถึงสาเหตุที่แท้จริงที่เป็นต้นต่อของปัญหาน้ำมันรั่วไหล เคยปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนมาแล้ว ในกรณีต่างประเทศ หากใครยังจำกันได้ ในช่วงปี 2553 หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่อ่าวเม็กซิโก สหรัฐฯ จากกรณีแท่นขุดเจาะน้ำมันที่เกิดระเบิด ทำให้คนงานเสียชีวิตถึง 11 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 17 ราย มีน้ำมันดิบปริมาณกว่า 4.9 ล้านบาร์เรล ถูกปล่อยรั่วไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก จนระบบนิเวศทางทะเลบริเวณนั้นถูกทำลายเสียหาย สัตว์ทะเลเสียชีวิตและมีผู้ได้รับความเดือนร้อนจำนวนมาก
บริษัท บริติช ปริโตเลียม หรือบีพี เจ้าของแท่นขุดเจาะน้ำมันดังกล่าว ถูกฟ้องร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ก่อนที่บริษัทฯ จะออกมายินยอมชำระค่าปรับเป็นมูลค่านับแสนล้านบาท รวมถึงการยอมรับความผิดในคดีอาญาอีกหลายกระทง ซึ่งมีคดีขัดข้วางกระบวนการยุติธรรมเจตนาให้การเท็จเพื่อปกปิดปริมาณน้ำมันรั่วไหลที่แท้จริงรวมอยู่ด้วย
ขณะที่บริษทเอกชนรายอื่นที่เกี่ยวข้องกัน ก็ทยอยออกมายอมรับความผิดในเวลาต่อมา อาทิ บริษัทฮัลลิเบอร์ตัน ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับสัมปทานบริหารแท่นขุดเจาะจากบีพี ก็ออกมาประกาศขอรับผิดชอบฐานเจตนาทำลายข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เพื่อปกปิดหลักฐานของอุบัติเหตุที่แทนขุดเจาะ โดยยอมชำระค่าเสียหายอย่างไม่มีเงื่อนไข และพร้อมให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทำทัณฑ์บนแล้วเช่นกัน
ย้อนกลับมาในประเทศไทย สำหรับกรณีปัญหาน้ำมันรั่วไหลในทะเลระยอง ผลจากการที่ศาล ระบุว่า ปัญหาเรื่องท่อรั่ว เป็นผลมาจากการไม่ตรวจสอบท่อน้ำมันตามมาตรฐานสากล ที่ต้องตรวจสอบทุก 6 เดือน เป็นระยะเวลานานถึงปีเศษ ชี้ให้เห็นว่า เป็นความบกพร่องในการบริหารงานของ PTTGC ไม่ได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ
คำถามที่น่าสนใจ คือ ผู้บริหารบริษัท และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องท่อ มีส่วนต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ด้วยหรือไม่ อย่างไร? และที่สำคัญมีปัญหาเรื่องการปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริงหรือไม่? ควรจะมีการตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้เป็นทางการหรือไม่?
และเมื่อ PTTGC เป็นบริษัทลูกของปตท. ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ผู้เสียหายโดยตรง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ อาจจะไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ประกอบการร้านค้า ชาวบ้าน ในอาศัยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุการณ์เท่านั้น (นี้ยังไม่นับร่วมความเสียหายทางธรรมชาติที่ประเมินค่ามิได้)
อาจจะนับรวมไปถึงผู้ถือหุ้น ของบริษัท PTTGC และปตท. ในข่ายผู้เสียหายโดยตรงด้วยเช่นกัน
เพราะการที่บริษัทบริหารงานบกพร่องผิดพลาดเอง ปล่อยปะละเลยการตรวจสอบท่อส่งน้ำมันตามมาตรฐาน ทำให้ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินชดเชยจำนวนมากหลายร้อยล้านบาท มีผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ต่อบริษัท รวมถึงชื่อเสี่ยงที่ต้องเสียหายไปจากกรณีนี้
คำถามที่น่าสนใจ คือ จะมีผู้ถือหุ้นรายใด กล้าพอจะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ของตนเอง โดยการฟ้องร้องผู้บริหารบริษัท เจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบงาน ในช่วงที่เกิดปัญหานี้ เพื่อให้ร่วมกันรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัท
เพื่อสร้างบรรทัดฐานธรรมาภิบาลในการบริหารงานแบบมืออาชีพ ทำผิดก็ต้องกล้ายอมรับความผิด และรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ เหมือนกรณีอ่าวเม็กซิโก ที่บริษัทเอกชน ตัดสินใจออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือไม่?
หรือจะปล่อยให้เรื่องนี้ เงียบหายไปกับสายลมเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น เช่นหลายกรณีในอดีตที่ผ่านมา