พื้นที่ (ไม่) ปลอดภัย มุ่งทำลายสามเหลี่ยมเศรษฐกิจชายแดนใต้
เหตุการณ์ความรุนแรงเกือบ 20 จุดใน 7 อำเภอของ จ.ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ถูกประเมินจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า มีลักษณะเป็นการก่อกวน เพราะก่อเหตุนอกเขตเมือง
แต่เมื่อไล่ดูเหตุรุนแรงแต่ละเหตุอย่างละเอียด แม้บางส่วนจะมีลักษณะเป็นการสร้างสถานการณ์ก่อกวนจริงๆ แต่บางเหตุการณ์ก็ก่อความสูญเสียไม่น้อย
โดยเฉพาะเหตุยิงพลทหารเสียชีวิต 1 นายที่ อ.เมืองปัตตานี, เหตุการณ์สังหารพนักงาน รปภ. 2 คนของศูนย์รถยนต์อีซูซุ อ.จะนะ จ.สงขลา และวางเพลิงเผาโชว์รูม รวมทั้งวางระเบิดแบบตั้งเวลาให้ระเบิดตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ส่วนที่ปั๊ม ปตท.ดอนยาง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ก็มีทั้งการกราดยิงร้านสะดวกซื้อ ก่อนราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผา ทั้งยังวางระเบิดดักทำร้ายเจ้าหน้าที่อีก 2 ลูก
รูปแบบการก่อเหตุลักษณะนี้คงเรียกว่าเป็นเพียงการ “ก่อกวน” ไม่ได้
เมื่อหันไปฟังการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ก็จะพบมุมมองที่แตกต่าง โดยเฉพาะเป้าประสงค์ของผู้ก่อเหตุรุนแรงที่สุดท้ายแล้วย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ โครงการพัฒนาของรัฐ และคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า บอกว่า ความพยายามของผู้ก่อเหตุมีวัตถุประสงค์ 3 อย่าง คือ 1.เพื่อทำลายชีวิตและทรัพย์สิน 2.เพื่อทำลายความเชื่อมั่นในระบบรัฐ และ 3.เพื่อทำลายโอกาสของพี่น้องประชาชน
ขณะที่ อนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะนักธุรกิจชื่อดังของปัตตานี และเป็นเจ้าของศูนย์รถยนต์อีซูซุจะนะที่ถูกเผา มองลึกลงไปกว่านั้น โดยเขาเชื่อว่าเป็นการพยายามทำลายกิจการร้านค้าที่ผู้ประกอบกิจการเป็นเป้าหมายอ่อนแอ
“มันต่อเนื่องมาตั้งแต่เหตุยิงสามีภรรยาที่ร้านวัสดุก่อสร้างใน อ.หนองจิก (24 ต.ค.) ระเบิดตลาดโต้รุ่งที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้ม (24 ต.ค.) เผาร้านสะดวกซื้อในปั๊ม ปตท. (2 พ.ย.) ทั้งหมดมีการก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับผู้ประกอบการที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ ขณะที่ผู้บริสุทธิ์ก็ยังสูญเสีย ทุกคนมีครอบครัว มีลูกต้องเรียน ฉะนั้นมันจึงเป็นความสูญเสียทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น การลงทุน รายได้ การจ้างงาน แล้วก็คนบริสุทธิ์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์” เป็นข้อสังเกตของ สนช.อนุศาสน์
อีกข้อสังเกตที่น่าสนใจจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในพื้นที่ก็คือ คนร้ายมุ่งก่อเหตุกับเป้าหมายบนท้องถนนหรือริมถนนเป็นหลัก เช่น เสาไฟฟ้า จุดตรวจ หรือแม้แต่โชว์รูมรถยนต์ เหมือนต้องการกระจายข่าวให้ประชาชนรู้ในวงกว้าง เพราะเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญ
นั่นหมายถึงว่าคนร้ายหวังผลเชิงจิตวิทยาว่าพื้นที่นี้ไม่ปลอดภัย ซึ่งย่อมส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในภาพรวม
ต้องไม่ลืมว่าช่วงหลังๆ มานี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของรัฐบาลอย่างขะมักเขม้น มีการประชุมสัมนากับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ ทั้งยังมีการส่งสัญญาณจากสภาพัฒน์ว่าจะมีเงินลงทุนไหลเข้ามามากถึง 15,000 ล้านบาท
แต่เมื่อพื้นที่ไม่ปลอดภัย ย่อมหมายถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนหดหาย ตามที่ สนช.อนุศาสน์ ได้สรุปเอาไว้
คำว่า “พื้นที่ปลอดภัย” อีกนัยหนึ่ง ยังโยงไปถึงกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ “มารา ปาตานี” ด้วย ซึ่งเพิ่งมีการพบปะกันครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์สุดท้ายปลายเดือน ต.ค.ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
วาระการประชุมและผลการประชุมมีการตีปี๊บว่าได้หารือเรื่องการกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ “เซฟตี้โซน” จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว
โดย “พื้นที่ปลอดภัย” ในนัยนี้ เรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “พื้นที่หยุดยิง” หมายถึงผู้เห็นต่างจากรัฐที่ร่วมโต๊ะพูดคุย พร้อมใจจะหยุดใช้ความรุนแรงในพื้นที่ที่กำหนดขอบเขตร่วมกัน อาจจะเป็นระดับหมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภอ
แต่ผลประชุมที่แท้จริงจากรายงานของฝ่ายความมั่นคงก็คือ ฝ่ายมารา ปาตานี ต้องการให้ฝ่ายรัฐบาลไทยเสนอรายละเอียดการทำพื้นที่ปลอดภัยก่อนการประชุมคณะทำงานเทคนิคร่วมฯครั้งต่อไป เพื่อจะได้จัดวางบุคคลที่เป็นคณะทำงานให้เหมาะสมกับภารกิจ และต้องไม่เร่งรัดการทำงาน โดยอ้างว่าเกรงจะกระทบกับชีวิตประชาชน
ขณะที่ฝ่ายรัฐเห็นว่าควรจัดทำรายละเอียดและหลักการร่วมกันเพื่อให้เป็นโครงการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมและทั้งสองฝ่ายยอมรับ ได้แก่ ประเภทของพื้นที่ปลอดภัย, นิยามพื้นที่ปลอดภัย, กลไกขับเคลื่อน, ขอบเขตงาน และลักษณะของความร่วมมือ ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานศึกษาแต่ละประเด็นต่อไป
จากผลประชุม ทำให้คาดการณ์ได้ว่า การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันยังต้องใช้เวลาอีกนาน แม้ว่าทุกภาคส่วนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการให้เร่งกำหนดพื้นที่ปลอดภัยให้ได้โดยเร็วก็ตาม
ที่สำคัญ “มารา ปาตานี” ปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงในย่านเศรษฐกิจและชุมชนในช่วงที่ผ่านมา หากข้ออ้างนี้เป็นความจริง ก็ทำให้เกิดคำถามจากบางฝ่ายว่า เมื่อ มารา ปาตานี ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงส่วนใหญ่ในพื้นที่ แล้วมีประโยชน์อันใดที่จะกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” ร่วมกับ มารา ปาตานี
และเมื่อ “พื้นที่ปลอดภัย” ในแง่ของการพูดคุยเจรจายังดูจะเป็นความหวังไกลๆ ขณะที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไม่เอาด้วยกับกระบวนการสันติภาพ ก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ “พื้นที่นี้ไม่ปลอดภัย” และส่งผลทางจิตวิทยาในวงกว้างมากที่สุด ดังเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 2 พ.ย.และก่อนหน้านั้น
บทสรุปสุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นวังวนของปัญหาชายแดนใต้ที่ยังมองไม่เห็นจุดเปลี่ยนไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นเลย!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
“ครม.ส่วนหน้า-เหตุวิสามัญฯ” ตัวเร่งสร้างสถานการณ์ป่วน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ฝ่ายความมั่นคงตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร ลงมาถึงโฆษก กอ.รมน. พยายามยืนกรานว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 2 พ.ย. ไม่เกี่ยวข้องกับการลงพื้นที่ครั้งแรกแบบ “เต็มคณะ” ของ “ครม.ส่วนหน้า” หรือ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็นหัวหน้า เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน
แต่จากการสอบถามความเห็นของฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่ แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเอง ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่การท้าทาย “ครม.ส่วนหน้า” ทั้งสิ้น
ส่วนเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง ก็เช่น การตอบโต้การวิสามัญฆาตกรรม นายมาหามะ แมเร๊าะ แนวร่วมก่อความไม่สงบคนสำคัญที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 30 ต.ค. และการวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา จากการปิดล้อมตรวจค้นและยิงปะทะ เมื่อวันที่ 12 ต.ค.
สอดคล้องกับ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่บอกว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นมีข้อสงสัยว่าเกี่ยวโยงกับกรณีเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิ์ประชาชนในพื้นที่ จึงมีการตอบโต้หรือไม่ และยังมีข้อกังวลในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิ์แล้วไม่ต้องรับโทษด้วย
เหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกทำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการก่อเหตุรุนแรง จึงอยากเรียกร้องให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและระมัดระวังมากกว่าเดิม
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ความเสียหายที่โชว์รูมรถยนต์อีซูซุ อ.จะนะ จ.สงขลา
2 นายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. และเลขาธิการ ครม.ส่วนหน้า
3 ความเสียหายจากเหตุป่วนในคืนวันที่ 2 พ.ย.
4 ปฏิบัติการตรึงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลังเกิดเหตุ