รมว.เกษตรฯเผย 4 มาตรการรับมือวิกฤติอาหาร หลังพืชพลังงานพุ่ง
กษ.เตรียมรับมือความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศ เร่งสร้างความมั่นใจว่าไทยเป็นครัว
โลก หนุนคุณภาพชีวิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่-ไม่สร้างโลกร้อน เปิดทางนำเข้าสินค้าเกษตรขาดแคลน คุ้มครองพื้นที่ไม่ให้ทิ้งพืชอาหารไปปลูกพลังงาน
วันที่ 27 ม.ค. 54 นายธีระวงศ์สมุทรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดเสวนา “อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์...จะถึงทางตันหรืออย่างไร”ที่จัดโดยสภาหอการค้าไทย ถึงการรับมือวิกฤติความมั่นคงทางอาหารว่า กระทรวงเร่งรัดดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลกและได้คุณภาพมาตรฐาน พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยการผลิต การวิจัยที่ส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นและไม่กระทบต่อสภาวะโลกร้อน
รมว.กษ กล่าวต่อไปว่า มาตรการสำคัญในการเตรียมความพร้อมต่อประเด็นดังกล่าวได้แก่ 1.การจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ เน้นการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ ครอบคลุมทุกรายสินค้าเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ แม้จะยังประสบปัญหางบประมาณที่ส่งผลให้การเคลื่อนยุทธศาสตร์ไม่เป็นตามเป้าหมายนัก 2.มาตรการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าเกษตรที่ในประเทศผลิตได้ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศและไม่กระทบต่อเกษตรกรภายในประเทศ
3.ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เช่น ความร่วมมือในกรอบยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม การจัดตั้งระบบสำรองข้าวฉุกเฉินของประเทศอาเซียน+3 อย่างถาวรภายในปี 2553 เป็นต้น 4.สร้างเสถียรภาพด้านอาหาร โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรในภาพรวม ทั้งเรื่องลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยจากศัตรูพืชระบาด การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม และการสร้างระบบประกันความเสี่ยงผลผลิตสินค้าเกษตร
"จุดมุ่งหมายสำคัญคือให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่และมีรายได้ที่สูงขึ้นป้องกันการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอาหารไปปลูกพืชชนิดอื่นทั้งพืชพลังงานและพืชอาหารสัตว์ในสัดส่วนที่ไม่สมดุลที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคตได้”
นายธีระ กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรผลิตอาหารได้เพียงพอและมีคุณภาพควบคู่ไปกับการสนับสนุนของภาครัฐในด้านโครงสร้างการผลิตในภาพรวมของประเทศ คือภาคธุรกิจและผู้ประกอบการจำเป็นต้องสนับสนุนและดูแลเกษตรกรรายย่อยด้านการตลาด โดยการรับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่องในราคาที่เป็นธรรม.