โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – หัวหิน และช่วงหัวหิน –ประจวบคีรีขันธ์
เรื่อง ขออนุมัติดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – หัวหิน และช่วงหัวหิน –ประจวบคีรีขันธ์
วันที่ 1 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ใน 2 เส้นทาง ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. ช่วงนครปฐม- หัวหิน
2. ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. (รฟท.) เสนอขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม – หัวหิน และ ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการขนส่งระบบราง รองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และลดระยะเวลาในการเดินทางและการขนส่งสินค้า รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านท่องเที่ยวตามสถานที่สำคัญในเขตภาคใต้และภาคใต้ตอนบน
ลักษณะของโครงการเป็นการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้น 1 ทาง เป็นคันทางระดับดินขนานไปกับเส้นทางรถไฟเดิม เพื่อเป็นการเพิ่มความรวดเร็ว ความจุของทางรถไฟ และสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับมีการยกเลิกจุดตัดทางรถไฟที่เสมอระดับในปัจจุบัน และมีการก่อสร้างทางผ่านต่างระดับเพิ่มเติมตามความต้องการในการเดินทางของชุมชนบริเวณโดยรอบแนวเส้นทาง พร้อมก่อสร้างรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทางรถไฟ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการ โดยจะมีการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่และปรับปรุงสถานีรถไฟเดิม จำนวน 27 สถานี สำหรับช่วงนครปฐม – หัวหิน (ระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร) และจำนวน 13 สถานี สำหรับช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ (ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร)
เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. (รฟท.) เสนอขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง รองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และลดระยะเวลาในการเดินทางและการขนส่งสินค้า
ลักษณะของโครงการ เป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่มขึ้น 1 ทาง ขนานไปกับเส้นทางรถไฟเดิม (ระยะทางประมาณ 116 กิโลเมตร) และก่อสร้างทางรถไฟจำนวน 2 ทาง เป็นโครงสร้างทางยกระดับเลี่ยงเมืองลพบุรี (ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร) รวมระยะทางโครงการประมาณ 148 กิโลเมตร มีการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่และปรับปรุงสถานีรถไฟเดิม จำนวน 21 สถานี โดยมีการยกเลิกจุดตัดทางรถไฟที่เสมอระดับปัจจุบัน และมีการก่อสร้างทางผ่านต่างระดับเพิ่มเติมให้ตามความต้องการในการเดินทางของชุมชนบริเวณโดยรอบแนวเส้นทาง พร้อมก่อสร้างรั้วตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความจุของทางรถไฟ ตลอดจนความเร็วและความปลอดภัยในการให้บริการเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ