เมื่อในหลวง รับสั่ง “เรื่องรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นี่ ฉันเห็นด้วย”
"ทีแรกนึกว่าคนเราสูบบุหรี่ทำให้กระฉับกระเฉง ตรงข้ามไม่กระฉับกระเฉง ทำให้รู้สึกว่า ทึบ สมองมันทึบ สมองมันตัน เลยคิดว่าเลิกสูบบุหรี่ดีกว่า"
“เรื่องรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นี่ ฉันเห็นด้วย”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีรับสั่งกับ ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองประธานโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เมื่อปี 2530
จากนั้น อีก 13 ปี องค์การอนามัยโลก ได้ถวายโล่เฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2543 โดยคำประกาศเกียรติคุณที่ปรากฎบนโล่เกียรติยศ ความว่า
"ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแแห่งประเทศไทย เพื่อเชิดชูพระเกียรติในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำทางจิตใจ ที่มุ่งมั่น และกอปรด้วยพลัง ทรงเป็นแบบอย่างทางสาธารณสุข ได้ทรงสร้างแนวทางตลอดจนบริบททางวัฒนธรรม ที่สนับสนุนกิจกรรมต่อต้านบุหรี่ที่โดดเด่นที่สุดในเอเชีย อีกทั้งได้พระราชทานแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่แก่ราษฎรของพระองค์ ประชาชนในภูมิภาคและในโลก"
กระทั่งในวันที่ 5 ธันวาคม 2547 ซึ่งเป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุครบ 77 พรรษา ได้พระราชทานโอวาทที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ดังนี้
“… แต่ที่สำคัญเรื่องที่ได้ฟังว่า เห็นว่าเด็กๆต้องสามารถเรียนรู้ เรียนให้ทำงานเพื่อช่วยบ้านเมือง จริงถ้าเด็กไม่มีความรู้ ช่วยบ้านเมืองไม่ได้ บ้านเมืองไปแม่รอด เพราะว่าเด็กๆ มัวแต่ไปเสพยาเสพติด สูบบุหรี่ไม่ดี เสพยาเสพติดไม่ต้องบอกว่าเสียหายอย่างไร และบุหรี่นี่แหละที่ว่าทำให้หูเสีย ตาเสีย สมองเสีย เส้นเลือดเสีย หัวใจ
เมื่อสิบกว่าปีที่ต้องเข้าโรงพยาบาล เจาะหัวใจ เมื่อมาเจาะหัวใจ 3 ครั้ง ถึงเดี๋ยวนี้หัวใจสบายมาก เลือดเดินดี เมื่อเลือดเดินดีในหัวใจแข็งแรง แต่ว่ามันมีอื่นๆ ที่มาจากที่ๆ ไปเจาะหัวใจด้วย ตอนท้ายเลยสบายมาก
จนกระทั่งทำให้มีความคิด ความรู้เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจแล้วได้ไปช่วยเพื่อนที่เขาเป็นโรคแบบเดียวกันไปหาหมอเจาะหัวใจ เพื่อนนั้นเล่นกีตาร์ เล่นกีตาร์หงอย เพราะว่าหัวใจมันตัน เขาไปทำไม่กี่วันกลับมา ยิ้มแย้มแจ่มใส เล่นกีตาร์ได้เลย สบายมาก คือที่ไปเจาะหัวใจได้ความรู้ว่า เจาะหัวใจนี่มีประโยชน์ มีหมอที่ดีก็ช่วย เมื่อช่วยกลับมา เขาต้องไปทำ 2 ครั้ง หมอหลวงมาบอกให้คุณนั่นนะ ที่พระเจ้าอยู่หัวให้ไป เคราะห์ดีไม่อย่างนั้นตาย แต่ต้องขอให้หยุดสูบบุหรี่ พี่ชายเขาก็สูบตายแล้ว พ่อก็สูบตายแล้ว เหลืออยู่คนเดียว เขาเลยไม่ตาย แล้วก็ปลอดโปร่งไปเข้าเรียนขั้นความรู้สูง ตอนแรกเขาไม่มีความรู้ ก็ได้เรียน
หมายความว่า บุหรี่นี่ไปทำให้หัวใจเขาเสีย ไม่ใช่เสียใจนะ หัวใจเสีย แล้วไปทำครั้งแรกเรียนได้ เดี๋ยวนี้กำลังเรียนจบแล้ว อายุมากอยู่ ไม่ใช่เด็กๆ เขาได้มีชีวิตที่ดี เลยต้องมาเล่าให้ฟังว่า คนที่สูบบุหรี่ สมองก็ทึบ ทำใจเสีย แล้วไปทำครั้งแรกเรียนได้ เดี๋ยวนี้กำลังเรียนจบแล้ว อายุมากอยู่ ไม่ใช่เด็กๆ เขาได้มีชีวิตที่ดี เลยต้องมาเล่าให้ฟังว่า คนที่สูบบุหรี่ สมองก็ทึบ ทำไปทำมาทึบเข้าทุกที เพราะว่า ทึบ เพราะว่ามันตีบ เส้นเลือดในสมองตีบ เลยคิดอะไรไม่ออก
ตอนแรกนึกว่าคิดออก แต่ภายหลังก็คิดไม่ออก ทีแรกนึกว่าคนเราสูบบุหรี่ทำให้กระฉับกระเฉง ตรงข้ามไม่กระฉับกระเฉง ทำให้รู้สึกว่า ทึบ สมองมันทึบ สมองมันตัน เลยคิดว่าเลิกสูบบุหรี่ดีกว่า
นี่มีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่แล้วห้ามขายบุหรี่กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ที่จริงอายุ 50 ก็ควรจะห้าม คนไหนที่อายุ 80 ก็อยากสูบบุหรี่ก็สูบ แต่ว่าตอนนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีท่าน 80 ท่านสูบบุหรี่ สมเด็จกรมหลวงฯ ท่านก็สูบบุหรี่ แล้วตอนหลังท่านก็เลิก สมเด็จพระบรมราชชนนีท่านไม่เลิก แก่แล้วจะไปเลิกได้อย่างไง เพราะแม้จะเลิก 2 ปี ทำให้ดีขึ้น แต่ก็แก่แล้ว แต่ในที่สุดท่านก็ต้องเลิก เพราะว่าไม่สบาย เพราะทำไปทำมาท่านก็อายุ 95
เราเลยนึกว่า เราเลิกบุหรี่นี่ดี มีคนบอกเราจะอายุ 120 แต่มีคนเขาบอกว่า คนเราอายุที่ได้ถึง 128 คนที่มาบอกคงไม่นึกถึง เพราะว่า 128 นั่นต้องร่างกายมันดี 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้า 120 ก็ยอมเอา แค่ 120 แต่ว่า 120 นี่ก็ไม่เลว ถ้าได้ 120 ก็อีก 40 กว่าปี ท่านทั้งหลายง่อกแง่กๆ แล้ว แต่ว่าถ้าทำได้ ร่างกายดีอาจจะระมัดระวังดี เพราะว่าบางคนเดี๋ยวนี้ อายุ 70 ให้ถึง 100-120 เขา 110 ก็ทำงานควรจะทำงานได้ ดูเหมือนผู้พิพากษาต้อง 70 นะ 70 ยังทำงานต่อได้อีก 40 ปี แต่ท่านอาจง่อกแง่กๆ
แต่ว่า ผู้พิพากษา 70 ถ้าไม่ง่อกแง่ก ก็ทำงานได้ให้ถึง 120 เลย แต่ว่าสงสัย เพราะว่าเดี๋ยวนี้ใกล้ๆ 70 ก็ชักจะงอแง ยิ้มอย่างงอแงนะ ยังไง 70 ก็ไม่เลว แต่ 80 ก็น่าจะได้ เดี๋ยวนี้คนอายุ 70 ดูกระฉับกระเฉง 77 หย่อน 1 วัน นับว่า ไม่ถึง 70 เราเกิด 8 โมงเช้าที่อเมริกา ที่อเมริกา 8 โมงเช้า ที่นี่เท่าไหร่ 2 ทุ่ม 2 ทุ่ม วันรุ่งขึ้น ก็หมายความอีก 24 ชั่วโมงกว่าๆ
เรา 77 ระหว่างนี้ คงยังแข็งแรงดีมาพูดครึกครื้น เลอะๆ เทอะๆ อย่างนี้ไปเรื่อย ยิ่งอายุยืน ไม่ทราบท่านจะอายุยืนมั๊ย บางคนอาจตรอมใจ แต่ว่า อย่างท่านผู้เฒ่าต่างๆ ต้องอายุยืน ส่วนเด็ก เขาไม่เชื่อไม่เชื่อนายกฯ สูบบุหรี่ เข้าเล่นคาราโอเกะ ไม่เชื่อก็เรียนอะไรไม่ได้ นายกฯ ต้องไปเจรจาให้เด็กๆ อายุ 10 ขวบ ถึง 20 ขวบ ให้ตั้งอกตั้งใจเรียน แล้วต่อไปอีก 80 ปี ข้างหน้า 70 ปีเขาจะได้ทำงานได้ดี แต่ถ้าเด็กสมัยนี้ทำงาน 70 ปี เมืองไทยจะไปถึงดวงดาวได้ ทำให้เมืองไทยมีชื่อเสียงได้ ถ้าเราไม่ระวังเดี๋ยวนี้ ต่อไปอีก 80 ปี พวกเด็กสมัยนี้ที่ไม่ระวัดระวัง ไม่ถึง 80 ปี
บุหรี่นี่ทอนอายุอย่างมากๆ แต่ได้ยินว่า เดี๋ยวนี้บุหรี่ชักดีขึ้น แต่เด็กไม่ดีขึ้น พูดอย่างนี้เด็กๆ โกรธนะ เพราะว่าเด็กๆ อยากสูบบุหรี่สูบสักนิดหน่อย ให้ได้ชื่อว่า สูบ เราเองเริ่มสูบบุหรี่ของเด็กๆ บุหรี่จริงไม่มี เป็นสูบไม้ซางแห้งๆ สูบ แต่ทีหลังก็เลิก ต่อมาอายุ 18 ได้สูบบุหรี่ เพราะตอนนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนี ท่านบอกว่า เด็กๆ ห้ามสูบบุหรี่ หมายความว่า ลูกท่านต้องอายุ 18 ก่อน แต่ตอนนั้นอายุ 18 แล้วมาหลังสงครามพอดี พวกทหารฝรั่งเขามีกระป๋อง สำหรับทหารมีอาหารยังชีพแล้วมีบุหรี่มวน 6 มวน คนเขาให้มา เราก็ลอง เวียนหัวตอนนั้น อายุ 18 นานๆไปก็เลยชิน แต่บุหรี่อย่างนั้นก็หมดไป เพราะว่าหมดสงคราม
แต่ต่อมา มีเกี่ยวข้องกับบุหรี่นี่ พี่เขยน้องเขยเขาสูบบุหรี่ เลยสูบตั้งแต่นั้น สูบบุหรี่มาจนทีหลังมีอาการหัวใจ หมอบอกเลิกสูบบุหรี่ ก็ไม่เชื่อหมอ ก็ยังมีอาการหัวใจต่อ จนกระทั่งมีบุหรี่อยู่ในห้อง ไม่ไหววางไว้บนโต๊ะ ยังมีอยู่อย่างนั้น ในซองบุหรี่มี 10 มวน วางเอาไว้ไม่แตะอีกเลย เพราะว่า บอกให้เลิก เราก็เลิกทีละมวน ทีหลังมาถึง อ้างมี 2 มวน ทำไปทำมาเราเอาหนังสือราชการมาวางทับถุงบุหรี่ ก็อยู่ใต้หนังสือราชการ ไม่รู้ เดี๋ยวนี้เขาคงเอาไปทิ้งหมดแล้ว….
ถือเป็นประวัติศาสตร์การณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และถือเป็นแรงบันดาลใจ การก่อตั้งโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มูลนิธิหมอชาวบ้าน ปัจจุบัน คือ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่ง 7 พฤศจิกายน นี้ จะครบรอบ 30 ปี ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 อย่างมุ่งมั่น เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน...
หมายเหตุ: เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดงาน ผนึกกำลังเร่งปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่ ณ โรงแรมเอเซีย ภายในงานมีเวทีเสวนา และพิธีมอบโล่ แด่ผู้ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่