หมอประกิต กระตุ้น "Gen Z" สตรอง ไม่สูบ-กันเด็กเป็นลูกค้าหน้าใหม่
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยเด็กไทยสูบบุหรี่อายุก่อน 17 ปี จี้รัฐคลอดพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารชี้หากพูดภาษาเดียวกับเยาวชนก็จะชี้นำได้ง่าย
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ30 ปี โดยภายในงานมีเวทีเสวนาเรื่อง "Gen Z Gen strong :ไม่สูบ" เพื่อร่วมให้ข้อคิดในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ ณ ห้องราชเทวี แกรนด์บอลรูม โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงการทำงานของมูลนิธิฯ ได้รับแรงบันดาลใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงรับสั่งกับท่านอาจารย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นรองประธานโครงการฯ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2547 ว่า "เดี๋ยวนี้เด็กๆเล็กๆมีการสูบบุหรี่มากขึ้น เห็นมีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ แล้วก็ห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุ 18 ที่จริงอายุ 50 ก็ควรห้าม" อีกทั้งการที่พระองค์ท่านได้รับการถวายโล่เพื่อเชิดชูเกียรติจากองค์การอนามัยโลก เมื่อ พ.ศ. 2543 "ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำทางจิตใจที่มุ่งมั่นและกอปรด้วยพลัง" ทรงเป็นแบบอย่างทางสาธารณสุข ได้ทรงสร้างแนวทางตลอดจนบริบททางวัฒนธรรม ที่สนับสนุนกิจกรรมเพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่โดดเด่นที่สุดในเอเชีย อีกทั้งได้พระราชทานแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่แก่ราษฎรของพระองค์ประชาชนในภูมิภาคและในโลก"
สำหรับผลสำรวจพบคนไทยที่ติดบุหรี่กว่าครึ่งนั้น เริ่มสูบก่อนอายุ 17 ปี และเมื่อติดมีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่สามรถเลิกสูบบุหรี่ได้ โดยร้อยละ 70 จะติดไปตลอดชีวิต ดังนั้นหากช่วยกันป้องกันเด็กที่อายุต่ำกว่า 17 ปี ไม่ให้สูบบุหรี่ก็จะช่วยหยุดนักสูบหน้าใหม่เข้าสู่วงจรการสูบ การป่วย และการตายจากพิษของบุหรี่
ศ.นพ.ประกิต กล่าวถึงมาตรการทางกฎหมายเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่งในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับควบคุมยาสูบของประเทศไทยนั้นล้าหลังเกินไป พ.ร.บ. ควบคุมใการผลิตยาสูบพ.ศ.2535 นั้นใช้มากว่า 24 ปี ทำให้มีช่องโหว่ที่ธุรกิจยาสูบสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการชักจูงนักสูบหน้าใหม่เข้าสู่วงการมาโดยตลอด
"ธุรกิจยาสูบต้องการเด็กเข้ามาเป็นลูกค้าใหม่ เพื่อทดแทนผู้ใหญ่ลูกค้าเก่าที่ทยอยลดลง เพราะป่วยและตายหรือเลิกสูบ ดังนั้นคิดว่าการออกพ.ร.บ. ควบคุมการผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีมาตรการสำคัญๆ ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมในการปกป้องเด็กเยาวชนไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่"
ด้านรศ.ดร.กิตติ กันภัย นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร กล่าวว่า ลักษณะของเด็กเจนแซท (Gen-Z) ที่สำคัญสองประการคือ ต้องมีความรับผิดชอบและมีความคิดเป็นของตัวเอง ตรงนี้คือหัวใจของการสร้างแนวร่วม การทำงานของโครงการไม่ได้ทำงานแบบพ่อแม่สอนลูกหรือครูสอนศิษย์ แต่เป็นการทำงานแนวราบเพื่อหาแนวร่วม โดยจะทำหน้าที่เป็นแค่ตัวจุดประกายและให้เยาวชนนั้นคิดเอง ตัดสินใจเอง และไปกระตุ้นความรับผิดชอบ ให้เกิดความรับผิดชอบต่อตัวเอง คนรอบข้าง และสังคม
"เป้าหมายของโครงการมีอยู่สองประการ ประการแรกคือต้องทำให้เยาวชนรับรู้ว่าตัวเองคือเจนแซท เพราะปัจจุบันยังมีเยาวชนจำนวนมากไม่รู้ว่าตัวเองคือเจนแซท ประการที่สองคือ เมื่อรู้ว่าตัวเองคือเจนแซทก็ต้องไม่สูบบุหรี่ด้วยเหมือนเป็นการสร้างอัตลักษณ์"
นางสาววิชดา นฤวรพัฒน์ นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว ภาคตะวันออก กล่าวถึงการทำหน้าทีของสื่อ สะท้อนความจริงของสังคมอยู่แล้ว ในส่วนของไทยพีบีเอส เรดิโอ ได้มีการทำรายการเกี่ยวกับเยาวชนอยู่แล้วเพื่อให้เข้าใจบริบทของเยาวชนและใช้ภาษาเดียวคุยกันให้เหมือนเป็นเพื่อนกัน ส่วนอีกโครงการคือเจนแซทไม่สูบที่ลงพื้นที่ยังไปจังหวัดจันทบุรีใช้กระบวนการเปิดใจคุย ทำค่าย ใช้เพื่อนสื่อมวลชนช่วยกันให้สังคมจันทบุรีเข้าใจว่าทำไมต้องปกป้องเด็กออกจากควันบุหรี่ โดยจะเน้นนำเสนอด้านบวกเพื่อไม่ให้คนในพื้นที่ต่อต้าน ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นไปในด้านที่ดี มีเด็กที่มาเข้าค่ายเมื่อออกไปตั้งใจจะเลิกบุหรี่
"การที่เด็กสมัยนี้เน้นเปิดรับสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงาน เพราะ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ คลิป ทุกอย่างสามารถนำไปลงในสื่ออินเทอร์เน็ตได้หมด ทำให้สื่อมวลชนทำงานในส่วนนี้ง่ายขึ้นสามารถเข้าถึงเยาวชนได้ง่ายมากขึ้นกว่าในอดีต"
ส่วนนางสาวณัฐชยา นิ่มสมุทร ตัวแทนเยาวชน Genneration Z กล่าวว่า เยาวชนรู้อยู่แล้วว่า บุหรี่นั้นมีโทษ แต่การที่มีสื่อมาช่วยก็ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนได้คิดว่า การที่สูบต่อไปจะดีหรือไม่เหมือนเป็นการเน้นย้ำความคิดเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่วนประเด็นส่วนตัวที่เวลาโพสต์เฟสบุคเรื่องไร้สาระแล้วมีคนสนใจมากกว่าเรื่องที่มีสาระนั้น มองว่า อยู่ที่เราจะนำเรื่องที่มีสาระออกไปในรูปแบบไหน หากน่าสนใจเยาวชนก็จะเข้ามาดูเอง อย่างคลิปที่ได้ไลค์เยอะที่สุดประมาณ 1 แสนไลค์เป็นคลิปเกี่ยวกับความรู้แนวข้อสอบ
จากนั้น ช่วงบ่าย มีพิธีมอบโล่ แด่ผู้ร่วมสร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่ โดย ฯพณฯ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้มอบโล่ โดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับรางวัลดังกล่าวด้วย