มธ. จัดกิจกรรม แปรอักษรภาพครั้งประวัติศาสตร์ “ชาวธรรมศาสตร์ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป”
ม.ธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม แปรอักษรภาพครั้งประวัติศาสตร์ ชุด “ทรงเป็นดวงธรรมนำทางให้” ดร. สมคิด ระบุ โครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา มีพระปรีชาญาณลึกซึ้ง มีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคน ทรงมุ่งมั่นส่งเสริมการศึกษาทุกระดับชั้น
วันที่ 28 ตุลาคม 2559 –มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ประชาคมธรรมศาสตร์ จัดงาน “ชาวธรรมศาสตร์ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การอ่านบทกวี และคำแสดงความอาลัยการบรรเลงบทดนตรีเพื่อน้อมรำลึกและถวายอาลัย พร้อมด้วยการแปรอักษรครั้งประวัติศาสตร์ ชุด “ทรงเป็นดวงธรรมนำทางให้”
ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระภัทรมหาราชาผู้ทรงเป็นพลังแห่งแผ่นดิน ทรงอุทิศทุ่มเทปฏิบัติพระราชภารกิจอันบริบูรณ์พร้อมตามแนวทางแห่งทศพิธราชธรรม ทรงนำพาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทรงเอาพระราชหฤทัยใส่บำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารล้วนอยู่เย็นเป็นสุขด้วยพระบารมี โครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้มีพระปรีชาญาณลึกซึ้งมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคน ให้ดำรงตนด้วยความพากเพียร ความพอเพียงรู้รักสามัคคี เสียสละรู้จักใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา จึงทรงมุ่งมั่นส่งเสริมการศึกษาทุกระดับชั้น
ทั้งนี้ สำหรับประชาคมธรรมศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น นานัปการ อาทิ ทรงปลูกต้นหางนกยูง และพระราชทานให้เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ทรงพระเมตตาเสด็จฯ เยี่ยมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นการส่วนพระองค์ถึง 12 ครั้ง รวมถึงเสด็จฯ มาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่อง อาทิ เสด็จฯ มาทอดพระเนตรโขนธรรมศาสตร์ เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาเป็นเวลา 48 ปี อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนภูมิพลและทุนอานันทมหิดลแก่บัณฑิตธรรมศาสตร์ และทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 15 สาขา นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินทุนเริ่มแรกสำหรับสร้างหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
ด้าน นายสมชาย พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมธรรมศาสตร์ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงเป็นประธานเปิดอาคารที่ทำการสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2523 และทรงปลูกต้นยูงทอง ณ หน้าอาคารสมาคมฯ นับเป็นมงคลยิ่งแก่ชาวธรรมศาสตร์ ซึ่งสร้างความปีติซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเสมอมา
นอกเหนือจากพระเมตตาและพระราชกรณียกิจดังกล่าว พระองค์ท่านยังทรงสนับสนุนการจัดกิจกรรมงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ด้วยการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัล และได้เสด็จฯ มาทรงเป็นประธาน และพระราชทานถ้วยรางวัลอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 แต่หากในปีใดที่มิได้เสด็จฯ มาพระราชทานด้วยพระองค์เอง ก็มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์มาเป็นประธาน นับเป็นมิ่งขวัญแก่นักกีฬา นิสิตนักศึกษาและบุคลากรของทั้งสองสถาบัน ที่ประทับมั่นในความทรงจำมิรู้คลาย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประชาคมธรรมศาสตร์ น้อมจัดงาน “ชาวธรรมศาสตร์ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” ผ่านกิจกรรมที่ปวงชนชาวไทยและประชาคมธรรมศาสตร์รวมพลังใจถวาย อันประกอบด้วย
· การอ่านบทกวี และคำแสดงความอาลัย โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสมาคมธรรมศาสตร์ฯ และ ดร.อภิชาติ ดำดี ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์
· การบรรเลงบทดนตรีเพื่อน้อมรำลึกและถวายอาลัย ในบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” เพลงประจำสถาบัน และเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยชุมนุมดนตรีไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
· การแปรอักษรครั้งประวัติศาสตร์ ชุด “ทรงเป็นดวงธรรมนำทางให้”การร่วมแปรอักษรพระบรมฉายาลักษณ์ และเรื่องราวพระราชกรณียกิจตลอด 70 ปี ที่ทรงครองราชย์ของ “พ่อหลวง” พ่อผู้เป็นดั่งดวงธรรมนำทางให้ประชาชนชาวไทย ทั้งปวงมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ่านการเรียงร้อยเรื่องราวด้วยภาพแปรอักษรอย่างสมพระเกียรติ
โดยชาวธรรมศาสตร์กว่า 2,000 คน
นางสาวพิมพ์พิชญ์ ธีระพิทยานนท์ ประธานชุมนุมเชียร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สำหรับแนวคิดหลักของการแปรอักษรชุด “ทรงเป็นดวงธรรมนำทางให้” จะเน้นไปที่การน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านการเล่าเรื่องราว พระราชกรณียกิจ และพระราชดำรัสของพระองค์ที่ได้พระราชทานให้แก่คนไทย ซึ่งชุมนุมเชียร์ธรรมศาสตร์ จะนำเสนอผ่านวิธีการที่มิใช่เพียงการแปรออกมาเป็นตัวอักษรหรือรูปภาพขึ้นมาตรงๆ เท่านั้น แต่จะเป็นการเล่าเรื่องราวให้เกิดความประทับใจ และการเข้าถึงความหมายที่ผู้แปรอักษรต้องการจะสื่อออกมาให้เกิดแก่ผู้รับชมได้อย่างแท้จริง ด้วยมุ่งหวังให้สังคมไทยได้เกิดการฉุกคิด ถึงสิ่งที่พ่อหลวงต้องการจะถ่ายทอดถึงปวงประชาราษฎร์โดยการแปรอักษรดังกล่าว จะใช้เวลาทั้งสิ้น 30 นาที ผ่านการแปรอักษรใน 3 ชุดเนื้อหาซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ชุดที่ 1 การกล่าวบทกวีไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ชุดที่ 2 การแปรภาพและข้อความด้วยเพลทและร่มสีครีมนับพันคัน พร้อมด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์ “อาทิตย์อับแสง”บทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 8 ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ชุดที่ 3 การแปรภาพที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านการนำเสนอเรื่องราวใน 3 ส่วนเนื้อหา อันได้แก่ “วันวาน” การนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจของพ่อหลวงที่ทรงงานมาตลอด 70 ปี “วันนี้” การถ่ายทอดทุกความรู้สึกสุดอาลัยของประชาชนที่มีต่อพ่อหลวง และ “วันพรุ่งนี้” การถ่าย ทอดความตั้งใจชาวธรรมศาสตร์ที่จะร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพ่อหลวงอย่างสุดหัวใจ
อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นการแปรอักษรทั้ง 3 ชุดดังกล่าวแล้ว เป็นการแปรอักษรพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยกลุ่มนักศึกษาชุมนุม ดนตรีไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์