เจตนาเอื้อคนทุจริตให้พ้นผิด! เบื้องหลัง ป.ป.ช.สอบอดีต ส.ส.เพื่อไทยเข็นร่างนิรโทษฯ
“…การที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เหมารวมผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนาให้พ้นผิด ย่อมเป็นการตรากฏหมายที่เอื้อประโยชน์กับผู้ทุจริตโดยเจตนาด้วย จึงเป็นการสมคบกันของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อผ่านกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อกระบวนการยุติธรรม การใช้อิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบ และการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกลุ่มบุคคลที่จะได้ผลประโยชน์จากร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจรัฐ และผู้ถูกกล่าวหากับพวกที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว…”
นับเป็นหนึ่งกรณีที่เป็นข่าวฉาวโฉ่ในช่วงปลายปี 2556
กรณีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย รวม 40 ราย ‘เข็น’ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ก่อนที่ประชุมฯจะผ่านร่างดังกล่าวในวาระ 2 และวาระ 3 ด้วยคะแนนเสียง 310 เสียง ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ในช่วงเวลากลางดึกถึงเวลาประมาณ 4.00 น. ท่ามกลางฝ่ายค้านที่ทักท้วงโดยเห็นว่าเป็นการเร่งรัดลงมติเกินไป
จนกระทั่งมวลชนบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการ ‘ลักหลับ’ เพื่อช่วย ‘นายใหญ่’ ให้พ้นผิด ?
ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทั่งรัฐบาลยุบสภา และเกิดความวุ่นวายในการเลือกตั้งครั้งใหม่ช่วง ก.พ. 2557 กลุ่ม กปปส. ได้ปิดคูหาไม่ให้คนไปเลือกตั้ง
จนนำไปสู่การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557
แม้ว่าปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ดังกล่าวจะถูกตีตกไปแล้วในชั้นวุฒิสภาเมื่อช่วงปลายปี 2556 แต่ได้มีผู้มายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบว่า การกระทำดังกล่าวของอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย มีความผิดหรือไม่
กระทั่งช่วงต้นปี 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวขึ้นแล้ว โดยมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นอดีต ส.ส.เพื่อไทยรวม 40 ราย
(อ่านประกอบ : เปิดชื่อ 40 อดีต ส.ส.เพื่อไทย ป.ป.ช. สอบปมเสนอร่างนิรโทษ-แกนนำโดนเพียบ)
เหตุผลในการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวคืออะไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบในสำนวนการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. พบข้อเท็จจริง สรุปได้ ดังนี้
อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้ง 40 รายดังกล่าว ถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. เมื่อปี 2556
พฤติการณ์ในการกระทำความผิด
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2556 อดีต ส.ส.เพื่อไทยทั้ง 40 ราย ได้ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ปรากฏความในมาตรา 3 ที่ว่า “ให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุมการประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 ถึงวันที่ 30 พ.ค. 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
การกระทำในวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการกระทำใด ๆ ของบรรดาผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว”
อีกทั้งในมาตรา 4 ยังปรากฏความว่า “เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรืออัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่า ได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดและปล่อยตัวผู้นั้น”
เนื้อหาที่ปรากฏในมาตรา 3 และมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นการตรากฎหมายโดยมีเจตนาเพื่อเอื้อให้บุคคลผู้ทุจริตทั้งภาครัฐและภาคเอกชนพ้นจากความผิด ซึ่งผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนา ย่อมอยู่นอกเหนือเหตุผลความขัดแย้งและแสดงออกทางการเมือง ซึ่งศาลสามารถพิจารณาวินิจฉัยคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอยู่แล้ว
แต่การที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เหมารวมผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนาให้พ้นผิด ย่อมเป็นการตรากฏหมายที่เอื้อประโยชน์กับผู้ทุจริตโดยเจตนาด้วย จึงเป็นการสมคบกันของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อผ่านกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อกระบวนการยุติธรรม การใช้อิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบ และการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกลุ่มบุคคลที่จะได้ผลประโยชน์จากร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจรัฐ และผู้ถูกกล่าวหากับพวกที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว (ดูเอกสารประกอบ)
นี่คือข้อเท็จจริงเบื้องต้น ที่นำไปสู่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงบรรดาอดีต ส.ส.เพื่อไทย รวม 40 ราย ที่ปัจจุบันได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ขอให้ทบทวนการไต่สวนดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ส.ส. มีหน้าที่เสนอกฎหมายต่อประชาชน และการเสนอกฎหมายดังกล่าวเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองของคนในสังคม ไม่ได้มีเจตนาจะเอื้อประโยชน์ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง
(อ่านประกอบ : 40 อดีต ส.ส.เพื่อไทยขอ ป.ป.ช. ทบทวนสอบปมเสนอร่าง กม.นิรโทษฯ)
ท้ายสุด ผลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อย่างใกล้ชิด !