ก้าวสู่สังคมสูงวัย Ageing 4.0
“ต่อไปสูงวัยต้องไม่ชราภาพ คือมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพดีตลอดชีวิต ขณะเดียวกันแต่ละคนต้องดูแลสภาวะทางการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ เริ่มออมตั้งแต่อายุ 30 เพื่อให้พอใช้หลังเกษียณ ซึ่งจะช่วยให้เราก้าวพ้นกับดักแห่งความพึ่งพิงไปได้”
อีกไม่ถึง 20 ปีนับจากนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค ‘สังคมสูงวัยระดับสูงสุด’ คือมีประชากร อายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ และยังมีข้อมูลอีกว่า ในปี 2593 ประชากรที่เดินสวนกันไปมาบนท้องถนน 3 คน จะมี 1 คนอายุ 65 ปีขึ้นไป
ทีมนักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จึงได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อหาทางลดผลกระทบและเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัยระดับต่างๆ
ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจฯ ศศินทร์ ผู้ทำวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่อง “สังคมสูงวัย สังคมแห่งโอกาส” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยระดับสูงสุดในอีกไม่ช้า โดยจากข้อมูลประชากรไทยปี 2553-2583 บ่งชี้ว่า สัดส่วนประชากรวัยเด็กลดลง จากร้อยละ 19.8 ในปี 2553 เหลือเพียงร้อยละ 12.8 ในปี 2583 ประชากรวัยแรงงานลดลง จากร้อยละ 67 ในปี 2553 เหลือเพียงร้อยละ 55.1 ในปี 2583
ขณะที่ประชากรสูงวัยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 13.2 ในปี 2553 เพิ่มเป็น 32.1 ในปี 2583 และหากจำแนกลงลึกในกลุ่มประชากรสูงวัย ยังพบว่า ผู้สูงอายุวัยต้น อายุ 60-69 ปีมีจำนวนลดลง ส่วนผู้สูงอายุวัยกลาง อายุ 70-79 ปีและวัยปลายอายุ 80 ปีขึ้นไปกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หากมองภาพรวมในกลุ่มอาเซียน สิงคโปร์และไทย เป็นเพียง 2 ประเทศ ที่มีเวลาเตรียมการรับมือกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสูงสุดน้อยมาก เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน โดยสิงคโปร์ มีเวลาเตรียมการประมาณ 12 ปี และไทย มีเวลาประมาณ 17 ปี
นอกจากนี้จากการจัดอันดับ 20 ประเทศทั่วโลก ที่มีประชากรสูงวัยตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไปมากที่สุด พบว่า ในปี 2593 ประเทศไทยจะมีรายชื่อติดหนึ่งในนั้น
Baby bonus มาตรการส่งเสริมอัตราการเกิด
สำหรับสาเหตุการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนั้น ศ.ดร.เกื้อ ระบุว่า มิติหนึ่งเกิดจากรูปแบบครัวเรือนไทยที่เปลี่ยนไป โดยมีขนาดเล็กลง จากเดิมที่แบ่งเป็นครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวขยาย โดยเขาเห็นว่าต้องปรับเปลี่ยนใหม่ แบ่งเป็นครอบครัวหนึ่งวัย สองวัย สามวัย
และจากข้อมูลพบว่า ครอบครัวคนเดียว หรือคนโสดมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นจึงจำเป็นที่ไทยต้องนำมาตรการทางภาษี เช่น การให้เงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร Baby bonus เข้ามาช่วยส่งเสริมอัตราการเกิด และช่วยลดภาระค่าเลี้ยงดูบุตร ครอบครัวไหนอยากมีลูก 2 คนต้องได้มีลูก เพราะปัจจุบันครอบครัวไทยมีลูกเฉลี่ยแค่ 1.5 คนเท่านั้น
“ในต่างประเทศ มีลูก 1 คนรัฐจ่ายเงินช่วยเหลือ 2,000 ยูโร มีลูก 2 คนรัฐช่วยจ่าย 4,000 ยูโร การช่วยเหลือทางด้านการเงินเช่นนี้ เขามองเป็นเรื่องการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ต่างจากบ้านเราจะถูกมองเป็นเรื่องการบริโภคส่วนบุคคล”
ศ.ดร.เกื้อ มองถึงการเตรียมความพร้อมของไทยระยะต่อไปด้วยว่า ต้องก้าวไปสู่ Ageing 4.0 (Innovative approach) หรือยุคของการสร้างนวัตกรรม เพื่อพลิกวิกฤตของสังคมสูงวัยให้เป็นโอกาส เน้นสร้างเศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity economy) ที่ไม่มองผู้สูงวัยเป็นภาระ หรือมีทัศนคติที่ว่าคนแก่รกโลก
“ต่อไปสูงวัยต้องไม่ชราภาพ คือมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพดีตลอดชีวิต ขณะเดียวกันแต่ละคนต้องดูแลสภาวะทางการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ เริ่มออมตั้งแต่อายุ 30 เพื่อให้พอใช้หลังเกษียณ ซึ่งจะช่วยให้เราก้าวพ้นกับดักแห่งความพึ่งพิงไปได้”
ส่วนสิ่งที่นักวิจัยด้านประชากรศาสตร์ค่อนข้างกังวล และเชื่อว่าจะเป็นปัญหาสำหรับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย คือ ประชากรออมเงินน้อย เน้นพึ่งสวัสดิการของภาครัฐ ซึ่งก็มีอยู่อย่างจำกัด ต่างจากในหลายประเทศ เช่นญี่ปุ่น ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการออมมาก พร้อมทั้งยังมองต่อไปว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ นอกจากสร้างปัญหาในแง่บุคคลแล้ว ยังจะกระทบต่อการสั่งสมทุนใหม่และภาพรวมการลงทุนของประเทศในระยะยาวอีกด้วย
ลงทุน-ออม-ขยายอายุเกษียณ ทางรอดคนสูงวัย
ด้าน ผศ. ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอก สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจฯ ศศินทร์ บอกว่า การออมเงินโดยวิธีฝากธนาคารอย่างเดียว อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงวัย
จากการวิจัยพบว่า หลังเกษียณหากยังต้องการใช้จ่าย ประมาณเดือนละ 30,000 บาท จะต้องมีเงินเก็บ 9,870,000 บาทเมื่ออายุ 60 ปี โดยคิดจากอัตราเงินเฟ้อ 3% แต่หากมีนำเงินไปลงทุนในพอร์ตระมัดระวัง ที่แนะนำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งให้อัตราผลตอบแทน ร้อยละ 5.9 จะต้องเก็บเงินเพียง 5,490,000 บาท
อีกวิธีที่ ผศ. ดร. ปิยะชาติ เสนอคือ ขยายการทำงานไปจนถึงอายุ 70 ปี โดยหารายได้ครึ่งหนึ่งของรายจ่ายต่อเดือน คือประมาณ 15,000 บาท รวมกับการลงทุนในพอร์ตระมัดระวัง จะทำให้เราเงินเก็บน้อยลง อยู่ที่ 2,760,000 บาท
ฉะนั้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อม
แรงงานหนุ่มสาวลด ผู้นำขาดช่วง
ขณะเดียวกันเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานโดยตรง ซึ่ง รศ.ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารทรัพยากรบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจฯ ศศินทร์ วิเคราะห์ว่า ในอนาคตประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตด้านแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในอีก 2 ปีข้างหน้าจำนวนประชากรวัยทำงานของไทย ช่วงอายุ 15 – 65 ปี จะมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตและบริการ ซึ่งสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ
ขณะเดียวกันยังพบว่า ความต้องการแรงงานของตลาดโดยทั่วไปในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 22
“หากเทียบในกลุ่มอาเซียน ประเทศไทยจะมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอันดับสอง รองจากสิงคโปร์ แต่เนื่องจากสิงคโปร์มีค่าแรงสูงกว่าจึงเป็นข้อได้เปรียบ และน่าเป็นห่วงว่าแรงงานบ้านเราจะย้ายไปทำงานประเทศอื่น”
รศ.ดร. ศิริยุพา ชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป สิ่งที่องค์กรจะต้องเผชิญคือ แรงงานหนุ่มสาวลดน้อยลง ผู้นำขาดช่วง ในอนาคตจึงจำเป็นต้องจ้างแรงงานสูงวัยเข้ามาช่วย ฉะนั้นโจทย์ของทุกองค์กรคือ จะมีกลยุทธ์ในการดึงดูด รักษาพนักงานและพัฒนาแรงงานต่างวัยอย่างไร
จากการเก็บข้อมูลจากองค์กรชั้นนำ พบว่า แรงงานสูงวัย อายุตั้งแต่ 45 ปี ต้องการงานที่มีคุณค่า มีเวลายืดหยุ่น เอื้อให้คนสูงวัยเลือกเวลาทำงานได้ รายได้ยุติธรรม ได้รับการยกย่องให้เกียรติจากองค์กรและการดูแลเอาใจใส่จากนายจ้าง ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ส่วนแรงงานหนุ่มสาว จะสนใจเรื่องรายได้เป็นธรรมเป็นลำดับแรก องค์กรในอนาคต จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการที่แตกต่างกันของแรงงานแต่ละวัย และจัดระบบการบริหารบุคคลที่เหมาะสม
อย่างก็ตาม อาจารย์ศิริยุพา ทิ้งท้ายด้วยว่า สำหรับประเทศไทยเรื่องของการศึกษาการวางแผน พัฒนาบริหารคน บ้านเรายังทำงานแบบ "มวยวัด" คือแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป ทั้งที่ปัญหาเรื่องนี้จะทวีความรุนแรง ขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณในทุกระดับ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผลิตภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คุยกับ ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน “ไทยกำลังเปลี่ยนจากสังคม DINK เป็น SINK”
แบ่งกันร่วมรับผิดชอบสังคมสูงวัย นักวิจัยทีดีอาร์ไอเสนอตั้ง 'กองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว'
สังคมสูงวัยอยู่ดีมีสุข ความท้าทายของรัฐไทยที่ต้องรับมือ
นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงสังคมสูงวัยไทยเผชิญความเสี่ยงทั้งการเงิน-คุณภาพชีวิต