พลังจิตอาสาเก็บขยะ ณ ท้องสนามหลวง
"ขยะจำนวนมาก เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครต้องทำงานหนัก ถึงแม้จำนวนผู้มาลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครจำนวน 6,000 กว่าคน แต่จิตอาสาส่วนแยกขยะ 2,000 กว่าคน นับเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของส่วนงานทั้งหมด"
หน้าที่รักษาความสะอาด ไม่ใช่เพียงแค่หน้าที่ของคนเก็บขยะ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน
“เจ้าหน้าที่เก็บขยะรู้สึกเบาแรงขึ้นเยอะ สะดวกขึ้นเยอะ ขอบคุณมาก ๆ นะ เด็กอาสาสมัครทั้งหลาย” ความในใจของกลุ่มเจ้าหน้าที่เก็บขยะรอบสนามหลวง ที่ไม่ขอออกนาม พูดคุยกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ในห้วงเวลาแห่งความทุกข์โศกที่ประชาชนคนไทยจากทั่วทุกสารทิศ เดินทางมาลงนามแสดงความอาลัยกษัติรย์ที่คนไทยรักยิ่ง
ขณะที่หลายหน่วยงานหลายองค์กร แจกจ่ายอาหาร และน้ำดื่ม ซึ่งมีข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ สำรวจช่วงเวลาแค่ 2 สัปดาห์ ตั้งแต่มีการแจกจ่ายอาหารไป พบว่า กว่า 40 % ไม่มีการรับประทานและนำมาทิ้งขยะ
ขณะที่ปริมาณขยะที่ท้องสนามหลวงพุ่งขึ้นกว่า 76 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะที่เป็นเศษอาหาร 32 ตันต่อวัน ขยะรีไซเคิล 45 ตันต่อวัน โดยเฉพาะขยะประเภทโฟม 5 ตันต่อวัน (อ่านประกอบ: ผู้ว่ากทม.รณรงค์มาสนามหลวงพกกล่องข้าว นำกระบอกน้ำมาเอง ลดปริมาณขยะ)
แม้พนักงานเก็บขยะจำนวนต่อวัน มีจำนวนหลายร้อยคน ผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่ มีจิตอาสา มาช่วยเก็บและแยกขยะกว่า 500 กว่าคนต่อวัน ขยะก็ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชาชนที่เดินทางมา ตั้งแต่วันที่ 14 -25 ตุลาคม 2559 มีจำนวนกว่า 1.1 ล้านคน หรือเฉลี่ยประมาณเกือบแสนคนต่อวัน (ข้อมูลจากทวิตเตอร์ สวพ.FM 91)
พล.ต.อ อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งมาดๆ ระบุถึงจำนวนประชาชนจากทั่วทุกสารทิศ เดินทางเข้ามาถวายสักการะพระบรมศพฯ เป็นจำนวนมาก และมีตั้งกลุ่มอาสาการแจกจ่ายอาหารในพื้นที่ท้องสนามหลวงเป็นจำนวนมากเช่นกัน ส่งผลเกิดปริมาณขยะจำนวนเฉลี่ย 76 ตันต่อวัน
"ขยะจำนวนมาก เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครต้องทำงานหนัก ถึงแม้จำนวนผู้มาลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครจำนวน 6,000 กว่าคน แต่จิตอาสาส่วนแยกขยะ 2,000 กว่าคน นับเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของส่วนงานทั้งหมด"
ส่วนการทำงานของอาสาสมัครของศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร Volunteers for DAD ที่ตั้งอยู่รั้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร Volunteers for DAD ให้ข้อมูลว่า จำนวนคนมาสมัครตั้งแต่เปิดศูนย์ประสานงาน ฯ วันแรกประมาณ 500 กว่าคน วันที่สอง 700 กว่าคน และวันที่สาม 1,000 กว่าคน ซึ่งทุกวันนี้ขึ้นเป็นพันกว่าคนเรื่อยมา ทำให้เห็นว่าจำนวนแต่ละวันมียอดจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็น
สำหรับหน้าที่ในแต่ละวัน ผศ.ดร.ปริญญา บอกว่า บางฝ่ายจะรับจำนวนไม่เท่ากัน แล้วแต่การประสานงานมาว่าต้องการกี่คน โดยหน้าที่งานแต่ละฝ่าย เช่น
- ฝ่ายจัดคิวประชาชนเข้าพระบรมมหาราชวัง
- ฝ่ายล่ามแปลภาษา
- ฝ่ายจุดคัดกรองคน
- ฝ่ายประจำรถ Shuttle Bus
- ฝ่ายดูแลความสะอาด (เก็บดอกไม้) บริเวณประตูพระบรมมหาราชวัง
- ฝ่ายจัดการขยะและแยกขยะ
-ฝ่ายโรงครัว
- ฝ่ายต่างๆตามหน่วยงานที่ต้องการอาสาสมัคร
"แต่ละฝ่ายจะมีช่วงเวลา แต่ฝ่ายจัดการขยะและแยกขยะจะรับตลอด หากผู้ที่สนใจจะเป็นอาสาสมัครสามารถดูรอบเวลาของแต่ละหน้าที่ ได้ที่ช่องทางเพจ Volunteers for Dad หรือศูนย์ประสานงาน ฯ หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หรือลงทะเบียนออนไลน์ https://goo.gl/forms/L0ACTQCH3aZKA8DL2 หากจะไปเป็นหมู่คณะ ให้ติดต่อล่วงหน้า 1 วัน ต้องการสอบถามเพิ่มเติม 095-479-7034 , 02-613-3908 หรือ [email protected]
งานอาสาสมัครยังต้องการหลายคน อย่างการจัดการขยะและแยกขยะก็สำคัญ เพราะขยะจำนวนมากเป็นหลายสิบตัน อาสาสมัครช่วยกันทำได้ แต่ถ้าทุกคนช่วยกัน เรื่องทิ้งขยะตามประเภทที่แยกและเป็นที่เป็นทาง ปัญหาขยะก็จะลดลง” ผศ.ดร.ปริญญา ระบุ
สำหรับภาระหน้าที่อาสาสมัคร ฝ่ายที่มีหน้าที่จัดการแยกขยะ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องแยกขยะอย่างเดียว แต่หน้าที่ของอาสาสมัคร เขาเหล่านั้นยังคอยบอกให้ทุกคนที่มาสนามหลวงช่วยกันทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ให้เป็นระเบียบ โดยหวังว่า ท้ายสุด การบอกกล่าวอาจไม่ต้องมีก็เป็นไป เพราะทุกคนรู้หน้าที่ว่าหากต้อ ทิ้งขยะที่ไหนและอย่างไร
@ อาสาสมัครช่วยแบ่งเบางาน
ปัจจุบันเจ้าหน้าเก็บขยะมีจำนวนน้อย แต่ละวันตกเกือบหลักพันคน ผลัดเวรกันไปมา แต่จะเห็นว่า จำนวนขยะก็ไม่ได้น้อยลงเลย กลับเพิ่มขึ้นทุกวัน ยิ่งเป็นขยะทั่วไปอย่าง โฟม เศษอาหาร เป็นจำนวนมาก
“เจ้าหน้าที่เก็บขยะรู้สึกเบาแรงขึ้นเยอะ สะดวกขึ้นเยอะ ขอบคุณมาก ๆ นะ เด็กอาสาสมัครทั้งหลาย” เจ้าหน้าที่เก็บขยะรอบสนามหลวงรายหนึ่ง ระบุ
นายวัชระ คำพันธ์ เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดชำนาญงาน เขตหนองแขม หัวหน้างานอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ยอมรับว่า ตั้งแต่มีจิตอาสา เจ้าหน้าที่ต่างรู้สึกเบาแรงขึ้นเยอะ สะดวกขึ้นเยอะ โดยเฉพาะในเรื่องของการคัดแยกขยะ และอย่างที่ทราบกันการแยกขยะจะมีทั้ง 3 ประเภท คือ ขยะรีไซเคิล ขยะเศษอาหาร ขยะทั่วไป ซึ่งการคัดแยกขยะจะทำให้สะดวกต่อการดำเนินงานขั้นต่อไปได้อย่างรวดเร็ว เช่น ขยะรีไซเคิลพวกขวดน้ำดื่ม จะนำไปขายและนำรายรับส่วนนั้นมาใช้ทำเป็นประกันชีวิตแก่พนักงานเหล่านี้ ส่วนขยะเศษอาหาร จะนำไปส่งหน่วยงานที่นำไปทำเป็นปุ๋ย หรืออาหารสัตว์บ้าง ส่วนขยะทั่วไปจะนำไปทำลาย เช่น การนำไปเผาที่หนองแขม ซึ่งที่นั้นมีโรงเตาเผาขยะ
“โฟม จัดเป็นขยะแบบทั่วไปที่มีเยอะที่สุด นับตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่ย่อยสลายยากและใช้เวลานานหลายปี” นายวัชระ อธิบาย และว่า เมื่อย้อนไปดูช่วงแรก ๆ ตั้งแต่มีงาน ประชาชนมักจะทิ้งขยะไม่ถูกที่ถูกทาง อยากจะวางหรือทิ้งตรงไหน ก็ทำตามใจ ปัจจุบันก็มีอยู่ แต่น้อยลงไปมาก เพราะมีอาสาสมัครคอยถือถุงขยะเดินเก็บและตะโกนบอก
เขาบอกว่าด้วย ช่วงแรกจะเป็นการเก็บแบบไม่ได้แยก แต่ก็เบาแรงแก่เจ้าหน้าที่ในการเก็บขยะ แต่ตอนนี้เริ่มมีการให้แยกขึ้นมีอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ค่อยบอก เรื่องการแยกขยะจึงไม่หนักหนาเท่าวันก่อนๆ
เมื่อถามถึงการแยกขยะ สุดท้ายกทม.ก็นำขยะที่แยกแล้วไปปะปนกันอยู่ดี นายวัชระ มองว่า เหตุที่หลายคนคิดแบบนั้นอาจเป็นเพราะเห็นตอนช่วงแรกของงาน ที่มีรถเข้ามารับขยะในสนามหลวง แบบใส่รวมกัน แต่ความจริงคือต้องนำไปแยกที่อื่น เพราะที่นี้มีพื้นที่ไม่พอ การทิ้งขยะแบบปะปนกันปริมาณมากและจำนวนคนในพื้นที่เยอะ ทำให้แยกตรงนั้นเลยไม่ได้
"ปัจจุบันเมื่อมีการจัดรูปแบบวางถังขยะแยกประเภท ประมาณ 10 จุด อยู่โดยรอบสนามหลวง ทำให้สะดวกขึ้นและมีรถเก็บขยะแยกประเภทเลย สะดวกต่อการนำขยะแต่ละประเภทไปดำเนินในขั้นตอนต่อไป"
ร่วมด้วยช่วยกัน เชื่อได้ว่า ขยะลดลงได้ด้วยสองมือเรา...
ที่มาภาพ เฟชบุค Volunteers for Dad