สารพัดอุปสรรค-ปัญหากำจัดผักตบฉบับ กทม.! ไขคำตอบไฉน 5 ปีใช้งบ 1.5 พันล.
“เมื่อก่อนความต่อเนื่องในการกำจัดผักตบชวาไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้วางแผนร่วมกัน หรือวางแผนแล้วแต่บางหน่วยงานไม่ทำ เช่น การวางแผนเก็บผักตบจากคลองหลัก ๆ อย่างเดียว คลองตามซอกซอยไม่ได้วางแผน ก็ไม่ได้เก็บ ท้ายสุดก็ไหลมากองที่คลองหลักอีก หรือบางคลองไม่ได้อยู่ในเขตเดียว หรือจังหวัดเดียว ก็เก็บไม่พร้อมกัน บางเขตเก็บแล้ว บางเขตไม่ได้เก็บ หรือบางจังหวัดไม่ได้เก็บ สุดท้ายก็ไหลมากองรวมกันที่ กทม. อยู่ดี”
กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่กำลังถูกจับตาเรื่องการใช้งบประมาณในการกำจัดผักตบชวา
โดยเฉพาะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณของ กทม. ในการกำจัดผักตบชวาในช่วงปี 2555-2559 พบว่า ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นประมาณ 1.5 พันล้านบาท โดยเฉพาะปีล่าสุด 2559 ใช้งบไปทั้งสิ้นกว่า 470 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : 5 ปีล่าสุด 2.5 พันล.! เปิดงบ 5 หน่วยงานรัฐกำจัดผักตบ-กทม.แชมป์ใช้ 1.5 พันล.)
ขณะเดียวกันในช่วงปี 2557-2559 สำนักการระบายน้ำ กทม. ทำโครงการจัดซื้อเรือ-วัสดุอุปกรณ์กำจัดผักตบชวาอย่างน้อย 11 โครงการ (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงินกว่า 144 ล้านบาท โดยจำนวนนี้ได้จัดซื้อเรือบีบอัดผักตบชวาพร้อมเรือขนถ่ายจำนวน 3 ชุด วงเงิน 116 ล้านบาท ปรากฏชื่อบริษัท นำพลอินเตอร์เทรด จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วย ซึ่งนายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม. ยืนยันว่า คุณสมบัติของบริษัทดังกล่าวเหมาะสม กทม.-สตง. เข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว ไม่พบอะไรผิดปกติ
(อ่านประกอบ : กทม.ยัน บ.ขายเรือผักตบ116 ล.คุณสมบัติเหมาะสม-สตง.ตรวจละเอียดแล้ว!)
ไม่ว่าการใช้งบประมาณของ กทม. ในการกำจัดผักตบชวา จะถูกหลายฝ่ายมองว่ามีความคุ้มค่า-เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ?
แต่สิ่งที่ ผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม. ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เกี่ยวกับการกำจัดผักตบชวาคือ ความซ้ำซ้อนกันของแต่ละหน่วยงานในการดำเนินงาน ส่งผลให้ผักตบชวายังคงมีอยู่เหลืออยู่มากในปัจจุบัน !
นายสมพงษ์ อธิบายวิธีการกำจัดผักตบชวาของสำนักการระบายน้ำ กทม. ว่า ใช้วิธีจัดซื้อเรือหรือวัสดุอุปกรณ์จากเอกชน แต่ใช้แรงงานประจำจาก กทม. เป็นคนเข้าไปทำ เช่น แรงงานเก็บขยะ แรงงานกวาดถนน หรือแรงงานอื่น ๆ โดยไม่มีแรงงานที่ทำเกี่ยวกับการกำจัดผักตบโดยตรง แต่จะนำแรงงานในส่วนเหล่านี้เข้าไปช่วยทำตามแผนงานของฝ่ายบริหาร โดยไม่ได้จ้างเอกชนให้เข้าไปดำเนินการแทนแต่อย่างใด
“ปัจจุบันเรามีแรงงานของ กทม. เตรียมพร้อมอยู่แล้ว มีเรือไฟเบอร์ออพติก มีรถตักผักตบชวา ถ้าเจอผักตบลอยมาเยอะ ๆ บางจุดก็ใช้เรือ-ใช้รถเข้าไปตักขึ้น แล้วขนไปทิ้งหรือไปทำลายอะไรก็ว่าไป แต่ถ้าอยู่ในคลองลึก ๆ หรือเป็นพื้นที่ที่รถ-เรือเข้าไปไม่ได้ ก็จะให้แรงงานใช้เรือเล็กเข้าไปขนเพื่อนำไปทำลายต่อไป”
ส่วนวิธีการทำลายนั้น นายสมพงษ์ ระบุว่า นำไปกำจัดทิ้งที่โรงงานกำจัดขยะ หรือหากอยากให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกิดประโยชน์จะดูว่ามีชาวบ้าน หรือหน่วยงาน-องค์กรใดต้องการนำไปใช้ เช่น ทำปุ๋ย กทม. จะนำไปส่งให้
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยที่เป็น ‘แม่งาน’ ในการกำจัดผักตบชวา ปัจจุบัน กทม. ดำเนินการไปอย่างไร ?
นายสมพงษ์ อธิบายว่า ขณะนี้เพิ่งเริ่มประชุมได้แค่ครั้งเดียว เบื้องต้นมีการวางแผนในการกำจัดผักตบชวาโดยบูรณาการทุกหน่วยงานในพื้นที่ของ กทม. ที่มีสำนักการระบายน้ำเป็นหลัก ร่วมกับสำนักงานเขตต่าง ๆ และกรมชลประทาน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ และมีความต่อเนื่อง
สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมาในการกำจัดผักตบชวา นายสมพงษ์ ยืนยันว่า เป็นเพราะเรื่องการทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน ?
“เมื่อก่อนความต่อเนื่องในการกำจัดผักตบชวาไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้วางแผนร่วมกัน หรือวางแผนแล้วแต่บางหน่วยงานไม่ทำ เช่น การวางแผนเก็บผักตบจากคลองหลัก ๆ อย่างเดียว คลองตามซอกซอยไม่ได้วางแผน ก็ไม่ได้เก็บ ท้ายสุดก็ไหลมากองที่คลองหลักอีก หรือบางคลองไม่ได้อยู่ในเขตเดียว หรือจังหวัดเดียว ก็เก็บไม่พร้อมกัน บางเขตเก็บแล้ว บางเขตไม่ได้เก็บ หรือบางจังหวัดไม่ได้เก็บ สุดท้ายก็ไหลมากองรวมกันที่ กทม. อยู่ดี”
“แต่มาคราวนี้ไม่ได้แล้ว ต้องวางแผนใหม่ โดยสำนักการระบายน้ำมียุทธศาสตร์ในการกำจัดผักตบชวาแต่ละปีว่า เดือนนี้เก็บวันที่เท่าไหร่ เก็บตรงพื้นที่ไหนบ้าง เรียกประชุมหัวหน้าสำนักงานเขตว่า จะวางแผนเก็บกันอย่างไร ต้องกางแผนให้แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบดูว่า หน่วยหลักเก็บพื้นตรงนี้ หน่วยย่อยควรจะไปเก็บพื้นที่ไหนบ้าง พร้อมกันกับดูแผนยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรีที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลการกำจัดผักตบชวาโดยเฉพาะด้วยว่า คลองไหนที่ผ่านหลายจังหวัด จะกำจัดอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นมีการประสานกันแล้วของ 2 หน่วยงานคือ สำนักการระบายน้ำ กทม. และกรมชลประทานในพื้นที่แต่ละจังหวัด”
นายสมพงษ์ ยืนยันด้วยว่า ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะสามารถกำจัดผักตบชวาได้อย่างยั่งยืน ?
“ผักตบชวาหากไม่กำจัดหรือจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง เดี๋ยวอีกไม่เกิน 2 เดือน ก็ลอยมาเต็มคลองอีก ตอนนี้ยังหาวิธีการกำจัดอย่างถาวรไม่ได้ มีสารเคมีบางตัวทำได้ แต่มันจะไม่ดี เป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม ก็ต้องใช้วิธีการจัดเก็บแบบหมุนเวียนกันไปอย่างต่อเนื่องแบบตอนนี้ ส่วนหน่วยงานใดจะไปศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการกำจัดผักตบชวาอย่างยั่งยืน ก็ดำเนินการไป แต่ตอนนี้ต้องจัดเก็บแบบนี้”
มาถึงบรรทัดนี้ หลายคนคงกระจ่างชัดว่า เหตุใด กทม. จึงใช้งบประมาณในการดำเนินการกำจัดผักตบชวาเป็นจำนวนมากถึงกว่า 1.5 พันล้านบาท แต่ทำไมเมื่อหันซ้ายหันขวามองแม่น้ำลำคลองจึงยังเห็นผักตบชวาลอยเกลื่อนอยู่เต็มไปหมด ?
แต่ปัจจุบันมีการปรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ตามข้อสั่งการของ ‘บิ๊กตู่’ ที่กำชับนโยบายร้อนนี้ราวกับ ‘วาระแห่งชาติ’
ท้ายสุดจะประสบความสำเร็จ ฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองให้กลับมาใสสะอาดอีกครั้ง
หรือจะ ‘เหลว’ เหมือนกับที่ ‘บิ๊กตู่’ เคยสั่งการไว้ครั้งแรกช่วงปลายปี 2558 ?
ต้องจับตากันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ :
เปิดหมดงบ ก.มหาดไทย‘แม่งาน’ กำจัดผักตบชวา 2 ปี 59 โครงการ 362 ล.
พบ‘อีโคมารีน’ บ.แก้ปัญหามลพิษน้ำ คว้างานกำจัดผักตบกรมโยธาฯ 122 ล.
เปิดปฏิบัติการกำจัดผักตบยุค‘บิ๊กตู่’ ก่อนเหลว! สั่งทำใหม่-สตง.พบปัญหาเพียบ?
กรมโยธาฯซื้อเรือ-อุปกรณ์กำจัดผักตบ 177.6 ล.ก่อน สตง.ชง‘บิ๊กตู่’สางปัญหา
เอกชนขายเรือผักตบ กทม. 116ล.!รายใหญ่ค้าอาวุธกองทัพ-คู่เทียบ บ.ลูกปรีชา
พบ กทม.ซื้อเรือ-วัสดุกำจัดผักตบชวา 144 ล.-เรือบีบอัด 3 ลำ 116 ล.
5 ปีล่าสุด 2.5 พันล.! เปิดงบ 5 หน่วยงานรัฐกำจัดผักตบ-กทม.แชมป์ใช้ 1.5 พันล.
ชำแหละ 4 ปัญหากำจัดผักตบชวา! สตง. ชง‘บิ๊กตู่’เร่งแก้-ป้องใช้งบแผ่นดินไม่คุ้มค่า?
พบสารพัดปัญหากำจัดผักตบยุค'บิ๊กตู่'! สตง.จี้จับตาหน่วยงานรับผิดชอบใกล้ชิด
หมายเหตุ : ภาพประกอบผักตบชวาจาก คมชัดลึก