เบื้องหลัง ป.ป.ช.ยอมถอย! ถอนเรื่องให้ศาล รธน.ตีความอำนาจชี้มูลผิดวินัย
“…กรรมการใน คตป.ป.ป.ช. เชื่อว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่น อาจทำให้สำนักงาน ป.ป.ช. เสียหายได้ ซึ่งตรงนี้อาจสร้างปัญหาอีกหลายอย่าง …”
ในที่สุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ‘ยอมถอย’ ถอนเรื่องจากศาลรัฐธรรมนูญที่ขอให้วินิจฉัยอำนาจการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายหลังศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจชี้มูลความผิดทางวินัยเฉพาะความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แต่ไม่มีอำนาจชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่น
เนื่องจากเล็งเห็นว่า เมื่อกลับมาพิจารณาในข้อกฎหมาย และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แล้ว พบว่า อำนาจในการยื่นคำร้องดังกล่าวยังไม่ค่อยชัดเจน และก่อนหน้านี้เคยส่งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่คณะรัฐมนตรียังตีกลับมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการยื่นเรื่องเอง ดังนั้นควรรอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก่อน จึงค่อยหารือว่าจะส่งให้วินิจฉัยอีกครั้งหรือไม่ ขณะเดียวกันศาลปกครองสูงสุดได้รื้อคดีที่มีการวินิจฉัยดังกล่าวใหม่อีกครั้งแล้ว ดังนั้นต้องรอดูว่าคำพิพากษาใหม่จะเป็นอย่างไรด้วย
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ถอนเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัยอำนาจชี้มูลผิด-ศาล ปค.สูงสุดรื้อคดีไต่สวนใหม่)
ล่าสุด แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ก่อนหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. จะถอนเรื่องดังกล่าวจากศาลรัฐธรรมนูญนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ปรึกษาคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลสำนักงาน ป.ป.ช. (คตป.ป.ป.ช.) ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานฯแล้ว โดย คตป. พิจารณาข้อกฎหมายต่าง ๆ ครบถ้วน จึงมีความเห็นว่า การยื่นเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความขณะนี้น่าจะยังไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้ทำได้ จึงมีคำแนะนำถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ถอนเรื่องดังกล่าวกลับมาก่อน รอให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ และดูในข้อกฎหมายใหม่ จึงค่อยยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้งหนึ่ง
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า นอกเหนือจากข้อแนะนำของ คตป.ป.ป.ช. แล้ว กรรมการใน คตป.ป.ป.ช. ยังได้หารือกับกรรมการ ป.ป.ช. และตุลาการบางคนถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวด้วย โดยกรรมการใน คตป.ป.ป.ช. เชื่อว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่น อาจทำให้สำนักงาน ป.ป.ช. เสียหายได้ ซึ่งตรงนี้อาจสร้างปัญหาหลายอย่าง ดังนั้นจึงควรถอนเรื่องรอดูบทบัญญัติข้อกฏหมายในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ชัดเจน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก่อน จึงค่อยยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง
อนึ่ง ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม อยู่ในอำนาจการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และการไต่สวนวินิจฉัยผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดวินัยตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ได้ทุกฐานความผิดที่เป็นผลมาจากความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมหรือไม่
สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 5 บัญญัติว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่ประเพณีการปกครองดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด หรือเมื่อมีกรณีที่เกิดขึ้นนอกวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุดจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้ แต่สําหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดให้กระทําได้เฉพาะเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี
(ดูรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/055/1.PDF)
กรณีนี้ เกิดขึ้นภายหลัง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยในคดีพิพาทระหว่าง นายสมปอง คงศิริ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี โดยสรุปว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยผู้ฟ้องคดีเฉพาะความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติชี้มูลความผิดทางวินัยในความผิดฐานอื่น เป็นการกระทำไม่มีอำนาจตามกฎหมาย จึงไม่ผูกพันผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี ที่จะถือเอารายงานการไต่สวนและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาพิจารณาโทษผู้ฟ้องคดี คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามความผิดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีข้อโต้แย้งไปถึงศาลปกครองสูงสุด สรุปสาระสำคัญได้ว่า การวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดก้าวล่วงอำนาจหน้าที่และการใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 (ขณะนั้น) มาตรา 223 วรรคสอง บัญญัติว่า อำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดยังคลาดเคลื่อนกับบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ป.ป.ช.
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ยื่นศาล รธน.ตีความอำนาจฟัน จนท.ผิดวินัยร้ายแรง หลังศาล ปค.ชี้ทำไม่ได้
ป.ป.ช.ถกปมศาล ปค.ชี้ไร้อำนาจฟันผิดคนทำราชการเสียหาย-ประพฤติชั่วร้ายแรง
ป.ป.ช.ค้านศาล ปค.! ยันมีอำนาจฟันผิดฐานทำราชการเสียหาย-ชงศาล รธน.ชี้ขาด