12 ปีตากใบ – นัดพูดคุยพื้นที่ปลอดภัย... เหตุปัจจัยต้องสงสัยโยงบึ้มตลาดปัตตานี
เหตุระเบิดหน้าตลาดโต้รุ่งกลางเมืองปัตตานี ใกล้กับร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นชื่อดัง เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ 24 ต.ค.59 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ในทางยุทธวิธีต้องบอกว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุเลือกจังหวะเวลาลงมือได้อย่างเหมาะเจาะ
เพราะสามารถตีความเชิงสัญลักษณ์เชื่อมโยงได้หลายเรื่องราว จนยากที่จะสรุปฟันธงได้ว่าเป็นการลอบวางระเบิดจากสาเหตุใดกันแน่
แต่ที่แน่ๆ คือประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรง นับเฉพาะเด็กมีอย่างน้อย 6 คนที่ได้รับบาดเจ็บ มีข่าวที่ยังไม่ยืนยันอย่างเป็นทางการว่า เด็กนักเรียนหญิงชั้น ม.6 คนหนึ่ง อาการสาหัส อาจต้องตัดขา
นี่คือความเลวร้ายของการก่อเหตุที่มุ่งโจมตีในเขตเมือง ย่านเศรษฐกิจที่มีผู้คนพลุกพล่าน ทำให้ “เมือง” กลายเป็นสมรภูมิ และพื้นที่อันตราย คล้ายยุทธวิธีของการก่อการร้ายสมัยใหม่
ส่วนเหตุปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดระเบิดลูกนี้ ต้องบอกว่ามีหลายปัจจัย ซึ่งล้วนมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น และผู้ก่อเหตุก็อาจใช้ระเบิดลูกเดียวสนองหลายปัจจัยก็เป็นได้
หนึ่ง ใกล้วันครบรอบ 12 ปีเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน เกือบทั้งหมดตายเพราะขาดอากาศหายใจบนรถยีเอ็มซีของทหาร หลังถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง แล้วนำไปเรียงซ้อนกันนับพันคนเพื่อไปสอบปากคำที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร
เหตุการณ์ตากใบถือเป็นโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเหตุการณ์กรือเซะ เมื่อ 28 เม.ย.ปีเดียวกัน
ช่วงใกล้วาระครบรอบเหตุการณ์ตากใบ จะเป็นช่วงที่ฝ่ายความมั่นคงแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังเหตุร้าย และปีนี้ก็เช่นกัน
สอง ใกล้วันนัดพบปะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีรายงานว่า “คณะทำงานเทคนิคร่วมฯ” ของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและ มารา ปาตานี ได้นัดหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ แต่เป็นการหารือคณะใหญ่ ในวันอังคารที่ 25 ต.ค.59 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
วาระสำคัญของการพูดคุย คือ การกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" หรือ Safety Zone ร่วมกัน
มีรายงานว่าผู้แทนคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย เตรียมเสนอให้กำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” ในระดับอำเภอ เช่น อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส หากฝ่าย มารา ปาตานี เห็นด้วย ก็จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ร่วมกัน
สำหรับ อ.เจาะไอร้อง เคยตกเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ว่าจะได้รับเลือกให้เป็น “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อพิสูจน์ศักยภาพและความจริงใจของฝ่าย มารา ปาตานี ที่ถูกกล่าวหามาตลอดว่าเป็น “ตัวปลอม” และไม่สามารถสั่งการกองกำลังในพื้นที่ได้ โดยสาเหตุที่เลือก อ.เจาะไอร้อง เพราะเป็นอำเภอสัญลักษณ์ที่เกิดเหตุปล้นปืนครั้งมโหฬาร เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 อันเป็นปฐมบทของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมาเกือบ 13 ปี
เป็นที่ทราบกันดีว่า มารา ปาตานี เป็น “องค์กรร่ม” ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม แต่ไม่รวมถึงกลุ่ม "บีอาร์เอ็นฝ่ายทหาร" ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ควบคุมกองกำลังติดอาวุธส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบีอาร์เอ็นเองก็เคยส่งสัญญาณว่าไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเวทีนี้มาแล้ว จึงอาจมีความเป็นไปได้ว่า บีอาร์เอ็นฝ่ายทหาร หรือผู้เสียประโยชน์กลุ่มอื่นจากการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ อาจก่อเหตุรุนแรงขึ้นเพื่อทำลายความคืบหน้าของการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย
ขณะที่ ตลาด วัด โรงเรียน มัสยิด และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เคยมีการเรียกร้องจากภาคประชาสังคมให้เป็น "พื้นที่ปลอดภัย" เลิกการโจมตีด้วยอาวุธ ฉะนั้นการก่อเหตุครั้งนี้จึงเป็นการท้าทายและปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้อย่างสิ้นเชิง และยังเป็นการ "หาช่อง" หลีกเลี่ยงการตรวจจับของฝ่ายความมั่นคงที่มุ่งเฝ้าระวังไปที่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ติดตั้งระเบิด (คาร์บอมบ์ / มอเตอร์ไซค์บอมบ์) เพราะข่าวแจ้งว่า ระเบิดลูกนี้คนร้ายประกอบใส่กล่องเหล็ก จุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือหรือวิทยุสื่อสาร น่าจะเป็นระเบิดที่แคร์รี่ หรือ "ถือ" เข้าไปยังพื้นที่สังหาร
สาม เป็นการก่อเหตุเพื่อท้าทาย พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา และอาจส่งสัญญาณท้าทายไปถึง “คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล” หรือ “ครม.ส่วนหน้า” ซึ่งกำลังจะลงไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มระบบในสัปดาห์หน้านี้ด้วย
โดยทั้งแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ และ ครม.ส่วนหน้า ล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนพื้นที่ก่อนหน้านี้ว่า ไม่น่าจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เพราะแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่มีความเชี่ยวชาญด้านการข่าวความมั่นคง เคยคุมศูนย์ซักถามและควบคุมตัวของทหาร แต่ไม่ค่อยมีบทบาทด้านประชาสังคม ทำให้ไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่มากนัก โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ
ขณะที่ ครม.ส่วนหน้า ก็ไม่มีคนมุสลิมและแทบไม่มีคนในพื้นที่ร่วมอยู่ด้วยเลย...
สี่ เป็นการก่อเหตุรุนแรงในช่วงที่มีการจับกุมกลุ่มบุคคลจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกระบุว่าเชื่อมโยงกับแผนก่อวินาศกรรมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยข้อมูลทางการระบุว่ามี 7 คนที่ถูกส่งเข้าศูนย์ซักถาม หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แล้ว
เหตุรุนแรงในช่วงนี้จึงอาจมองได้เหมือนกันว่าเป็นการตอบโต้การจับกุมกลุ่มบุคคลดังกล่าว ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าเป็น “ทีมศรีสาคร” ที่เตรียมก่อเหตุรุนแรงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเทียบเคียงกับเหตุระเบิดและวางเพลิงใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ช่วงวันที่ 10-12 ส.ค.59 แต่ครั้งนั้นใช้ “ทีมปัตตานี” ผสม “ทีมนราธิวาส”
นี่คือเหตุปัจจัยที่พอจะรวบรวมได้ ณ นาทีที่ฝุ่นควันระเบิดหน้าตลาดโต้รุ่งปัตตานีเพิ่งจางลง
ทว่าเมฆหมอกแห่งความรุนแรง ณ ดินแดนแห่งนี้ยังคงทึบทะมึน...ไม่จางลงเลย!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพความเสียหายจากเหตุระเบิดหน้าตลาดโต้รุ่งปัตตานี โดยเจ้าหน้าที่ชุดตรวจที่เกิดเหตุ และศูนย์กู้ภัยในพื้นที่