เปิดปฏิบัติการกำจัดผักตบยุค‘บิ๊กตู่’ ก่อนเหลว! สั่งทำใหม่-สตง.พบปัญหาเพียบ?
“…ผักตบชวามีการเจริญเติบโตและขยายตัวเร็วมาก ภายในระยะเวลา 15-20 วัน สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น 1 เท่า ประกอบกับพื้นที่บางแห่งเรือกำจัดผักตบชวาไม่สามารถเข้าถึง เช่น ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำและลำคลองที่ระดับน้ำตื้นเขิน นอกจากนี้ประชาชนบางส่วนยังมีการทำประมงน้ำจืด โดยใชผักตบชวาเป็นที่อาศัยของปลา (ก่ำ) หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือแปรรูปเป็นอาหารสำหรับปลากินพืช รวมทั้งธรรมชาติของผักตบชวามีการเคลื่อนย้ายจากปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง และการพัดพาจากแรงลม ทำให้ไม่สามารถกำจัดผักตบชวาได้หมดสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค. 2559…”
สาธารณชนอาจทราบกันไปแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีข้อสั่งการเมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา ถึงทุกหน่วยงานของรัฐ ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ‘ผักตบชวา’ ในแม่น้ำคูคลองต่าง ๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมาอย่างยาวนาน โดยให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เป็น ‘แม่งาน’
แต่เชื่อหรือไม่ปัญหาดังกล่าวถูก ‘บิ๊กตู่’ เล็งเห็นมาตั้งนานแล้ว ?
โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2558 นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์) ได้มีข้อสั่งการให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการขุดลอกคูคลองทั่วประเทศ โดยเฉพาะการกำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. 2559
ทว่าแผนการกำจัดดังกล่าว ไม่แล้วเสร็จ ทำให้ ‘บิ๊กตู่’ ต้องมาสั่งซ้ำอีกครั้งในเดือน ก.ย. 2559
ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ไม่เสร็จดังกล่าวมีอะไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบรายงานผลการปฏิบัติงานตามแผนการกำจัดผักตบชวา ปี 2559 ที่กระทรวงมหาดไทยนำเสนอคณะรัฐมนตรี สรุปได้ ดังนี้
กระทรวงมหาดไทยที่มีกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ได้บูรณาการหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน จัดทำแผนการกำจัดผักตบชวาประจำปี 2559 โดยมีแผนการบริหารจัดการจำแนกพื้นทีด่ำเนินงานตามลักษณะของแหล่งน้ำโดยเน้นพื้นที่ที่มีปัญหาผักตบชวากีดขวางทางระบายน้ำ ได้แบ่งมอบความรับผิดชอบ ดังนี้
หนึ่ง พื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย และแม่น้ำลพบุรี มีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า หน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หน่วยงานทหาร ภาคเอกชน และประชาชน
สอง พื้นที่บริเวณประตูระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำป่าสัก และคลองในระบบชลประทาน มีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ กรมชลประทาน หน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ อบจ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หน่วยงานทหาร ภาคเอกชน และประชาชน
สาม แหล่งน้ำขนาดเล็กและแหล่งน้ำเชื่อมโยงในพื้นที่ขนาดเล็ก มีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ หน่วยงานทหาร ภาคเอกชน และประชาชน
สี่ แหล่งน้ำเอกชน ผู้รับผิดชอบหลัก ได้แก่ เจ้าของแหล่งน้ำ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่สนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักรกล
โดยมีระยะเวลาดำเนินการใช้มาตรการเร่งด่วน เริ่มปฏิบัติการกำจัดผักตบชวาให้เสร็จสิ้นภายในเดือน มี.ค. 2559 ส่วนมาตรการดูแลรักษา ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2559 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลรักษาแหล่งน้ำในพื้นที่รับผิดชอบและในการดำเนินการใช้รูปแบบ ‘ประชารัฐ’
สำหรับผลการดำเนินงาน กระทรวงมหาดไทยได้รวบรวมข้อมูลผลการสำรวจปริมาณผักตบชวาทั่วประเทศ ในช่วงเดือน ม.ค. 2559 พบว่า ในแหล่งน้ำรวม 1,983 แห่ง มีปริมาณผักตบชวารวม 5,646,680 ตัน โดยมีผลการดำเนินงาน (ตั้งแต่ 1 ก.พ. 2559-31 มี.ค. 2559) ดังนี้
พื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง กรมโยธาธิการและผังเมือง กำจัดได้ปริมาณ 120,800 ตัน กรมเจ้าท่า กำจัดได้ปริมาณ 79,108 ตัน
พื้นที่บริเวณประตูระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำป่าสัก และคลองในระบบชลประทาน โดยกรมชลประทาน กำจัดได้ปริมาณ 1,214,764 ตัน
แหล่งน้ำขนาดเล็ก และแหล่งน้ำเชื่อมโยงในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยกรมการปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานทหาร และภาคประชาชน กำจัดได้ 2,239,501 ตัน
สรุปแล้วแผนการปฏิบัติงานตามแผนการกำจัดผักตบชวา ประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2559 กำจัดได้จำนวน 3,654,173 ตัน คิดเป็นร้อยละ 64.71
ส่วนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน สรุปได้ว่า ผักตบชวามีการเจริญเติบโตและขยายตัวเร็วมาก ภายในระยะเวลา 15-20 วัน สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น 1 เท่า ประกอบกับพื้นที่บางแห่งเรือกำจัดผักตบชวาไม่สามารถเข้าถึง เช่น ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำและลำคลองที่ระดับน้ำตื้นเขิน นอกจากนี้ประชาชนบางส่วนยังมีการทำประมงน้ำจืด โดยใชผักตบชวาเป็นที่อาศัยของปลา (ก่ำ) หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือแปรรูปเป็นอาหารสำหรับปลากินพืช รวมทั้งธรรมชาติของผักตบชวามีการเคลื่อนย้ายจากปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง และการพัดพาจากแรงลม ทำให้ไม่สามารถกำจัดผักตบชวาได้หมดสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค. 2559
ดังนั้นเพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้ผักตบชวาเกิดการขยายตัวและสร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศของแหล่งน้ำ เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรทางน้ำรวมถึงการระบายน้ำ กระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดทำแผนการกำจัดผักตบชวา ประจำปี 2559 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ ดำเนินการกำจัดผักตบชวาที่เหลืออย่างต่อเนื่อง และดูแลไม่ให้ผักตบชวาขยายตัวไปสู่พื้นที่อื่น
2.รณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการรักษาแหล่งน้ำ ดูแลไม่ให้ผักตบชวาขยายตัวจากพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
3.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผักตบชวา เช่น ทำปุ๋ย สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือผลิตเป็นอาหารสำหรับปลากินพืช
4.มอบหมายจังหวัด/อำเภอ ในการกำกับดูแลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ยังคงมีผักตบชวาหลงเหลืออยู่โดยเฉพาะบริเวณสะพานและลำคลองที่ระดับน้ำตื้นเขินเรือไม่สามารถเข้าถึงให้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการในรูปแบบ ‘ประชารัฐ’
5.ให้จังหวัดแต่งตั้งกรรมการบูรณาการดูแลสายน้ำ/แหล่งน้ำ ในระดับพื้นที่เพื่อสนับสนุนการดูแลรักษาแหล่งน้ำ กำจัดผักตบชวา วัชพืช และสิ่งปฏิกูลในแหล่งน้ำ
โดยคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบผลการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว และมีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพิจารณาดำเนินการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยวิธีการกำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำโดยเฉพาะผักตบชวา เพื่อยับยั้งไม่ให้มีการแพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นต่อไป ทั้งนี้ จะต้องไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
กระทั่งเมื่อเดือน ส.ค. 2559 ‘บิ๊กตู่’ ต้องมาสั่งเร่งรัดให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เร่งดำเนินการศึกษาค้นคว้าข้อมูลวิจัยดังกล่าวอีกครั้ง
ในที่สุดเมื่อเดือน ก.ย. 2559 ได้มีข้อสั่งการ ‘ย้ำ’ อีกรอบหนึ่ง เพื่อให้ทุกหน่วยงานเร่งรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาให้ได้โดยเร็ว
จนนำไปสู่การตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พบว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหากำจัดผักตบชวาดังกล่าวของรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ค่อนข้างมีปัญหามาก ทั้งความซ้ำซ้อนของหน่วยงานในพื้นที่ การตั้งราคาต้นทุนไม่เหมือนกัน การขาดวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ความไม่พร้อมในการจัดเก็บซากผักตบชวา เป็นต้น
(อ่านประกอบ : ชำแหละ 4 ปัญหากำจัดผักตบชวา! สตง. ชง‘บิ๊กตู่’เร่งแก้-ป้องใช้งบแผ่นดินไม่คุ้มค่า?, พบสารพัดปัญหากำจัดผักตบยุค'บิ๊กตู่'! สตง.จี้จับตาหน่วยงานรับผิดชอบใกล้ชิด)
ฉากต่อไปที่ต้องจับตาดูคือ คณะทำงานชุดใหม่ ที่มีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นแม่งานแทน กอ.รมน. และมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบ จะทำได้สำเร็จสมความตั้งใจของ ‘บิ๊กตู่’ หรือไม่ ?
อ่านประกอบ :
5 ปีล่าสุด 2.5 พันล.! เปิดงบ 5 หน่วยงานรัฐกำจัดผักตบ-กทม.แชมป์ใช้ 1.5 พันล.
กรมโยธาฯซื้อเรือ-อุปกรณ์กำจัดผักตบ 177.6 ล.ก่อน สตง.ชง‘บิ๊กตู่’สางปัญหา