ครอบครัว "วาเด็ง ปูเต๊ะ" พระสหายแห่งสายบุรี ตามรอยพระบาทกับวิถีพอเพียง
ครอบครัวของ นายวาเด็ง ปูเต๊ะ พระสหายแห่งสายบุรี จังหวัดปัตตานี ยังคงรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
และยังคงถวายผลไม้ที่ปลูกจากสวน ส่งทางไปรษณีย์ไปยังพระบรมมหาราชวังเป็นประจำทุกปี แม้ว่า นายวาเด็ง หรือ “เป๊าะเด็ง” ได้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคชราภายในบ้านของตนเองไปตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2555 หรือนานกว่า 4 ปีแล้ว สิริรวมอายุได้ 96 ปีก็ตาม
ครอบครัวของ เป๊าะเด็ง ยังคงสานต่อเจตนารมณ์ ทั้งเรื่องความจงรักภักดีและความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่ทรงมีต่อครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้
เรื่องราวของ วาเด็ง ปูเต๊ะ พระสหายแห่งสายบุรี ได้รับการเปิดเผยเป็นครั้งแรกในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศราจนเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปลายปี 2548 โดยที่มาของการเป็น “พระสหาย” เริ่มจากเมื่อหลายสิบปีก่อน ในหลวงเสด็จผ่านพื้นที่บ้านบาเลาะ ต.ปะเสยาวอ อ.สายบุรี เพื่อทรงสำรวจพื้นที่เพื่อขุดคลองชลประทานสำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกร และพระองค์ได้พบกับ นายวาเด็ง ในสภาพไม่สวมเสื้อ นุ่งแต่โสร่ง แต่เมื่อพระองค์ตรัสถาม กลับอธิบายสภาพภูมิประเทศได้อย่างฉะฉาน เป็นที่พอพระราชหฤทัย
นับจากนั้นทุกครั้งที่พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานมายังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส ก็จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายวาเด็ง เข้าเฝ้าฯอยู่บ่อยๆ จนเป็นที่โจษขานกันว่า นายวาเด็ง หรือ “เป๊าะเด็ง” เป็นพระสหายของในหลวง
ในขณะที่เป๊าะเด็งเองก็นำผลไม้ส่งไปรษณีย์ไปถวายทุกปี และยังเคยไปลงนามถวายพระพรในหลวง ขณะทรงพำนักอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ชรามากแล้ว
วันนี้แม้ไม่มีเป๊าะเด็งอยู่แล้ว แต่บ้านและสวนเกษตรของครอบครัวยังคงดำรงอยู่เช่นเดิม เช่นเดียวกับวิถีพอเพียงที่ได้รับพระราชทานจากในหลวง
แปลงผักนานาชนิดและพืชผลอื่นๆ ชูต้นอวดความเขียวขจีท่ามกลางสวนมะพร้าวรายล้อมพื้นที่ 7 ไร่ของครอบครัวปูเต๊ะ ขณะที่ไก่ เป็ด และห่านเดินหาอาหารกันอย่างสบายใจ ปลาดุกในบ่อกำลังใกล้โตเต็มวัย วัว 2-3 ตัวเล็มหญ้าอยู่ปากทางเข้าบ้าน ลานบ้านสะอาดสะอ้าน ทั้งหมดคือเครื่องยืนยันว่าทั้งภรรยาและลูกๆ ของเป๊าะเด็ง ยังคงยึดหลักการดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง เหมือนเมื่อครั้งหัวหน้าครอบครัวยังมีชีวิตอยู่
นางสะลาเมาะ ปูเต๊ะ อายุ 90 ปี ภรรยาของเป๊าะเด็งซึ่งเป็นอัมพฤกษ์ซีกขวา ต้องใช้เครื่องพยุงตัวตลอดเวลา บอกด้วยภาษามลายูเมื่อถามถึงชีวิตในวันที่ไม่มีเป๊าะเด็ง
“มีลูกทั้งหมด 5 คน เสียชีวิต 2 คน ทุกวันนี้อยู่กับลูกสาวคนสุดท้องและลูกเขย กับหลานอีก 4 คนบนบ้านหลังนี้ ไปไหนไม่ค่อยได้เพราะร่างกายไม่ปกติ ลูกสาวกับลูกเขยปลูกผัก เลี้ยงปลารอบๆ บ้าน กินกันเท่าที่มี ซื้อหาน้อยมาก เราอยู่กันแบบพอเพียงเหมือนเดิม”
เมื่อถามถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตเมื่อครั้งเป๊าะเด็งได้เข้าเฝ้าฯในหลวง และทรงรับเป็นพระสหาย นางสาลีเมาะ บอกว่า ดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมาก และเวลาพระองค์ท่านเสด็จมาทางใต้ ก็จะทรงติดต่อมาเป็นกำลังใจให้เสมอ เราก็จะส่งผลไม้จากในสวนไปถวายเป็นประจำทุกปี แม้เป๊าะเด็งเสียชีวิตไปแล้วก็ยังส่งไปตลอด ส่วนที่บ้านทุกวันนี้ก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยดูแลเรื่องสุขภาพและไถ่ถามทุกข์สุขอยู่เสมอ
“วินาทีที่ทราบข่าวร้ายของพระองค์ รู้สึกตกใจ ใจหาย คิดถึงพระองค์ คิดถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อครอบครัวของเราอย่างหาที่สุดมิได้ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงมีพระเมตตาต่อมุสลิมเป็นอย่างมาก ยังระลึกถึงตอนที่ได้ไปเข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นเป๊าะเด็งได้เข้าเฝ้าพระองค์ท่านคนเดียว ส่วนเมาะ (สรรพนามแทนตัวเองของหญิงมุสลิมมลายูสูงวัย) รออยู่อีกห้อง” ภรรยาของเป๊าะเด็ง บอก
นางอาตีเกาะ ลูกสาววัย 40 ปีของเป๊าะเด็ง บอกว่า ทุกวันนี้ครอบครัวมีสวนดุซง (สวนผสม) ทั้งลองกอง ทุเรียน มังคุด ในที่ดิน 4 ไร่กว่า เมื่อผลไม้ในสวนออกผล ก็จะได้กินตลอดทั้งปี ไม่ต้องซื้อ และส่งไปถวายยังพระบรมมหาราชวังตลอดมา
“ทุกครั้งจะมีจดหมายตอบกลับมาว่าได้รับแล้ว รู้สึกดีใจมาก จนเมื่อพ่อเสียชีวิต เราก็ยังคงส่งไปถวายเช่นเดิม และตั้งใจทำต่อไปตลอด” ลูกสาวคนเล็กของเป๊าะเด็ง กล่าว
บริเวณหลังบ้าน สุดที่ดินของครอบครัว มีต้นจำปาดะอายุกว่าร้อยปี ซึ่งเป๊าะเด็งกำชับกับครอบครัวก่อนเสียชีวิตให้ดูแลต้นจำปะดะให้ดี และนำผลจำปาดะที่ดีที่สุดไปถวายในหลวงอย่างที่ตนเองเคยทำ
คือคำสั่งเสียของพระสหายแห่งสายบุรี กับความจงรักภักดีที่ไม่มีเสื่อมคลาย...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภรรยาของเป๊าะเด็ง กับภาพแห่งความประทับใจที่สามีได้เข้าเฝ้าฯในหลวง
2 วาเด็ง ปูเต๊ะ เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิต
3-4 สวนดุซง และเกษตรทฤษฎีใหม่
5 บ้านของครอบครัวปูเต๊ะ
6 ต้นจำปาดะอายุกว่าร้อยปี
อ่านประกอบ :
1 "วาเด็ง ปูเต๊ะ" พระสหายแห่งสายบุรี (งานเขียนของศูนย์ข่าวอิศราที่ได้รับการนำเสนอในเว็บไซต์สำนักข่าวชื่อดัง และสื่ออื่นๆ อีกหลายแขนง)
2 ชีวิตพอเพียงของ "เป๊าะเด็ง" กับเรื่องเล่าวันเข้าเฝ้าฯในหลวง
3 อาลัย "วาเด็ง ปูเต๊ะ" พระสหายแห่งสายบุรี