นักวิชาการติงแผนวิทย์ฯ ชาติ ไม่ตอบโจทย์พื้นที่ แนะสร้างนวัตกรรมชุมชน
ระดมความเห็นร่างแผน 10 ปี วทน. นักวิชาการแนะอย่าเอาทฤษฎีไปสอนชาวบ้าน ต้องสร้างนวัตกรรมชุมชนรับมือสังคมสูงอายุ ปั้นนักวิทย์รากหญ้า เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงเกษตร-อุตสฯ-บริการ
เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมนานาชาติกรุงเทพไบเทค บางนา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทน.) จัดประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม(วทน.)เพื่อการพัฒนา “ประเทศไทยก้าวไกล ก้าวกัน ก้าวหน้า” เพื่อระดมความคิดเห็นต่อร่างนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (พ.ศ.25 55-2564) ก่อนนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างดังกล่าว มุ่งสู่นวัตกรรมเขียวเพื่อเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสังคมคุณภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์ ประชากร ภูมิประเทศ ตลอดจนนวัตกรรม ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์คือพัฒนาความเข้มแข็งของสังคม ชุมชน และท้องถิ่น , เพิ่มขีดความสามารถ ความยืดหยุ่น และนวัตกรรมในภาคเกษตร ผลิตและบริการ, เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พัฒนาและเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อในการพัฒนา วทน. ของประเทศ
ศ.นพ.สุทธิชัย จิตะพันธุ์กุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าอีก 10 ปีข้างหน้าไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุและมีโรคเรื้อรังที่ทำให้ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของประเทศสูงขึ้น เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ดังนั้นยุทธศาสตร์ด้านสังคม ชุมชน และท้องถิ่น ในแผน วทน.ฉบับนี้ควรส่งเสริมการเตรียมพร้อมของชุมชนในการรับมือปัญหาดังกล่าว ทั้งในแง่การดูแล การสร้างนวัตกรรมหรือวิธีการจัดการชุมชนให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย
ศ.นพ.วิจารณ์ พาณิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม กล่าวว่า ต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมเรียนรู้คือการทำให้ชาวบ้านเป็นนักสร้างและใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสัมมาอาชีพและชีวิตประจำวัน เสนอว่าชุมชนควรรวมตัวเรียนรู้จากวิถีชีวิตของตน โดยรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งจัดหานักวิชาการมาทำแนะนำและต่อยอดความรู้ที่ชาวบ้านสร้างยกระดับสู่การปฏิบัติ
“วทน.ในวิถีชาวบ้านไม่สามารถแยกส่วนเป็นสาขาได้ เมื่อไรก็ตามที่เอาวิธีคิดแบบนักวิชาการเอาทฤษฎีจากตำราไปพูดกับชาวบ้าน เมื่อนั้นเขาจะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ถ้าจะเอาความรู้นั้นออกมาเพื่อยกระดับต้องใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นี่คือกลไกแท้จริงของสังคม” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
นายวิมล จันทรโรทัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอว่าการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ควรอยู่บนพื้นฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนและยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง เชื่อมโยงภาคการเกษตรกรรมเข้ากับภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีความจำเป็น และต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะโลกร้อนในด้านเกษตร
“ควรทำเรื่องปรับปรุงพันธุ์เพื่อแก้ปัญหาผลผลิต สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อลดค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งนำ วทน. มาบริหารทรัพยากรดินและน้ำ ทำวิจัยช่วยเหลือภาคเกษตร เพราะแนวโน้มของผู้บริโภคกำลังเปลี่ยน คนจะตระหนักถึงสินค้าที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม ความปลอดภัยทางอาหาร และเกษตรอินทรีย์มากขึ้น” นายวิมล กล่าว .