ปิดตำนานนิตยสารดัง ความพ่ายแพ้สื่อสิ่งพิมพ์ ฤาพฤติกรรมการอ่านคนไทย 'ง่อนแง่น'
“สกุลไทย ผมเรียกว่าเป็น นิตยสารสามัญประจำบ้าน มีคุณูปการต่อสังคมไทยใน 2-3 เรื่อง คือสร้างวรรณกรรม สร้างนักเขียน โดยเฉพาะวรรณกรรมในส่วนของ popular fiction นิยายที่คนอ่านเยอะ กลายเป็นละครวิทยุแก้วฟ้า เกศทิพย์ กลายเป็นละครโทรทัศน์ ฉะนั้นเรียกได้ว่า เป็นต้นทางวรรณกรรมไปสู่ภาคบันเทิงอื่น”
หลังจาก ‘นิตยสารชื่อดังในเมืองไทย’ ทยอยปิดตัวอย่างตัวต่อเนื่อง นับดูคร่าวๆเฉพาะปี 2559 ที่ประกาศอำลาแผงไปแล้ว 8 ฉบับ
- มกราคม นิตยสารแนววัยรุ่น 'Candy ' ของค่ายโมโน กรุ๊ป ประกาศปิดตัว
- กุมภาพันธ์ นิตยสารแฟชั่น 'Volume' วางแผนฉบับสุดท้าย
- มิถุนายน 'บางกอก รายสัปดาห์' อำลาแผงฉบับที่ 3,034 เป็นฉบับสุดท้าย
- พฤษภาคม 'Cosmopolitan' นิตยสารสัญชาติอเมริกัน ฉบับภาษาไทย ควงแขน 'อิมเมจ (Image) ' วางขายเป็นเล่มสุดท้าย
- สิงหาคม 'เซเว่นทีน (Seventeen)’ ตีพิมพ์ฉบับสุดท้าย
- ตุลาคม เป็นคิว 'สกุลไทย' หลังยืนหยัดบนแผงมากว่า 60 ปี
- ธันวาคม ส่งท้ายปียังมี 'พลอยแกมเพชร' อีกเล่ม
นิตยสารหลายหัวทยอยๆ ปิดตัว สัญญาณมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้คนในแวดวงน้ำหมึกต้องหันมาฉุกคิด โดยตั้งวงสนทนาถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บนเวทีเสวนาเรื่อง ‘ปรากฏการณ์ความพ่ายแพ้ของสื่อสิ่งพิมพ์? ความท้าทายต่อวัฒนธรรมการอ่านของสังคมไทย’
“นรีภพ สวัสดีรักษ์” บรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย หนึ่งในนิตยสารที่ประกาศ ปิดตัวลง บอกว่า หลังตีพิมพ์และวางแผงฉบับที่ 3,237 เป็นฉบับสุดท้ายสิ้นเดือนตุลาคมนี้ นิตยสารจะปิดตัวลงทันที หลังจากยืนหยัดเคียงคู่นักอ่านมากว่า 60 ปี นับแต่เปิดตัวครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2497
เธอเล่าย้อนถึงอัตลักษณ์ของนิตยสารฉบับนี้ให้ฟังว่า เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ ที่มีจุดยืนชัดเจนคือ ยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื้อหาภายในเล่มเน้นให้สาระบันเทิงสำหรับครอบครัว โดยมีนวนิยายเป็นหลัก และคอลัมน์ปกิณกะต่างๆ ส่วนกลุ่มผู้อ่านนั้นมีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปจนถึง 80 ปี
“ในยุคแรกสกุลไทยมีนวนิยายตีพิมพ์แค่ 8 เรื่องนักเขียนแค่ 8 คนเป็นชายล้วน หลังจากนั้นเราก็เปิดเวทีให้นักเขียนมากขึ้น จนปัจจุบันมีนักเขียนมากกว่า 20 คน นวนิยายจาก 8 เรื่อง เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 15 เรื่อง เราเป็นแหล่งผลิตนักเขียนหลากหลายช่วงอายุ” เธอบอกอย่างนั้น
ล่าสุดเขาประกาศปิดตำนานนิตยสารสกุลไทยไปพร้อมกับการเสด็จสู่สวรรคาลัย ในฐานะคนทำหนังสือ คนรักหนังสือ ผูกพันมาตั้งแต่ยังเด็กจนปัจจุบันอายุ 60ปี เธอยอมรับว่า เป็นธรรมดาที่ต้องรู้สึกเสียใจ เช่นเดียวกันแฟนนิตยสาร บางคนโทรศัพท์ เขียนจดหมายเข้ามาให้กำลังใจ
“สมาชิกบางรายเสนอให้ขึ้นราคา เขายินดีจ่าย แต่เอาจริงๆ แล้ว นิตยสารสกุลไทย ได้รับผลกระทบตั้งแต่ยุคต้มยำกุ้ง ปี 2540 ยอดตีพิมพ์จาก 200,000 เล่มต่อสัปดาห์ลดเหลือแค่ 80,000 เล่มต่อสัปดาห์ โฆษณาลดลงเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็มองปัญหาจุดนี้ ทำให้สกุลไทยปรับขึ้นราคาขายจาก 40 บาทเพิ่มเป็น 55 บาท”
และในช่วง 4-5 ปีหลัง สกุลไทยก็มีการพูดถึงเรื่องนี้กันอีกว่า จะขึ้นราคาหนังสือหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารเห็นตรงกันว่า ไม่อยากผลักภาระไปให้ผู้อ่าน เราจึงเลือกใช้วิธีปรับการทำงาน เช่น ลดหน้ากระดาษ คอลัมน์ต่างๆ ก็ใช้วิธีสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละเดือน
ขณะเดียวกันเมื่อสื่อยุคใหม่เข้ามาแทนที่ นิตยสารก็ยิ่งต้องทำงานให้เข้มข้น สกุลไทยก็มีการปรับเนื้อหาให้เข้ากับสื่อยุคใหม่คนยุคใหม่ด้วย เราปรับแบบนี้มาตลอด แต่สุดท้ายก็แบกภาระต่อไปอีกไม่ไหว
'นิตยสาร' เครื่องมือบันทึกสังคม
“ดิฉันมองว่า สังคมยุคนี้ไม่เห็นคุณค่าของนิตยสาร ซึ่งเป็นเอกสารอย่างหนึ่งที่บันทึกสังคมของไทย บันทึกสังคมในยุคนั้นๆ ดิฉันไม่ทราบว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญตรงนี้หรือไม่ เพราะนอกจากนิยาย บทความ สารคดี เรายังกระจายข่าวสารให้กับเรื่องราวต่างๆ เนื้อหาของเรามีทั้งกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงศึกษา ฯ ในหนังสือเล่มเดียว” บก.นรีภพ บอก พร้อมกับย้ำว่า เสียงสะท้อนของเธอนั้น ไม่ได้หวังให้รัฐบาลอุ้มชู แต่อยากให้เห็นความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะวัฒนธรรมหนังสือ วัฒนธรรมการอ่าน เป็น “รากแก้ว” ของสังคม
และหากจะสร้างคุณภาพของคนในสังคม ก็ต้องสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้มากขึ้น ตรงนี้เป็นโจทย์ของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี แม้ในยุคที่ตัวอักษรไหลทะลักผ่านโลกดิจิทัล นิตยสารสกุลไทยต้องปิดตัว แต่ในทัศนะของ บก.หญิงรายนี้ ยังมั่นใจว่า สื่อสิ่งพิมพ์กระดาษยังอยู่ได้
“เราไม่ถึงกับพ่ายแพ้ แต่จะคงอยู่อย่างไรเป็นเรื่องที่เราต้องปรึกษาหารือกันอีกที ทว่าในฐานะคนทำหนังสือก็ต้องเดินหน้าต่อไป เราถอยหลังไม่ได้”
'ปิดตัว' เป็นเรื่องปกติ
ขณะที่ “จรัญ หอมเทียนทอง” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือกระดาษมานาน เขามองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับสกุลไทย เป็นเรื่องปกติของการทำนิตยสาร ก่อนหน้านี้ นิตยสารฟาร์ อีสเทิร์น อีโคโนมิค รีวิว ซึ่งเป็นนิตยสารที่ทรงอิทธิพลฉบับหนึ่งของโลกก็ปิดตัวไป ครั้งหนึ่งนิตยสารเพลย์บอย (PLAYBOY) ก็แทบจะเลิก เพราะคนที่ดูภาพโป๊ไม่สนใจ หาโหลดได้บนเว็บไซต์ แต่ปัจจุบันนิตยสารเพลย์บอยก็ยังอยู่ เพราะปรับเปลี่ยนเพิ่มเนื้อหามากขึ้น
“ส่วนนิตยสารในบ้านเรา ทุกเล่มอยู่ได้ด้วยโฆษณา เมื่อโฆษณาลดลง ก่อนนิตยสารจะยุบจะเริ่มเห็นสัญญาณว่า ความหนาของเล่มจะค่อยๆ บางลงเรื่อยๆ ทุกวัน หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน หน้าสุดท้ายที่จองโฆษณากันข้ามปี ปัจจุบันกลายเป็นโฆษณาของตัวเอง ทุกคนต้องดิ้นรน เพราะเดี๋ยวนี้เรามีทีวิดิจิทัล 20 กว่าช่อง แต่งบโฆษณามีก้อนเดียว ก็ต้องแบ่งกัน”
เขายังบอกอีกว่า การสิ้นสุดของนิตยสารสกุลไทย หรือพลอยแกมเพชรภายในปีนี้ ไม่ใช่การสิ้นสุดของการอ่าน หรือหนังสือกระดาษ ทุกอย่างยังอยู่ ทว่าคงเปลี่ยนรูปแบบไป นิตยสารบางเล่มเปลี่ยนไปเป็นนิตยสารแจกฟรี (Free Copy), บางเล่ม เช่น มาดาม ฟิกาโร เปลี่ยนเป็นมาดาม ฟิกาโร อิน-ไฟลท์ อยู่บนสายการบินแอร์เอเชีย, บางเล่มเอาหัวมาต่อยอดธุรกิจ เช่น แอลแฟชั่นวีค และบางเล่มปรับไปเป็นนิตยสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Magazine) คือทุกคนต้องปรับตัว
“บางคนที่ฟูมฟาย อื้อฮือ...สิ้นสกุลไทยแล้ว ทำไมประเทศนี้เป็นแบบนี้ ผมก็อยากจะถามเขาว่า ก่อนสกุลไทยจะเลิก คุณได้อ่านของเขารึเปล่า?...คุณก็ไม่ได้อ่าน แล้ววันหนึ่งคุณก็มาพูดเหมือนกับว่า เป็นการล่มสลายของโลกหนังสือ คือเราต้องเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ เพียงแต่นิตยสารต้องค่อยๆ ปรับตัวไป”
ส่วนแนวโน้มนิตยสารที่จะอยู่ได้นั้น เขาเห็นว่า ต้องเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) มากขึ้น เช่น นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก หรือนิตยสารกีฬาแจกฟรี และที่สำคัญการผลิตหนังสือเล่ม ไม่ใช่สินค้าที่บอกว่า เอาสามคูณสี่แล้วเป็นสิบสอง หกคูณสี่แล้วเป็นยี่สิบสี่ แต่จิตวิญญาณของบรรณาธิการ คนทำงานสำคัญที่สุด
“ต่อจากนี้เราคงเห็นการปิดตัวของเพิ่มขึ้น แต่โลกคงไม่ล้มสลาย มันยังไม่สิ้นสุดของธุรกิจกระดาษ กระดาษ ยังอยู่ ยังมีเสน่ห์ จับต้องได้ มีกลิ่น เปิดหนังสือมากระดาษบาดมือ นั่นคือ ความทรงจำที่ดีมาก ฉะนั้น ผมจึงมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับสกุลไทย พลอยแก้มเพชร เป็นปรากฏการณ์ ไม่ใช่ธรรมชาติ วันหนึ่งเขาอาจจะกลับมาและขายแพงขึ้นก็เป็นได้ กลับไปกลับมาเป็นวงจรของสินค้า” เขาสรุป
นิยาม ‘สกุลไทย’ นิตยสารสามัญประจำบ้าน
ด้านรศ.ดร. ธัญญา สังขพันธานนท์ เจ้าของนามปากกา 'ไพฑูรย์ ธัญญา' นักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี 2530 มองกรณีที่เกิดขึ้นกับสกุลไทย และหลายๆ ฉบับที่ปิดตัวลงก่อนหน้านี้ กลายเป็นประเด็นดราม่ามากในโลกโซเชียล และแม้จะฟังได้ว่าเรื่องนี้เป็นไปตามวัฎจักร แต่เขาเห็นว่า มีหลายเรื่องที่ต้องทบทวน
“สกุลไทย ผมเรียกว่าเป็น นิตยสารสามัญประจำบ้าน และสำหรับผมคิดว่า สกุลไทยมีคุณูปการต่อสังคมไทยใน 2-3 เรื่อง คือสร้างวรรณกรรม สร้างนักเขียน โดยเฉพาะวรรณกรรมในส่วนของ popular fiction นิยายที่คนอ่านเยอะ กลายเป็นละครวิทยุแก้วฟ้า เกศทิพย์ กลายเป็นละครโทรทัศน์ ฉะนั้นเรียกได้ว่า เป็นต้นทางวรรณกรรมไปสู่ภาคบันเทิงอื่น”
อีกเรื่องคือ การล้มของสกุลไทยในยุคดิจิทัล ยุคที่หนังสือถูกทำให้เป็นอย่างอื่นมากกว่ากระดาษ ที่เราเรียกว่า การอ่านแบบผ่านจอ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟนเกิดขึ้นเรื่อยๆ และมองข้ามไม่ได้ เพราะนี่คือกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ในแง่การอ่านของประวัติศาสตร์มนุษยชาติอีกยุคหนึ่ง อีกคลื่นลูกหนึ่งจากกระดาษมาสู่ยุคดิจิทัล เป็นสังคมที่เคลื่อนตัวเข้าสู่การกลายเป็นดิจิทัล (Digitalization)
อีกมิติที่เขามองคือ การอ่าน ซึ่งแบ่งเป็นพวกอนุรักษ์นิยม และหัวก้าวหน้า หรือเด็กรุ่นใหม่ ที่มีความคิดพฤติกรรมไม่เหมือนกัน ไม่ใช่พวกติดหนังสือ เราจึงมีความหวาดวิตกว่า การอ่านหนังสือในจอ จะทำให้คนไม่อ่านหนังสือ
“ผมว่าตรงนี้เราต้องมองให้ดี”
พร้อมกันนี้ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ได้ยกตัวอย่างในต่างประเทศ ที่สหรัฐอเมริกาจากการสำรวจเมื่อปี 2013 พบว่า การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (electronic book: e-book) อยู่ที่ 28% เพิ่มขึ้นจากปี 2012 ที่ 23% และปี 2011 ที่ 16% ตามลำดับ ฉะนั้นจะเห็นว่า มีแนวโน้มที่สูงขึ้น
“ในอังกฤษสำรวจเด็กรุ่นใหม่ อายุ 8-16 ปี เมื่อปี 2012 พบว่า 97% อ่านจากดิจิทัลมากกว่ากระดาษ ส่วนแรงจูงใจที่ชอบอ่านจากอีบุ๊กมากกว่ากระดาษก็เพราะสนุก สามารถคลิกเชื่อมโยงไปอ่านในส่วนอื่นๆ ที่มีตัวบทหลากหลายรูปแบบ ท่องไปในอินเทอร์เน็ตได้ไม่รู้จบ ตรงนี้เองสร้างความตื่นเต้น สร้างความเหนือชั้นในการอ่าน ไม่ใช่เป็นการอ่านระดับเดียว แบนๆ เหมือนอ่านหนังสือ”
นี่คือ ปรากฏการณ์สากล ที่เขาบอกว่า การอ่านก้าวไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว
“ผมขออุปมาแบบนี้แล้วกัน จากรถไฟฉึกฉักกลายเป็นรถไฟความเร็วสูง ไม่ว่าจะเปลี่ยนขบวนรถไฟเป็นความเร็วหรือสูงต่ำ คนก็ใช้รถไฟอยู่”
ส่วนปัญหาเรื่องการอ่านของคนไทยนั้น นักเขียนรางวัลซีไรต์รายนี้ บอกชัดว่า ตกอยู่ในสถานการณ์น่าห่วง เรามีมหานครแห่งการอ่าน ทศวรรษแห่งการอ่าน เรามีนโยบายที่ทำไว้หรูหรามาก กอปรกับมีงบประมาณในด้านนี้ แต่เรากลับมีความวิตกว่า เด็กไม่อ่านหนังสือ
“ตรงนี้ผมว่ามีความย้อนแย้งอยู่มาก”
การอ่าน 'ง่อนแง่น'
“ผมพฤติกรรมการอ่านของคนไทยมันง่อนแง่นมาก วัฒนธรรมการอ่านบ้านเราเป็นเสาหลักปักขี้เลน วูบไปวูบมา มีคนอ่านจริงๆ อยู่แค่คนกระจุกเดียว เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ เอาอย่างนี้ งานหนังสือที่กรุงเทพมีคนเดินเยอะแยะ แต่พอไปต่างจังหวัดจัดงานจัดเสวนากันในห้างสรรพสินค้า ยังไม่มีคนฟัง”
นักเขียนรางวัลซีไรต์ ยังวิเคราะห์ต่อถึงสถานการณ์ แนวโน้มการอ่านในปัจจุบันด้วยว่า คนเราไม่อ่านอะไรที่เป็นสัพเพเหระ มั่วแต่เสียเวลาวันละหลายชั่วโมงในโซเชียล แชท เฟซบุ๊ก ไลน์ ดูว่า เช้านี้มีข่าวมีดราม่าเรื่องอะไร เวลาในการอ่านจึงน้อยลง เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้น่าเป็นห่วง
“ผมอยากตั้งคำถามว่า รัฐบาลทำอะไร? กรณีชาวนาชาวไร่ข้าวขายไม่ได้ มันมีคำว่าเยียวยา ทั้งที่บางครั้งน้ำยังไม่ทันท่วมก็ขนไปแจกแล้ว เยียวยาโดยไม่มีเหตุผลก็มี ก็ไม่ว่ากัน ถือว่าเป็นการแบ่งปัน แต่ในกรณีคนทำหนังสือ เปรียบเป็นชาวนาที่หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความคิด ทำไมคุณไม่มองเขาเป็นชาวนาที่ประสบภัยเหมือนกัน ทำไมไม่เยียวยา” ไพฑูรย์ ธัญญา ฝากทิ้งท้าย