‘ประกาศอุทยานฯไล่ที่ทำกิน’ มรสุมที่ร้ายกว่าภัยพิบัติของชาวนบพิตำ
ป้ายประกาศ ทส 0915.503/1142 โดยอุทยานแห่งชาติเขานัน ซึ่งพื้นที่ครอบคลุม อ.นบพิตำ อ.ท่าศาลา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกระทำผิด พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ให้รื้อถอนทำลายสวนยางพาราแหล่งทำมาหากินชาวบ้านเขาโพธิ์ หมู่ 9 ต.นบพิตำ ภายใน 26 มี.ค.55
.................
สร้างความฉงนใจและรู้สึกสูญเสียให้กับชาวบ้านที่นี่ไม่น้อยไปกว่าเมื่อครั้งเกิดอุทกภัยทางธรรมชาติที่ผ่านมา แต่ภัยทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ชาวบ้านที่นี่ใช้ชีวิตและเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้บนความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าเมื่อระยะเวลาผ่านไป สภาพความเสียหายต่างๆจะยังสามารถฟื้นฟูเข้าสู่สภาพเดิมได้ แต่ทันทีที่มีการติดประกาศดังกล่าวจากอุทยานแห่งชาติเขานัน ให้ทำลายสวนยางพาราอันเป็นความหวังและหัวใจสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิต คนที่นี่บอกว่าเหมือนเป็นการฆ่ากันให้ตายทั้งเป็น
ย้อนรอยที่มาของปัญหา
อุทยานแห่งชาติเขานัน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อ.นบพิตำ อ.ท่าศาลา และอ.สิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานครศรีธรรมราช ตามลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ ที่ซับซ้อน มีเนื้อที่ประมาณ 256,121 ไร่ หรือ 409.79 ตารางกิโลเมตร
ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1627/2532 ให้ นายลือสัก สักพันธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากรุงชิง ป่าเขานัน และป่าคลองเผียน ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่อ.ท่าศาลา และอ.สิชล และเนื่องจากอุทยานแห่งชาติเขาหลวง และอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น มีพื้นที่ติดต่อกันเป็นผืนเดียว ประมาณ 388,232 ไร่ หรือ 601 ตารางกิโลเมตร จึงได้มีการสำรวจเพื่อประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแต่ก็ไม่ได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแต่อย่างใด เนื่องจากมีสวนยางพาราและสวนผลไม้ของชาวบ้านอยู่ในพื้นบริเวณดังกล่าวด้วย
จากนั้นทางอุทยานแห่งชาติเขานันได้จัดทำรายการสำรวจเพิ่มเติม และกำหนดบริเวณ พื้นที่พร้อมทั้งจัดทำแผนที่ แสดงแนวเขตที่จะประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือของกองอุทยานแห่งชาติที่ กษ 0713(ขน)/30 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 และให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขานัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามหนังสือของสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ กษ 0712.3/2822 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2537
และตามมติคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2535 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 ตามระเบียบวาระที่ 4 เห็นชอบให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขานันในท้องที่ ต.กรุงชิง ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ ต.ตลิ่งชัน อ.ท่าศาลา และต.เขาน้อย ต.ฉลอง ต.เทพราช ต.เปลี่ยน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 อุทยานแห่งชาติเขานันได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 113 ของประเทศไทย โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 96 ก ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2552
แผ่นดินปู่ แผ่นดินย่า เขาอยู่มาก่อน “มหาสงครามเอเชียบูรพา”
นายโพธิ์ เพชรพุทธ ในวัย 80 ปี เล่าถึงเมื่อครั้งตนและครอบครัวขึ้นมาตั้งทำมาหากินที่บ้านเขาโพธิ์ หมู่ 9 ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ว่าได้ขึ้นมาอาศัยทำสวนยางและสวนผลไม้ตามคำชักชวนของ เกลอพ่อ (เพื่อนสนิทของพ่อ) ในปี พ.ศ.2486 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามมหาเอเชียบุรพา (25 ม.ค. พ.ศ.2485 ไทยประกาศเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา)แต่ขณะที่ตนมาตั้งรกรากทำสวนยางพารานั้น เกลอของพ่อได้ทำสวนยางมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว
“เดิมผมอยู่ที่ อ.พรหมคีรี ตอนปี พ.ศ.2484 มีเริ่มมีสงครามเกิด มีคนญี่ปุ่นมาที่เมืองนคร ช่วงนั้นบ้านเมืองวุ่นวาย เกลอพ่อชวนขึ้นมาทำสวนยางด้วยกันที่นี่ ก็เลยตัดสินใจย้ายครัวมาจาก อ.พรหมคีรี สมัยนั้นยังไม่มีการเรียกชื่อหมู่บ้าน จนกระทั่งอยู่มานานๆเข้า เขาก็เรียกบ้านนี้ว่าบ้านเขาโพธิ์ตามชื่อผม เพราะอยู่ที่นี่มานาน นับไปนับมาก็เกือบ 70 ปีแล้ว”นายโพธิ์กล่าว
ประเทศไทยมีการออกประกาศพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติขึ้น ครั้งแรกในปี พ.ศ.2504 ในขณะที่ชาวบ้านเขาโพธิ์อาศัยอยู่ที่นี่มาก่อนแล้ว 18 ปี
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 ได้มีการดำเนินคดีต่อชาวบ้าน และทางอุทยานแห่งชาติได้ออกหนังสือในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2555 เพื่อให้ชาวบ้านโค่นทำลายสวนยางพาราในพื้นที่ของตนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 มีนาคม 2555
“คนที่นี่ถูกแจ้งความบุกรุกป่าอุทยาน ทั้งที่อุทยานประกาศมาประกาศทับที่ทำมาหากินของเรา แล้วยังมาออกหนังสือสั่งให้เราโค่นต้นยางและทำลายล้างสวนผลไม้ที่ปลูกมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าของเราอีก” นายชัยโย เพชรพุทธ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านเขาโพธิ์ ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราชกล่าว
เคราะห์กรรมที่นบพิตำวันนี้ ไม่ได้มีแต่เรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ
นายชัยโย บอกเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกบ้านของเขาในขณะนี้ว่า “ตอนนี้ลูกบ้านผม 50 กว่าครอบครัว ได้รับผลกระทบจากอุทยาน คนที่นี่เพิ่งประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติยังไม่ทันฟื้นฟูเข้ารูปเข้ารอย ก็มาเจอภัยจากอุทยานซ้ำเข้าอีกรอบ นี่จำนวนผู้เดือดร้อนยังไม่รวมลูกบ้านที่ถูกโค่นสวนผลไม้ โค่นสวนยางไปก่อนล่วงหน้าอีก 10 ราย ผมโทรศัพท์ไปหาทางหัวหน้าอุทยาน เขาก็บอกว่ายังไม่ทราบเรื่อง และจะยังไม่ดำเนินการใดๆ แต่ก็มีประกาศจากอุทยานมาติดเอาไว้บนที่ดินของชาวบ้านแล้ว”
“ตอนนี้ที่ดินของชาวบ้าน 50 กว่าครัวเรือนมีการออกประกาศจากทางอุทยาน ชาวบ้านทุกคนจะได้รับผลกระทบแน่นอน หากทางอุทยานมาโค่นล้มต้นยางและสวนผลไม้ที่เป็น แหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน ทั้งที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศอุทยานหลายอายุคนแล้ว ผมคิดว่าต้องหาทางออกเรื่องนี้ให้ชัด เพราะมันกระทบกับชาวบ้านโดยตรง”นายชัยโยกล่าว
นายประยุทธ วรรณพรหม ผู้ประสานงานเครือข่ายที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้โครงการคิดดี ทำดี ที่เมืองนคร กล่าวถึง ปัญหาการประกาศเขตทับที่ทำกินของชาวบ้านไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม และสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก
“อย่างกรณีที่เกิดขึ้น ต้องยุติการโค่นและทำลายสวนยางและสวนผลไม้ของชาวบ้านก่อน ซึ่งผมคิดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชจะต้องเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่อ.นบพิตำ และควรมีคณะกรรมการ อันประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนขึ้นมาตรวจสอบข้อมูล นอกจากนี้ ผมเสนอให้ทำแผนที่ชุมชนประกอบกับการเดินตรวจจับวัดพิกัดด้วยเครื่อง GPRS.เพื่อระบุพื้นที่อุทยานและพื้นที่ของชาวบ้านที่ถูกต้อง”นายประยุทธกล่าว
นายประยุทธ ยังระบุด้วยว่า โดยทั่วไปชาวบ้านทางภาคใต้ซึ่งประกอบอาชีพทำสวนยางพารามักจะปลูกผลไม้อื่นๆแซมระหว่างต้นยางพาราไปด้วย คนในพื้นที่จึงเรียกว่า “ป่ายาง” มากกว่า “สวนยาง” เพราะป่ายางของชาวบ้านมีทุกอย่างที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตที่อิงอาศัยกับธรรมชาติ ตามวิถีดั้งเดิม
“หน่วยงานรัฐมักจะมองอย่างมีอคติว่าชาวบ้านทำลายป่า ทั้งที่ชาวบ้านเองนั่นแหละเป็นผู้ดูแลรักษาป่าตามวิถีชีวิตที่ต้องอาศัยทำมาหากินร่วมกับธรรมชาติ ผมว่าการที่รัฐให้สัมปทานทำเหมืองแร่ตามเขตต้นน้ำบนเนื้อที่กว่าพันไร่ น่าจะเป็นการเรื่องทำลายป่า ทำลายธรรมชาติมากกว่ากลุ่มชาวบ้านที่อาศัยทำมาหากินร่วมกับธรรมชาติมาตลอดทั้งชีวิตของเขา” นายประยุทธกล่าว
…………………
วันนี้ที่เทือกเขานครศรีธรรมราช ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุต่างๆทั้ง ดีบุก แบไรต์ วุลแฟรม จนมีการให้สัมปทานเอกชนทำเหมืองแร่กว่า 1,000 ไร่ ขณะที่ชาวบ้านอาศัยทำสวนผลไม้ สวนยางพาราสืบทอดกันมาเกือบ 60 ปี ถูกดำเนินคดีบุกรุกที่ดินของตนเอง พวกเขาคิดว่าเป็นมหัตภัยยิ่งกว่าพิบัติภัยธรรมชาติที่ผ่านมา .