ปรากฏการณ์ ‘ล่าแม่มด’ ในสังคมไทย ..บรรทัดสุดท้าย 'ชาติ' เสียหายมากที่สุด
“…พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่สบายใจและขอให้คนไทยตระหนักเรื่องดังกล่าวและฝากไปถึงคนไทยว่า แม้จะรู้สึกอย่างไรก็ตามขอให้เก็บไว้ในใจ อย่าแสดงออกโดยไปขัดต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในประเทศ เพราะถือเป็นการทำร้ายหัวใจกันท้ายที่สุดสิ่งที่จะได้รับกลับมาคือการแสดงความไม่พอใจและการทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ การคิดต่างจากคนอื่นไม่เป็นไรแต่อย่าแสดงออก เพราะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย…”
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรวดเร็วบนสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย
กรณีผู้คนบนรถเมล์สายหนึ่งถ่ายคลิปวีดีโอเผยแพร่บนเฟซบุ๊ก ตะโกนด่าถ้อยคำหยาบคาย กล่าวอ้างว่ามี ‘ป้า’ รายหนึ่ง หมิ่นสถาบันฯ จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงที่มีคนเข้ามาตบตี ‘ป้า’ รายดังกล่าว จนกระทั่งทหารที่อยู่บริเวณนั้นต้องเข้ามาคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายกว่านี้ (ต่อมามีผู้ชี้แจงว่า ป้ารายนี้ ป่วยทางจิต และเรียกร้องให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงออกมาขอโทษแสดงความรับผิดชอบ)
หลังเหตุการณ์นี้ ผ่านพ้นไป เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังตามมาว่า ปฏิบัติการ 'ล่าแม่มด' กำลัง เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้เงียบหายไปนาน ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อมูลความเห็นเกี่ยวกับการ 'ล่าแม่มด' มานำเสนอดังนี้
สำหรับการ ‘ล่าแม่มด’ นั้น มีขึ้นครั้งแรกในช่วง ‘ยุคกลาง’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ยุคมืด’ ของยุโรป และอเมริกาเหนือ ช่วงศตวรรษที่ 14-17 โดยส่วนใหญ่ผู้คนที่ถูกตราหน้าว่าเป็น ‘แม่มด’ คือผู้คนที่ถูกกล่าวหาว่า ไม่เข้ารีตศาสนา หรือจ้องล้มล้างศาสนา หรือถูกกล่าวหาว่าทำผิดศีลธรรม จนมีการประหารชีวิตผู้คน โดยเฉพาะการ ‘เผาทั้งเป็น’ ไปจำนวนหลายแสนคน (ข้อมูลบางแห่งระบุถึงล้านคน) นับว่าเป็นช่วงที่ ‘มืดบอด’ ทางสติปัญญาของมนุษย์อย่างแท้จริง
กระทั่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 คำว่า ‘ล่าแม่มด’ เป็นคำที่ถูกใช้ในทางการเมือง โดยเป็นการให้ร้ายระหว่างฝ่ายหนึ่งสู่อีกฝ่ายหนึ่ง โดยการชี้นำสังคมให้เห็นถึงความเลวร้ายของอีกฝ่ายจนทนไม่ไหว มีการปลุกปั่นระดมผู้คนออกมาไล่ล่าคนที่คิดต่าง
ในสังคมไทยนั้น นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ถึงปัจจุบัน พบปรากฏการณ์ทำนอง ‘ล่าแม่มด’ ขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 กรณี ได้แก่
กรณีนับตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไล่มาถึงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ทำการ ‘ปลุกผี’ ลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเล่นงานผู้ที่มีความคิดแตกต่างทางการเมือง มีการกวาดจับกุมนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชน กรรมกร ชาวนา หรือผู้ใช้แรงงานอื่น ๆ มีการปิดหนังสือพิมพ์ไปเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ว่าพวกเขาเป็นคอมมิวนิสต์ กระทั่งอีกหลายปีต่อมาต้องปล่อยตัวเพราะไม่มีความผิด
และกรณีล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 โดยกล่าวอ้างว่า พวกนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่เป็นพวกฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และมีล้มล้างสถาบันฯ กระทั่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงโดยตำรวจ-ชาวบ้าน ฆ่านักศึกษาตายไปกว่าครึ่งร้อย และสูญหายอีกหลายพันคน
นี่ยังไม่นับกรณียิบย่อยอื่น ๆ ทั้งที่เป็นข่าว และไม่เป็นข่าวอีกเป็นจำนวนมาก !
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของประชาชนชาวไทย ปรากฏการณ์ที่มีประชาชนกลุ่มหนึ่ง ไปออกไล่ล่าหาตัว 'บุคคล' ที่มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดมาลงโทษ โดยมีตัวแปรสำคัญมาจากเรื่องความจงรักภักดี คล้ายกับการ 'ไล่ล่าแม่มด' จึงไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นในสังคมอีกแล้ว เราควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ใช้อำนาจทางกฎหมาย เข้าไปดำเนินการจะดีกว่า
ดังนั้น ในกรณีที่ประชาชน พบว่ามีแสดงความเห็นที่หมิ่นต่อสถาบันมหากษัตริย์ สิ่งที่ควรดำเนินการคือ การบันทึกภาพเป็นหลักฐาน และส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
“การล่าแม่มดความจริงไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นอีก”
เป็นคำยืนยันของ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย และนักวิชาการสื่อชื่อดัง พร้อมอธิบายว่า กระแสในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการ ‘ล่าแม่มด’ ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ใช้อารมณ์ชักนำไปสู่ความรุนแรง และแนวทางที่เริ่มต่อต้านการใช้ความรุนแรงในการไล่ล่าคนที่คิดต่าง
ดังนั้นสิ่งที่สังคมควรมีในขณะนี้คือความภักดีที่ขึ้นอยู่ในหลักของเหตุและผล ยอมรับในความคิดที่หลากหลายให้ได้ ซึ่งตรงนี้หากมองในแง่ดีคือเป็นการปะทะกันระหว่างสองขั้วความคิด ซึ่งต่อไปอาจจะตกผลึกและทำให้สังคมได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น
ส่วนการโพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ดร.มานะ กล่าวว่า ก่อนจะโพสต์หรือทำอะไรควรคิดให้รอบคอบ รอบด้าน และเสนอข้อมูลตามข้อเท็จจริง ใช้เหตุและผล หากเจอข้อมูลอะไรใหม่ ๆ อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ หรือด่วนตัดสินใจที่จะชี้นำไปสู่ความรุนแรง
“ตอนนี้เป็นภาวะอ่อนไหว ทั้งด้านอารมณ์ และเหตุผล ดังนั้นข้อมูล ข้อเท็จจริงต่าง ๆ จะต้องตรวจสอบข้อรอบคอบเสียก่อนที่จะดำเนินการทำอะไร และการปะทะกันระหว่างของ 2 ขั้วความคิดตอนนี้ สักวันหนึ่งจะเป็นบทเรียนให้กับสังคมที่จะต้องสร้างการเรียนรู้และเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน”
(อ่านประกอบ : ‘ล่าแม่มด’ไม่ควรมีอีก! นักวิชาการสื่อเตือนโลกออนไลน์ใช้เหตุผลเหนืออารมณ์)
ส่วนท่าทีของฝ่ายรัฐบาลนั้น เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานอ้างคำให้สัมภาษณ์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ที่ออกมาระบุถึงกรณีมีบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันฯในช่วงนี้ตอนหนึ่งว่า เคยพูดแล้วว่าไม่มีอะไรดีกว่ามาตรการทางสังคม เช่นเดียวกับคนที่ไปเคลื่อนไหวในต่างประเทศ เราก็มีประชาชนที่เคารพรักสถาบันฯ ดูอยู่ โดยเราทำหนังสือส่งไปตามประเทศต่าง ๆ ชี้แจงโดยอาศัยความเห็นใจในฐานะมิตรประเทศ ใช้ความรู้สึกในประเทศของกันและกัน เป็นความรู้สึกของคนไทยเพราะเราไม่เคยละเมิดกฎหมายเขา ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกัน ส่วนโอกาสที่เขาจะส่งตัวให้เราหรือไม่นั้นไม่ง่าย เพราะเราต้องเคารพอำนาจอธิปไตยเขาไปพร้อม ๆ กับทำหน้าที่เราให้ดีที่สุดด้วย
“ขอให้ประชาชนที่พบเห็นการทำความผิดอย่าเผยแพร่ต่อเพราะจะผิดกฎหมายด้วย ขอให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่เขามีกฎหมายดูแลได้ทำงานดีกว่า” พล.อ.ไพบูลย์ ระบุ (อ่านประกอบ : http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9590000104521)
ส่วน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกโรงเตือนกับประชาชนผ่าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถึงกรณีนี้ว่า เวลานี้คนไทยทุกคนอยู่ในช่วงของการโศกเศร้าและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่มีบางคนที่ทำร้ายหัวใจคนไทยจึงทำให้เกิดความไม่พอใจ ภาพของพฤติกรรมที่ทำร้ายหัวใจของคนไทยถือว่าไม่เหมาะสมแล้วแต่คนโดยรอบที่เห็นสิ่งต่าง ๆ แล้วรุมทำร้ายยิ่งเป็นภาพที่ไม่งดงามยิ่งกว่าดูแล้วเศร้าใจ
“ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่สบายใจและขอให้คนไทยตระหนักเรื่องดังกล่าวและฝากไปถึงคนไทยว่า แม้จะรู้สึกอย่างไรก็ตามขอให้เก็บไว้ในใจ อย่าแสดงออกโดยไปขัดต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในประเทศ เพราะถือเป็นการทำร้ายหัวใจกันท้ายที่สุดสิ่งที่จะได้รับกลับมาคือการแสดงความไม่พอใจและการทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ การคิดต่างจากคนอื่นไม่เป็นไรแต่อย่าแสดงออก เพราะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย”
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า "ขอเตือนประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อสถาบันขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร หรือฝ่ายความมั่นคงให้ดำเนินการตามกฎหมาย จะดูเป็นประเทศที่มีอารยะ และนายกฯไม่ต้องการให้ภาพการทำร้ายกันของคนไทย เป็นสิ่งที่ทำให้ต่างชาติมองเราในแง่ที่ไม่ดี"
"นอกจากนั้นฝากถึงประชาชนทั่วไปอย่าส่งต่อพฤติกรรมหรือข้อความ เพราะจะยิ่งทำให้เรื่องขยายวงกว้างออกไป และขอร้องทุกฝ่ายอย่าสร้างความขัดแย้งในเวลานี้ อย่าพยายามดึงพระองค์ท่านเข้ามาในความขัดแย้งเป็นอันขาด เราจะต้องรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ประเทศไทยต้องการความมั่นคง พลังศรัทธาและความรักของคนไทยเพื่อเดินหน้าต่อไป"
ทั้งหมดนี่ คือ มุมมองจาก 'นักวิชาการ' และตัวแทน 'รัฐบาล' ที่มีความห่วงใยต่อคนไทยทุกคน และไม่ต้องการที่จะเห็นความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว
และสิ่งสำคัญที่คนไทยทุกคนต้องตระหนักในขณะนี้ คือ ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น
มันไม่ใช่แค่ 'คนไล่ล่า' กับ 'คนถูกล่า' ที่เป็นฝ่ายเสียหายเท่านั้น
เพราะบทสรุปบรรทัดสุดท้ายภาพลักษณ์ของ 'ประเทศชาติ' จากกรณีนี้ในสายตาชาวโลก 'เสียหายย่อยยับ' มากกว่าใครทั้งหมด
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www2.77jowo.com และ f2.jarm.com