“AEC:ประชาคมอาเซียน” วิกฤติหรือโอกาสเกษตรกรไทย
การรวมตัวกันเพื่อต่อรองทางการค้าของกลุ่มประเทศอาเซียน ใครได้ใครเสีย เกษตรกรไทยจะได้ประโยชน์อะไร วิกฤติหรือโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ติดตามได้จากรายงาน...
การเกิดขึ้นของ 10 ประเทศกลุ่มอาเซียนหรือAEC ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่กระนั้นก็ยังเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม ประชาชนหรือเกษตรกรยังคงกังขาเคลือบแคลง นอกจากธุรกิจขนาดใหญ่ พวกเขาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้อะไร “ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” รวบรวมความคิดเห็นจากเวทีเสวนา “วิกฤติโอกาสของภาคเกษตรภายใต้AEC”ที่จัดโดยสำนักสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มานำเสนอ
ประชาคมอาเซียนการผนึกกำลังสู้ยักษ์ใหญ่ของโลก
ดร.สุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง อดีตผู้แทนการค้าไทยและที่ปรึกษาคณะกรรมการAEC Prompt สภาหอการค้าไทย มองภาพรวมการเกิดขึ้นประชาคมอาเซียนหรือAECเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประทศสมาชิกอาเซียนมีทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียตนาม โดยตั้งเป้าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี2558 เพื่อสร้างให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน และมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีใน 5 สาขาประกอบด้วย สาขาสินค้า การบริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุน ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง จากการค้าเสรีในประเทศอาเซียนด้วยกัน
“ประเทศจีนเปิดเสรีปีค.ศ.2000 ประเทศอินเดียก็เริ่มเปิดไล่ๆกัน อินเดียแม้ว่าจะล้มลุกคุกคลานแต่เขาก็เปิดเสรีเยอะมาก อาเซียนจึงเป็นกลุ่มประเทศที่เล็กกว่าอินเดียและจีนเยอะ เหมือนการต่อสู้กันของมวยคนละรุ่น เพราะฉะนั้นเราเลยต่อรวมตัวกัน มันจำเป็นที่ต้องมีสิทธิมีเสียงประเทศกลุ่มต่างๆในกลไกตลาดโลก นี่คือหัวใจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ”
อดีตผู้แทนการค้าไทยฯ กล่าวต่อว่า ภายหลังการรวมตัวกัน สิ่งจำเป็นที่เกิดตามมาก็คือภาคธุรกิจ ภาคประชาชนจะต้องเดินตาม การเปิดเสรีก็มีผลต่อภาคเกษตรโดยตรง ประเทศไทยสินค้าเกษตรเปิดหมดทุกตัวยกเว้นที่เหลืออยู่แค่ 13 ตัวที่ยังไม่เปิด เพราะมีข้อผูกพันกับองค์การการค้าโลกว่าจะไม่เปิดเสรี เช่น กาแฟ ชา ส่วนสินค้าเกษตรที่ทะลักตามแนวชายแดนก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก การเปิดเสรีทางการค้า เหมือนเป็นการกลับไปสู่ธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของผู้คนตามแนวชาย ที่ปกติก็มีการค้าขายแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันอยู่แล้วเส้นทางการค้าลักษณะแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดห้าหรือสิบปีแต่มันเกิดขึ้นมา 200-300 ปี
“การเติบโตทางเศรษฐกิจกรุงเทพฯโตแค่ 4 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่โตเกิน 4 เปอร์เซ็นต์อยู่ต่างหวัดหมด ตรงนี้กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย จังหวัดชายแดนต่างๆมีอัตราการโตทางเศรษฐกิจสูงมาก ภาคเอกชนและภาคเกษตรต้องเป็นหัวหอกในอนาคต วิกฤติหรือโอกาสขึ้นอยู่กับภาคเกษตรซึ่งตอนนี้เข้มแข็งมากที่สุดต้องเพิ่มศักยภาพ อย่าฝากอนาคตไว้กับรัฐบาล”
เกษตรกรกรคือทุนมนุษย์ก้าวสู่โอกาสAEC
ดร.กนก คติการ ที่ปรึกษารมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าที่ผ่านมามีคนบอกว่าประเทศไทยเสียโอกาส ในความเป็นจริงอย่ามองด้านเดียว โอกาสสามารถมองได้หลายด้าน ไม่ใช่เศรษฐกิจอย่างเดียว หลายๆเรื่องที่ควรมองแล้วหาองค์รวมในการขับเคลื่อน อันที่หนึ่งก็อย่าสิ้นหวัง ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถกู้เรื่องเศรษฐกิจได้ โอกาสสามารถมองได้จากระบบโลก ความเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องปรับตัว เพื่อหาโอกาส คนไทยอย่าท้อ เพราะจากสิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับAEC คือโลกาภิวัฒน์ ทั้งการเปลี่ยนแปลงเรื่องทุนเรื่องแรงงานและด้านอื่นๆ เรามีทุนมนุษย์คือเกษตรกรที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปได้
“ทุนทางสังคมเรามีเยอะที่สามารถสู้กับโลกได้ เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ต้องมีการเรียนรู้ในเรื่ององค์ความรู้เพื่อนำไปสู่กระบวนการพัฒนา กระบวนการเข้าใจ เข้าถึงพัฒนาจะเดินหน้าอย่างไร ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ สินค้าของไทยจะสู่กับตลาดโลก เราไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเราก้าวหน้าไปไกลในภูมิภาคนี้ ต้นทุนเราก็สูงขึ้นตาม เมื่อถึงปี 2558 ปัญหานี้จะแก้อย่างไรคือโจทย์ที่เกษตรกรและคนไทยทั้งประเทศต้องช่วยกันตอบ”
ภาคธุรกิจจี้รัฐเพิ่มราคาสินค้าเกษตรสู้เวทีโลก
มนตรี คงตะกูลเทียน บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การเกิดAECเป็นเรื่องบวก อีก 20 ปีข้างหน้าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคน สินค้าเกษตรจะมีความต้องการสูง โดยเฉพาะเรื่องอาหาร พื้นที่ที่ทำการเกษตรจะถูกจำกัดลง พืชอาหารกับพืชพลังงานจะจัดสัดส่วนอย่างไร ภาพตรงนี้เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในภาคเกษตร โอกาสมีอย่างมาก แต่สิ่งที่ต้องมาขบคิดคืออะไรเป็นข้อจำกัด อะไรคือจุดอ่อนจุดแข็ง
“ตราบใดที่ราคาน้ำมันในตลาดโลก ยังขึ้นราคาต่อเนื่อง รัฐบาลไทยต้องขึ้นราคาสินค้าเกษตรให้ทันราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น มิฉะนั้นคนไทยจะจน เพราะซื้อของแพงแต่ขายสินค้าออกไปขายถูก รัฐต้องดูแลสินค้าเกษตร ถ้าเราเตรียมตัวในเรื่องนี้พร้อม เรื่องอาเซียนจะดูแค่ในเมืองไทยไม่ได้ แต่ต้องคิดเผื่อเพื่อนบ้านว่าเขาต้องรวยกับเราไปด้วย ต้องช่วยกัน ทั้งเกษตรไทย เกษตรอาเซียน ต้องปรับประสิทธิภาพสู้กับเวทีมหาอำนาจไปได้”
โอกาสสายพันธุ์เมล็ดพืชไทยในเวทีอาเซียน
ดร.เกรียงศักดิ์ สุวรรณธราดล ที่ปรึกษาสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าในฐานะนักพัฒนาสายพันธุ์มองว่าการเกิดขึ้นของAEC เป็นเรื่องดีที่ไทยจะมีโอกาสเข้าไปแข่งขันกับเวทีการค้าที่มีความได้เปรียบโดยเฉพาะพันธุ์พืชของไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกการเปิดเสรีด้านการลงทุนจะเต็มรูปแบบในปี 2558 เป็นโอกาสของไทยในการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะผู้ประกอบการในสาขาการเกษตรและเกษตรแปรรูปรวมทั้งเหมืองแร่และด้านอื่นๆ ซึ่งปี2552ไทยมีมูลค่าเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในประเทศประมาณ 30,000 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ควบคุมประมาณ 2,931 ล้านบาท ส่วนมูลค้าการนำเข้า 959ล้านบาท สร้างอาชีพแก่เกษตรกรอย่างน้อย 33,000 ครัวเรือน
“สำหรับการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่AECภาคเอกชนต้องศึกษาข้อมูลสำหรับประกอบธุรกิจ ศึกษากฎหมายและระเบียบของประเทศอาเซียนแต่ละประเทศเตรียมบุคลากร เรียนรู้ด้านภาษาสำหรับสื่อสารและขนบธรรมเนียมท้องถิ่น ขณะที่ส่วนราชการก็ต้องศึกษากฎหมายแต่ละประเทศรวบรวมเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลให้ผู้ประกอบการ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบปฏิบัติขิงไทยให้เป็นสากล รวมทั้งให้ข้อมูลแก่สาธารณชนด้วยว่าข้อตกลงต่างๆมีประโยชน์และผลกระทบด้านในบ้าง”
เกษตรกรสวนปาล์มพร้อมสู้เวทีAEC
สมชาย ประชาบุตร รองผู้จัดการชุมนุสหกรณ์ชาวสวนปาล์ม จ.กระบี่ กล่าวว่า การลงทุนของคนไทยในประเทศเพื่อนบ้านต้องจดทะเบียนในนามคนในประเทศนั้นเพราะมีการกีดกันทางการค้าการลงทุน เมื่อเกิดการค้าเสรีอย่างนี้ ไม่น่ากลัวเพราะเรามีศักยภาพไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะเรื่องปาล์มน้ำมันที่ถือเป็นพืชมหัศจรรย์ เมืองไทยก้าวหน้ากว่ามาเลเซีย
“การแข่งขันไม่กลัว เพราะคุณค่าทางอาหารน้ำมันปาล์มที่เราส่งออกสูงกว่าประเทศมาเลเซีย มันอยู่ที่ว่าเราประชาสัมพันธ์ โฆษณาออกไปสู่วงกว้างได้ดีหรือเปล่า ในยุคการแข่งขันในยุคโลกไร้พรมแดนไม่มีอะไรยากไปกว่าสิ่งที่เราจะต้องทำ ถ้าเราต้องทำเราต้องทำได้ ที่ผ่านมาเกษตรกรขาดโอกาส แต่ถ้ามีโอกาส ผมคิดว่าด้วยมันสมอง ด้วยฝีมือ เรามีศักยภาพที่จะสู้กับเวทีอาเซียนหรือเวทีโลกได้”
..........................................
ล้อมกรอบ
AECกับอีกบางแง่มุมที่รัฐบาลยังไม่พูดถึง
ต่อประเด็นการเกิดขึ้นของกลุ่มAECยังมีบางแง่มุมที่ยังไม่มีการพูดถึงผลกระทบด้านลบต่อภาคการเกษตรของไทย รวมถึงการเข้าไปลงทุนของบริษัทไทยในประเทศเพื่อบ้าน
อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ในฐานะผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของการเกิดขึ้นประเทศกลุ่มอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า ประเทศกลุ่มอาเซียนถูกขับเคลื่อนโดยทุน โดยผู้ค้าที่เป็นผู้มีอิทธิพลที่ต้องการให้เป็นไปตามความประสงค์ของกลุ่มทุนต่างๆ การเปิดเสรีทางการค้า นายทุนและธุรกิจขนาดใหญ่เป็นผู้ได้ประโยชน์ คือจะเลือกซื้อสินค้าเลือกซื้อผลผลิตจากประเทศไหนตรงไหนก็ได้ ประเทศไทยอยู่ในฐานะเป็นประเทศที่ส่งออกการลงทุน ไทยเข้าไปเปิดป่าประเทศเพื่อบ้านเพื่อปลูกข้าวโพด ไปสัมปทานปลูกอ้อยในลาว ในกัมพูชา ไปสัมปทานปลูกยูคาลิปตัสทำความเดือดร้อนให้คนท้องถิ่น ขณะที่ในประเทศไทย ผู้ที่จะแบกรับและเผชิญกับการแข่งขันกันเองคือชาวบ้าน ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่ได้เข้ามาแนะนำอะไรให้มีความชัดเจน หรือให้คำแนะนำว่าเขาควรจะปรับตัวอย่างไร สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องให้ข้อมูลกับเกษตรกรไทยตรงไปตรงมาว่าจะต้องเผชิญอะไรกับการเปิดเสรีแบบนี้
“ผลกระทบกับการเปิดเสรีการค้า ผลกระทบกับเพื่อนบ้านไม่ต้องพูดถึงเพราะมันเยอะอยู่แล้ว ยกตัวอย่างที่ประเทศกัมพูชาในบางบริษัทของไทยมีการร่วมทุนกับรัฐบาลกัมพูชา มีการใช้อาวุธขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินของตัวเอง เป็นความรุนแรงที่ใช้ปืนชัดเจน ส่วนในประเทศลาวก็มีการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน รัฐเข้าไปยึดเอาที่ดินเพื่อให้สัมปทานบริษัทของไทย การทำมันสำปะหลังเป็นของบริษัทในประทศจีน ยางพาราเป็นของบริษัทเวียดนาม อ้อยเป็นของบริษัทไทย การผลิตอุตสาหกรรมในลาวไม่มีชาวนารายย่อยมาเกี่ยวข้องแม้แต่รายเดียว ส่วนประเทศไทยรัฐต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร”
.................................................