วช.นำนักวิจัยลุยพื้นที่ช่วยเกษตรกรหลังน้ำลด
เลขา วช.เผยปี 54 ทุ่มงบ 7 พันล้านหนุนงานวิจัยที่ใช้ได้จริง ระดมสมองลงพื้นที่ช่วยฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำลด นักวิจัยแนะบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการปลูกพืชระยะสั้นที่ราคาสูง หนุนปลูกผักสวนครัวประหยัดรายจ่าย
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) จัดงาน “ฟื้นฟูเยียวยา ผู้ประสบอุทกภัยด้วยงานวิจัย วช.”ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัด เปิดเผยถึงสถานการณ์ในพื้นที่ อ.นครหลวง และ อ.บางปะหัน ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม แต่หลังน้ำลด พบตะกอนดิน โคลน และขยะต่างๆมากมาย ส่งผลให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้
ด้าน ศ.นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช. กล่าวว่า วช.ได้คัดเลือกผลงานวิจัยที่สามารถนำไปช่วยเหลือชาวบ้านได้ทันที โดยในปีงบประมาณ 2554 จะจัดสรรงบให้แก่งานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริง 70% คิดเป็นเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท และอีก 30% จะนำไปใช้ในงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาด้านการวิจัยต่อไป
ในงานยังมีการเสวนา “ความสำคัญของงานวิจัยกับการฟื้นฟูหลังน้ำลด” โดย นายสุรพล เช้าฉ้อง นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่านำผลการวิจัยการปลูกข้าวโพดมาถ่ายทอดให้ชาวบ้านเพราะเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวได้เร็ว การศึกษาพบว่าสามารถให้ผลผลิตที่ดีด้วยวิธีง่ายๆคือใช้ปุ๋ยคอกรองพื้นก่อนทำการเพาะปลูกในอัตรา 3-4 คิวบิกเมตร/ไร่ สำหรับข้าวโพดหวานเมื่อมีอายุครบ 21 วัน และ 35-40 วัน นับจากวันที่ให้น้ำครั้งแรก และควรเว้นความห่างให้มีอัตราที่เหมาะสมด้วย
“ข้าวโพดผักอ่อนควรเว้นระยะระหว่างต้น 75 x 20 ซม. 1 หลุมใส่ 2 ต้น จะได้ 20,000 ต้นต่อไร่ แต่ข้าวโพดหวานให้เว้น 30 x 75 ซม. และยกร่องให้สูงและห่าง 75 ซม. จะทำให้ได้ฝักใหญ่ 13 ซม. ซึ่งขายได้ฝักละ 8 บาท สูงกว่าข้าวโพดขนาดเล็กถึงเท่าตัว” นายสุรพล กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มะละกอฮอลแลนด์เป็นพืชที่น่าสนใจเนื่องจากมีอายุเก็บเกี่ยวเพียง 8 เดือน เนื้อสีส้มแดงและเมื่อสุกไม่เละ เนื้อหนา และราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 20-30 บาท ซึ่ง 1 ต้นจะให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึงต้นละ 100 กิโลกรัม ที่สำคัญสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ยกเว้นบริเวณที่มีน้ำขัง
“ควรเลือกกล้าพันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์ที่มาจากมะละกอดอกสมบูรณ์หรือเรียกว่าดอกกระเทย เพราะพันธุ์นี้หากติดมาจากดอกเพศเมียจะมีลักษณะลูกสั้นเนื้อน้อย ราคาสู้ผลผลิตที่มาจากดอกกระเทยไม่ได้ วิธีการคือหลังการเพาะเมล็ดให้ปลูกหลุมเดียวกัน 3 ต้น และสังเกตุดอกที่ออก หากไม่มีเกษรเพศเมียและผู้อยู่ในดอกเดียวกันให้ดึงต้นนั้นทิ้ง วิธีการขยายเมล็ดทำได้ง่ายๆโดยเก็บเมล็ดจากลูกที่มาจากดอกกระเทย ล้างน้ำและผึ่งให้แห้ง ไม่ต้องไปซื้อราคาแพงถึงเมล็ดละ 1 บาท” ดร.พีระศักดิ์ กล่าว
ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่าสนับสนุนให้ชาวบ้านใช้พื้นที่รอบบ้านปลูกผักสวนครัวไว้กินเพื่อประหยัดรายจ่าย โดยให้ปลูกผักที่มีอายุสั้น เช่น ผักคะน้า ผักบุ้งจีน ถั่วผักยาว ส่วน นางจำรัส ศรีฤกษ์ เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยเล่าให้โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนฟังว่า ผลไม้และมะม่วงได้รับความเสียหาย ส่วนข้าวในนากว่า 40 ไร่ ลงทุนไปกว่า 100,000 บาท ก็ตายทั้งหมด ดังนั้นเพื่อประหยัดรายจ่าย ชาวบ้านทุกคนจึงเริ่มเห็นความสำคัญของการปลูกผักสวนครัว ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก
“ตอนนี้ชาวบ้านให้ความสำคัญกับการปลูกผักสวนครัวมาก บางทีไม่พอกินไปขอแบ่งปันข้างบ้านก็ให้กัน ตอนนี้ทำกันทุกครัวเรือนแล้ว”
ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำเรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์หลักสูตรเร่งรัดภายใน 1 เดือนมาถ่ายทอดให้ชาวบ้าน เพราะนาข้าวที่เสียหายจะมีฟางเป็นจำนวนมากที่จมน้ำอยู่ ซึ่งถ้านำขึ้นมาทำปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยให้ชาวบ้านประหยัดลงได้มาก
ทั้งนี้หลังจากนี้ วช.จะนำนักวิจัยลงพื้นที่ใน จ.นครสวรรค์ และ จ.นครราชสีมา เพื่อฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยต่อไป สำหรับชาวบ้านที่สนใจงานวิจัยด้านต่างๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โทร 02-579-2284 .