กฤษฎีกาชี้ชัด! พ.ศ.ยกเลิกยุบวัดร้างกลับมาเป็นวัดอีกไม่ได้-ต้องตั้งขึ้นใหม่
กฤษฎีกาชี้ชัด! สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ขอยกเลิกการยุบวัดร้างให้กลับมาเป็นวัดใหม่อีกครั้งไม่ได้ เหตุอำนาจตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ไม่ได้บัญญัติไว้ ต้องตั้งขึ้นใหม่เท่านั้น หากต้องการปรับปรุงกฎกระทรวงฯ ต้องแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯก่อน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พ.ศ.) กรณีวัดร้างที่ได้มีประกาศ พ.ศ. ยุบเลิกความเป็นวัดแล้ว จะสามารถดำเนินการยกเลิกหรือเพิกถอนประกาศยุบเลิกวัดดังกล่าวเพื่อให้กลับมาเป็นวัดอีกได้หรือไม่ และกรณีไม่สามารถยกเลิกหรือเพิกถอนประกาศยุบเลิกวัดได้ จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหรือไม่ และหากต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายจะสามารถแก้ไขเพิ่มเติมในร่างกฏกระทรวงกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2507) ออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ได้หรือไม่ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าวที่ใช้บังคับนั้น ให้ครอบคลุมกับสภาพข้อเท็จจริงของการปฏิบัติงานและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขร่างกฏกระทรวงดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาตรวจร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้พิจารณาประเด็นข้อหารือดังกล่าวประกอบกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก บทบัญญัติมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แหง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 บัญญัติให้การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย การยุบเลิกวัด และการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นไปตามกำหนดในกฏกระทรวง ซึ่งมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2507) ออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเรื่องดังกล่าว โดยกำหนดวิธีการยุบเลิกไว้ 2 กรณี กรณีแรกคือวัดมีสภาพเสื่อมโทรมหรือมีเหตุอื่นอันไม่ควรเป็นวัดต่อไป กรณีที่สองวัดร้างพระภิกษุไม่อาศัย และเมื่อได้มีการประกาศยุบเลิกวัดแล้ว ทรัพย์สินของวัดที่ถูกยุบเลิกจะตกป็นศาสนสมบัติกลาง ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ที่ศาสนสมบัติกลางนั้น จะกระทำได้แต่โดยการตราเป็น พ.ร.บ. นอกจากนั้นไม่มีบทบัญญัติมาตราใดบัญญัติให้อำนาจในการยกเลิกหรือเพิกถอนการยุบเลิกวัดเอาไว้
สำนักงาน พ.ศ. จึงไม่อาจอาศัย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ เป็นฐานในการยกเลิกหรือเพิกถอนประกาศยุบเลิกวัดร้างได้ และเมื่อได้มีการประกาศยุบเลิกวัดร้างแล้ว ก็ส่งผลให้สภาพความเป็นวัดและความเป็นนิติบุคคลของวัดร้างนั้นสิ้นสุดลง ดังนั้น กรณีตามข้อหารือนี้ หากประสงค์จะยกวัดที่ได้มีการประกาศยุบเลิกวัดแล้วให้กลับมาเป็นวัดอีกครั้ง ต้องดำเนินการตั้งวัดใหม่ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2507) ออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ต่อไป
ประเด็นที่สอง เมื่อได้ความเห็นในประเด็นแรกแล้ว สำนักงาน พ.ศ. ไม่อาจยกเลิกหรือเพิกถอนประกาศยุบเลิกวัดร้างได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติมาตราใดใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ให้อำนาจ กรณีจึงไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯได้ หากประสงค์จะให้สามารถยกเลิกหรือเพิกถอนประกาศยุบเลิกวัดเพื่อให้กลับมาเป็นวัดอีกครั้ง จะต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ บัญญัติให้อำนาจเกี่ยวกับการยกเลิกหรือเพิกถอนประกาศยุบเลิกวัดไว้ในกฏหมายชัดเจน
(ดูข้อหารือฉบับเต็ม : http://web.krisdika.go.th/data/comment/comment2/2559/c2_1100_2559.pdf)
หมายเหตุ : ภาพประกอบวัดร้างจาก tat.2fellows.com/